รัฐบาลกินข้าวชื่นมื่นกันไปแล้วที่พิพิธภัณฑ์บ้านปาร์คนายเลิศ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยพรรคพลังประชารัฐเป็นเจ้าภาพ ซึ่งมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค เป็นหัวเรือใหญ่ ไร้เงา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
ภายหลังงานเลี้ยงเสร็จสิ้นภายใต้บรรยากาศที่“อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร”หัวหน้าพรรคเพื่อไทยให้สัมภาษณ์ว่า “วันนี้บรรยากาศดีมาก สนุกมาก อาหารอร่อยมาก และมีการร้องเพลงร่วมกัน”นั้น ผู้สื่อข่าวได้ถามนายอนุทิน ชาญวีรกูร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับเรื่องกัญชา ว่าจะเกิดความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทยหรือไม่และจะมีทางออกอย่างไร
นายอนุทิน ชาญวีรกูร หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้กัญชาหลุดพ้นจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 ตามนโยบายของพรรคภูมิใจไทยที่หาเสียงไว้ โดยทำสำเร็จในปี 2565 สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตอบคำถามดังกล่าวของผู้สื่อข่าวว่า
“เรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก สามารถพูดคุยในระดับกระทรวง ไม่จำเป็นจะต้องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้เราไม่คุยเรื่องนี้ คุยแต่เรื่องความมั่นคงของรัฐบาล และสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน”
ฟังหัวหน้าพรรคภูมิใจพูดแล้ว นักการเมืองก็คือนักการเมือง ไม่ว่าจะพรรคไหน กะล่อนไหลลื่นไปได้เรื่อย เพราะกัญชาถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องเล็กอย่างที่นายอนุทิน ชาญวีรกูร ตอบเฉไฉกับนักข่าว
และอันที่จริงพรรคภูมิใจจะต้องถือว่า“กัญชา”เป็นเรื่องใหญ่ เพราะพรรคภูมิใจเขียนเรื่องนี้ด้วยมือเป็นนโยบายและทำได้สำเร็จ แต่เวลานี้กำลังจะถูกพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่พรรคภูมิใจร่วมผสมอยู่ด้วยใช้เท้าลบ จากการที่จะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดประเภท 5 ตามเดิม
นอกจากปัญหาเรื่องกัญชาไม่ใช่เรื่องเล็กแล้ว กัญชาก็ยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐบาลผสมชุดนี้ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นปัญหาที่จะส่งผลกระทบกับประชาชน หากรัฐบาลดึงดังที่จะนำกัญชากลับไปขึ้นบัญชีเป็นยาเสพติด
พรรคภูมิใจไทยโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูร กำลังตีบทสองหน้า ปากบอกว่าเรื่องเล็ก แต่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมสัปดาห์ที่ผ่านมา สส.ของพรรคภูมิใจไทย นำโดยนางสาวแนน-บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี ซึ่งมีตำแหน่งเป็นโฆษกพรรคภูมิใจไทย ได้ร่วมกันแถลงที่รัฐสภา คัดค้านกรณีที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การกำกับของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีมติให้นำ“กัญชา-กัญช”กลับไปเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5
โดยโฆษกของพรรคภูมิใจไทยได้แถลงชัดเจนว่า พรรคภูมิใจไทยยังยืนยันจุดยืนเรื่องกัญชา ในฐานะเป็นผู้ริเริ่มและบุกเบิกจนทำให้กัญชาหลุดพ้นจากบัญชียาเสพติด และสามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ ตลอดจนขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม
นางสาวแนน-บุณย์ธิดา สมชัย กล่าวว่า“พรรคภูมิใจไทยเข้าใจดีถึงความห่วงใยและความกังวล ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้เสนอร่างพ.ร.บ.กัญชา ตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว แต่ด้วยเหตุผลกลไก ด้วยเกมการเมืองใดที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยที่แล้วทำให้ร่าง พ.ร.บ.ไม่ผ่าน และสมัยรัฐบาลชุดนี้เราก็ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ควบคุมกัญชาตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 ขณะนี้รอเข้าสู่ระเบียบวาระของสภาฯ เราเข้าใจดีว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะไม่มีกฎหมายมาควบคุม จึงได้เสนอกฎหมายมาควบคุมและใช้อย่างมีขอบเขต เพื่อใช้ทางการแพทย์, สุขภาพ และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”
นอกจากนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูร ต้องไม่ลืมด้วยว่า เรื่องกัญชาคือ“ความมั่นคงของรัฐบาล” เพราะเป็นหนึ่งในนโยบายที่เป็นข้อตกลงร่วมกันของรัฐบาลผสมที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ การแก้ปัญหาที่ทุกฝ่ายต่างก็เห็นต้องตรงกัน ยกเว้นพรรคเพื่อไทยที่ประกาศมาตั้งแต่ช่วงหาเสียง ว่าจะนำกัญชากลับไปขึ้นบัญชีเป็นยาเสพติด นั่นก็คือ การออกกฎหมายควบคุมกัญชา ดีกว่าที่จะนำกลับไปเป็นยาเสพติด เพราะจะกระทบต่อความเชื่อมั่นในการบริหารประเทศ เสมือนกับเป็นการบริหารประเทศแบบ“ชักเข้าชักออก”
สำคัญที่สุดก็คือ นับตั้งแต่กัญชาถูกถอดออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 โดยไม่มีกฎหมายใดมารองรับเรื่องการควบคุม อันเนื่องมาจากเกมการเมืองและผลประโยชน์ได้เสียในทางธุรกิจของพรรคการเมือง จึงทำให้ร่าง“พ.ร.บ.กัญชา-กัญชง”ต้องแท้งคาสภาฯในสมัยที่แล้ว ณ วันนี้มีร้านจำหน่ายกัญชาเกือบ 6 พันแห่งทั่วประเทศ
ขณะเดียวกันกับที่ วิสาหกิจชุมชน, มหาวิทยาลัย, สถาบันวิจัย, องค์กรธุรกิจ และประชาชนทั่วไปยังได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชาได้อีกด้วย โดยต้องขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.)
ดังกล่าวนั้น ก็คือปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนโดยตรง หากนำกัญชากลับไปขึ้นบัญชีเป็นยาเสพติด และเวลานี้ก็เห็นอยู่แล้วว่ามีการชุมนุมของ“เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย” ที่บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเริ่มชุมนุมมาตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม กระทั่งถึงวันนี้ได้มีการยกระดับการชุมนุมด้วยการอดอาหารประท้วง
เสียงร้องและการลุกขึ้นมาประท้วงของประชาชน ถือว่าเป็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับประชาชน และเป็นการส่งเสียงให้รัฐบาลที่ชอบอ้างว่ามาจากประชาชนได้รับรู้ อีกทั้งยังเป็นวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วม อันเป็นสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ที่สามารถตรวจสอบและเรียกร้องให้รัฐบาลคํานึงถึงความต้องการของประชาชนได้
เส้นแบ่งระหว่างความเป็นเผด็จการกับประชาธิปไตยนั้นอยู่ตรงจุดนี้ ถ้ารัฐบาลไม่ฟังเสียงประชาชน ก็ป่วยการที่พยายามออกตัวว่าเป็นพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย !
รุ่งเรือง ปรีชากุล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี