การยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางฉบับ เป็นสิ่งที่อาจกระทำได้ แต่จะต้องแยกแยะให้ออก
แต่อย่าเอาไปปนกับวาทกรรมเรื่อง “ผลพวงรัฐประหาร”
มิใช่พาลจะไปยกเลิกผลพวงหรือผลสืบเนื่องหลังการรัฐประหาร ที่มีนักการเมืองโกงเสียประโยชน์ แล้วต้องการจะอาศัยการข้ออ้างยกเลิกผลพวงของรัฐประหาร เจตนาเพื่อ “ฟอกผิด” ให้นักการเมืองและพวกพ้อง
1. ในยุครัฐบาล คสช. เคยออกประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ยกเลิกประกาศและคำสั่งหัวหน้า คสช.หลายสิบฉบับมาแล้ว
สะท้อนว่า การยกเลิกประกาศหรือคำสั่งหัวหน้า คสช.สามารถกระทำได้
อันไหนไม่สอดคล้องกับสภาพการทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ตลอดจนเป็นภาระงบประมาณของรัฐโดยไม่จำเป็น ไม่คุ้มค่า ไม่เกิดประโยชน์
2. การประชุม ครม.สัปดาห์ที่แล้ว คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางฉบับที่หมดความจำเป็นและไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน พ.ศ. ..... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว
มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางฉบับที่หมดความจำเป็นและไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน จำนวน 23 ฉบับ
3. ก่อนหน้านี้ เคยมีมติ ครม.และมีการดำเนินการ อะไรบ้าง?
คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (13 กันยายน 2566) มอบหมายให้ สคก. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนความจำเป็น เหมาะสมของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับต่างๆ ที่ยังคงมีผลใช้บังคับในปัจจุบัน โดยหากประกาศหรือคำสั่งใดสมควรให้คงมีผลใช้บังคับอยู่ต่อไป หรือสมควรยกเลิก ให้ สคก. นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยด่วนภายในวันที่ 9 ตุลาคม 2566
คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (27 กุมภาพันธ์ 2567) รับทราบรายงานแนวทางการยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือของคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่สามารถยกเลิกได้โดยการตราพระราชบัญญัติกลางยกเลิก จำนวน 71 ฉบับ ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ในฐานะประธานกรรมการเร่งรัดการเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลเสนอ โดยมีมติให้ส่วนราชการพิจารณาทบทวนความจำเป็น เหมาะสมของประกาศและคำสั่งดังกล่าวไปยัง สคก. ภายใน 14 วัน และให้สำนักงานฯ แจ้งผลการพิจารณาดังกล่าวไปยังคณะกรรมการเร่งรัดการเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (26 มีนาคม 2567) รับทราบรายงานผลการพิจารณาทบทวนความจำเป็น เหมาะสมของประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามที่ รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน)ในฐานะประธานกรรมการเร่งรัดการเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลรายงาน และให้ สคก. ยกร่างกฎหมายกลางเพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมายตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 โดยให้เร่งเสนอคณะรัฐมนตรีภายในเดือนเมษายน
4. สคก. ได้รวบรวมผลการพิจารณาทบทวน ความจำเป็น เหมาะสม ของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่หน่วยงานที่รับผิดชอบหรือที่เกี่ยวข้องแจ้งมายัง สคก.
สรุปได้ว่า สามารถยกเลิกได้ทันที จำนวน 23 ฉบับ (ข้อมูล ณ วันที่ 29 มีนาคม 2567)
ร่างพระราชบัญญัติที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และ ครม.เห็นชอบล่าสุด เป็นการยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางฉบับที่หน่วยงานที่รับผิดชอบหรือที่เกี่ยวข้องเห็นว่า หมดความจำเป็นและไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน จำนวน 23 ฉบับ
ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (13 กันยายน 2566)เพื่อเป็นการลดภาระที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่จำเป็น อันจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายในภาพรวมของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสภาพการทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ตลอดจนเป็นการลดอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพของประชาชน
ประกาศ/คำสั่ง 23 ฉบับที่ว่า มีดังต่อไปนี้
1. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 10/2557 เรื่อง ให้อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี เป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557
2. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 เรื่อง การสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ลงวันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557
3. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (เฉพาะ) ที่ 25/2557 เรื่อง ให้มารายงานตัว หรือแจ้งเหตุขัดข้อง ลงวันที่ 23 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557
4. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 26/2557 เรื่อง การดูแล และสอดส่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557
5. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557
6. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 35/2557 เรื่อง อำนาจในการอนุมัติงบประมาณของปลัดกระทรวง ลงวันที่ 24 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557
7. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557
8. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 49/2557 เรื่อง ความผิดสำหรับการสนับสนุนการชุมนุมทางการเมือง ลงวันที่ 30 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557
9. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 86/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและสมาชิกสภาเขตเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 10 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557
10. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2561 เรื่อง การกำหนดรายชื่อสถาบันอุดมศึกษาอื่น ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 39/2559เรื่อง การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พุทธศักราช 2559 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม พุทธศักราช 2561
11. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4 /2558 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองประโยชน์สาธารณะและประชาชนโดยส่วนรวม ลงวันที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2558
12. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 23/2558 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พุทธศักราช 2558
13. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 36/2558 เรื่อง แก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 29/2558 ลงวันที่ 6 ตุลาคม พุทธศักราช 2558
14. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 23/2559 เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ลงวันที่ 16 พฤษภาคม พุทธศักราช 2559
15. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 35/2559 เรื่อง มาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินป่าภูทับเบิก ในท้องที่ตำบลวังบาล และตำบลบ้านเนิน อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ลงวันที่ 5 กรกฎาคม พุทธศักราช 2559
16. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 51/2559 เรื่อง การดำเนินการกับของที่เก็บในเขตปลอดอากรและเขตประกอบการเสรี และของที่ใช้เป็นยุทธภัณฑ์เพื่อบรรเทาสาธารณภัย ลงวันที่ 25 สิงหาคม พุทธศักราช 2559
17. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 54/2559 เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสภาการศึกษา โรงเรียนนายร้อยตำรวจ และการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ ลงวันที่ 9 กันยายน พุทธศักราช 2559
18. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 57/2559 เรื่อง การปรับปรุงการบริหาร เพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงวันที่ 14 กันยายน พุทธศักราช 2559
19. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 61/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาบุคลากรด้านการบิน ลงวันที่ 6 ตุลาคม พุทธศักราช 2559
20. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 78/2559 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) ช่วงหัวลำโพง - บางซื่อ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ - บางซื่อ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พุทธศักราช 2559
21. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง ลงวันที่ 17 มกราคม พุทธศักราช 2560
22. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 40/2560 เรื่อง มาตรการรองรับเพื่อให้การดำเนินการเดินอากาศเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ลงวันที่ 13 กันยายน พุทธศักราช 2560
23. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 16/2561 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2561
สคก. ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้แล้ว
นอกจากนี้ ได้จัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายพร้อมทั้งเปิดเผยเอกสารดังกล่าว ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ผ่านทางเว็บไซต์ www.law.go.th และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วยแล้ว
5. จะเห็นว่า 23 ฉบับข้างต้นที่จะยกเลิกนั้น มีทั้งเรื่องแก้ปัญหาธงแดงการบินพลเรือน ปัญหาเชื่อมต่อรถไฟฟ้าที่บางซื่อ ปัญหาต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ปัญหาที่ดินภูทับเบิก ฯลฯ
ทั้งหมด ล้วนแต่เป็นการแก้ปัญหา ผ่าทางตัน
และเมื่อใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.แล้ว ก็เกิดการแก้ไขปัญหาสำเร็จลุล่วง มีผลเป็นรูปธรรมจับต้องได้ ในแบบที่หากมิใช่คำสั่งเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็ไม่มีทางจะแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น
นอกจากนี้ หากยกเลิกคำสั่งข้างต้น ก็ย่อมไม่ได้หมายความว่า การใดที่กระทำไปตามคำสั่งนั้นโดยชอบแล้ว จะต้องยกเลิกตามไปด้วย มิฉะนั้น สัญญารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินก็ดี การแก้ปัญหาการบินพลเรือนก็ดี ก็จะต้องเป็นโมฆะทั้งหมด ซึ่งไม่สามารถเป็นเช่นนั้นได้
อะไรที่จะเป็นโทษ ย่อมจะไปให้มีผลย้อนหลังไม่ได้
แต่ที่จะต้องดูให้ละเอียดในประกาศ/คำสั่งอื่นๆ อีกมากกว่า 100 ฉบับที่ต้องการจะยกเลิกกัน คือ บุคคลใดที่เคยเสียประโยชน์จากประกาศ/คำสั่งเหล่านั้น จะได้รับอานิสงส์อย่างไร ถูกต้องเหมาะสมแค่ไหน
บ้างจะยกเลิกโดยการตรา พ.ร.บ.กลาง 71 ฉบับ
บ้างจะยกเลิกโดยการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายปัจจุบัน 37 ฉบับ
บ้างจะยกเลิกโดยการตราพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ
บ้างจะยกเลิกโดยออกกฎกระทรวง 2 ฉบับ
และบ้างจะยกเลิกโดยมติ ครม. 55 ฉบับ
อย่าเตะหมูเข้าปากหมา ก็แล้วกัน!
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี