จากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุด ได้มีพิพากษาให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ร่วมกันชำระเงินแก่บีทีเอส ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท
ประกอบด้วย หนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (ส่วนต่อขยายสายสีสม สะพานตากสิน-บางหว้า และสายสุขุมวิท อ่อนนุช-แบริ่ง) จำนวน 2,348.65 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
และหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) จำนวน 9,406.41 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนั้น
1.ประเด็นสำคัญ นอกจากยอดหนี้ตามที่บีทีเอสฟ้องแล้ว คือ การที่ศาลปกครองสูงสุดชี้ว่า สัญญาระหว่างบีทีเอสกับทาง กทม.นั้น ชอบด้วยกฎหมาย มีผลผูกพันสมบูรณ์
นั่นหมายความว่า ถ้าบีทีเอสทำตามสัญญาเดินรถ กทม.ก็มีหน้าที่จะต้องจ่ายเงินตามสัญญาเช่นกัน
ก้อนที่บีทีเอสฟ้อง และศาลปกครองสูงสุดพิพากษาชี้ขาดไปแล้วนั้น เป็นเพียงก้อนแรกของการเดินรถช่วงเดือนพ.ค. 2562 – พ.ค. 2564 เท่านั้น
แต่การเดินรถในช่วงหลังจากนั้น จนถึงปัจจุบัน บีทีเอสก็ทำตามสัญญาเดียวกันนั่นเอง เพราะฉะนั้น กทม.ก็มีภาระจะต้องจ่ายตามสัญญาเช่นกัน
เรียกว่า อำนาจต่อรอง เทมาทางเอกชน คือ บีทีเอสเต็มประตู!
2.นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบีทีเอส แถลงน้อมรับคำตัดสินของศาล
ยืนยันว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง และเป็นวันที่รอคอยนานแสนนาน ด้วยความกดดันกับทุกสิ่งที่ลงทุนไป และการหาทุนเพื่อไม่ให้การเดินรถหยุดชะงัก
เพราะการหยุดเดินรถไม่ได้เป็นประโยชน์กับใคร ทั้งบริษัทก็เกิดความเสียหาย กทม. ก็เกิดความเสียหาย รวมไปถึงคนที่ใช้งานประจำก็เกิดความเสียหายที่จะต้องหาระบบอื่นรองรับการเดินทาง
ตั้งแต่ไม่ได้รับเงินค่าจ้างเดินรถ เราต้องควักเงินให้กับทุกอย่าง โดยเงินพวกนี้ถือว่าใหญ่มาก และตนก็มีนโยบายแน่นอนที่จะไม่ให้เดือดร้อนประชาชน และโชคดีที่บริษัทได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินธนาคาร ในการรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นและได้รับกำลังใจจากผู้ถือหุ้นในการต่อสู้
“บีทีเอสได้พิสูจน์ข้อเท็จจริง จนได้รับความเป็นธรรมจากศาลปกครองสูงสุด ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 3 ปี ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า เราทำงานอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง
โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้พยายามชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องเหล่านี้ ให้กับหน่วยงานภาครัฐ และประชาชน รับทราบมาโดยตลอด
และ ณ วันนี้ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ความพยายามที่บีทีเอสทำมาตลอดนั้นไม่สูญเปล่า และยังเป็นการยืนยันคำพูดของตนว่า “บีทีเอสทำงานบนพื้นฐานความถูกต้อง และได้ปรึกษาทีมกฎหมายอย่างครบถ้วน ถ้าสัญญาไม่พร้อมหรือไม่ถูกต้อง ตนย่อมไม่ลงนามอย่างแน่นอน..
...ที่สำคัญ คำพิพากษาเกี่ยวกับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ จะเป็นแนวทางในการพิจารณาคดีในหนี้ส่วนที่เหลือต่อไป
ยืนยัน ผมทำอะไรตรงไปตรงมาที่สุด และไม่ยอมรับในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง” – นายคีรีกล่าว
3.ระหว่างการแถลงข่าว บีทีเอสได้แจกแจงยอดหนี้ทั้งหมด
ระบุว่า อยากให้กทม. และ KT คำนึงถึงยอดหนี้ในส่วนที่เหลือด้วย เนื่องจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน
สำหรับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงสิ้นสุด ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 มีจำนวนกว่า 39,402 ล้านบาท แบ่งเป็น
• ยอดหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ที่ให้กทม. และ KT ร่วมกันชำระให้กับบีทีเอสเป็นเงินจำนวนกว่า 11,755 ล้านบาท
• ยอดหนี้ที่บีทีเอสได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ให้กทม. และ KT ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงให้กับบีทีเอสของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 (หนี้ค่าจ้างตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ถึง ตุลาคม 2565) เป็นเงินจำนวนกว่า 11,811 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง
• ยอดหนี้ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ถึง มิถุนายน 2567 ที่ยังค้างชำระ เป็นเงินจำนวนกว่า 13,513 ล้านบาท
• ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ในอนาคต ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงสิ้นสุดสัมปทาน ปี พ.ศ. 2585
เท่ากับว่า ยอดรวมเป็นจำนวนเงินเกือบ 4 หมื่นล้านบาท
หากล่าช้า ก็จะมีดอกเบี้ยอีกต่างหาก เพิ่มทุกวัน
4.ประธานบีทีเอส นายคีรี เปิดเผยในการแถลงข่าวว่า บีทีเอส ยินดีและพร้อมที่จะเจรจากับกทม. และ KT ในการหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้บริการสาธารณะเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป
ทั้งนี้ หากทั้งสองหน่วยงานมีแนวทางอื่นๆ ที่อยากให้พิจารณา บีทีเอสก็ยินดี และพร้อมที่จะเจรจา หากข้อเสนอเหล่านั้นมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
พร้อมขอให้ กทม. เห็นใจเอกชน
โดยคำสั่งศาลได้ให้กทม.และเคทีชำระเงินเอกชนภายใน 180 วัน
“ตนรู้สึกดีใจ และเป็นชัยชนะให้กับตัวเองที่ต่อสู้อย่างบริสุทธิ์มาโดยไม่ยอมแพ้ เชื่อว่าลูกหนี้เข้าใจ เพราะสัญญาและการจัดซื้อจัดจ้างไม่มีอะไรผิด
ฉะนั้น สิ่งที่เราทำมา หรือสิ่งที่ตนเคยพูด พวกเราทำอะไรตรงไปตรงมา และทำในสิ่งที่ถูกต้องตลอดเวลา หวังว่ากทม. และ KT จะเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของเอกชนอย่างเรา ที่ไม่เคยหยุดให้บริการเดินรถ และควรให้ฝ่ายกฎหมายเร่งพิจารณาแนวทางการชำระหนี้แก่บีทีเอสโดยเร็ว” นายคีรีกล่าว
5.ล่าสุด นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ทางบีทีเอส พร้อมเจรจาเรื่องมูลหนี้ที่เกิดขึ้น
ยืนยันว่า กทม. พร้อมทำตามคำสั่งศาล แต่ขอให้การประชุมสภากทม.จบสิ้นเสียก่อน ซึ่ง ขณะนี้ ได้ให้เจ้าหน้าที่ย่อยข้อมูลคำพิพากษากว่า 100 หน้าอยู่ และยินดีทำตามคำสั่งศาลปกครองทุกอย่าง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีที่มีความชัดเจนในเรื่องนี้มากขึ้น ทำให้ กทม. สามารถเดินไปอย่างมั่นใจมากขึ้น
ทางกทม. จะต้องดำเนินการตั้งเรื่องเพื่อส่งเข้าสู่การพิจารณาของสภากทม. โดยจะต้องมีรายงานสภากทม.ให้รับทราบ ซึ่งคาดว่าจะใช้ไทม์ไลน์ประมาณ140 วัน และจะพยายามให้การดำเนินการทั้งหมดเสร็จสิ้นก่อน 180 วันตามคำสั่งศาลฯ ยอมรับว่า นอกจากคำสั่งศาลฯ แล้วยังมีเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่กดดันให้ กทม.เร่งดำเนินการ เนื่องจากเงินที่นำมาใช้เป็นเงินของประชาชน กทม. จึงต้องพยายามใช้ให้มีประโยชน์มากที่สุด
นักข่าวถามว่า มูลหนี้ที่เกิดขึ้น ทางกทม. จะมีการจ่ายหนี้ทั้งก้อนที่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท หรือจำนวนเท่าใด?
นายชัชชาติ ระบุว่า ในการจ่ายหนี้ให้บีทีเอสนั้น ต้องว่าไปตามคำสั่งศาลคดีแรกก่อน ส่วนคดีที่ค้างอยู่ในศาลฯ จะต้องหารือกันอีกครั้งว่าจะจ่ายหนี้อย่างไร โดยจะต้องดำเนินทีละขั้นตอนและดูฐานะทางการเงินของกทม.ประกอบด้วย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า กทม. พยายามจะทำให้ดีที่สุด และที่ผ่านมา กทม. ก็ได้จ่ายหนี้ค่า E&M จำนวน 2.3 หมื่นล้านบาทดังนั้น เมื่อมีคำสั่งศาลฯมาต้องดำเนินการหนี้ก้อนแรกก่อน ส่วนหนี้ก่อนอื่นจะต้องพิจารณาจ่าย ส่วนมูลหนี้ทั้งหมดก็จะทยอยจ่ายให้เอกชน
6.สิ่งที่ กทม.ควรทำอย่างแรก คือ รีบเข้าไปเจรจากับทางบีทีเอส เพื่อขอหยุดอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อนได้หรือไม่
เพราะดอกเบี้ย น่าจะตกวันละกว่า 2 ล้านบาท
ทุกวันที่ผ่านไป คือ ความเสียหายที่ใครรับผิดชอบ?
ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือไม่?
หากผู้ว่าฯกทม.ดึงเช็ง ยังไม่ยอมจ่ายหนี้ ทั้งๆ ที่ ทราบว่า เอกชนคู่สัญญาได้เดินรถตามสัญญาถูกต้องแล้ว (ศาลปกครองสูงสุดชี้แล้ว) แต่กลับจะรอให้มีคดีขึ้นไปให้ศาลตัดสินเสียก่อน
ปกติ เมื่อ กทม.จ้างเอกชนทำงาน และเอกชนทำงานเสร็จ กทม.ก็ต้องจ่ายเงินตามสัญญา
ถ้าผู้ว่าฯ ชัชชาติ จะใช้วิธี รอให้เอกชนไปฟ้อง รอศาลตัดสินเสียก่อนทุกก้อน ทุกงวด แบบนี้จะเป็นธรรมกับเอกชนหรือไม่?
ถ้าทำแบบนี้ทุกสัญญา ใครมันจะทำงานกับ กทม. ?
ประการสำคัญ เวลาที่ผ่านไป ทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มไปเรื่อยๆ ใครจะรับผิดชอบ
จะถือว่าผู้ว่าฯกทม. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จนเกิดความเสียหายเพิ่มเติมอีกมหาศาล หรือไม่?
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี