เป็นธรรมดาที่ญาติสนิทมิตรสหาย หรือ เพื่อนร่วมอุดมการณ์ ต้องไปดูใจคนรักที่ใกล้สิ้นลมหายใจฉันใด ต่างชาติที่มีเป้าหมายทำลายความมั่นคงภายในประเทศไทย ก็ต้องมาดูใจพรรคก้าวไกลก่อนล้มหายตายจากไปจากสารบบการเมืองไทยฉันนั้น แต่การมาดูใจพรรคก้าวไกลเที่ยวนี้ฝรั่งหัวดำหัวแดง ที่มีพฤติกรรมแทรกแซงกิจการภายในของไทย น่าจะมาตอกฝาโลงพรรคก้าวไกลมากกว่ามาหยอดน้ำลงคอให้ก่อนลมหายใจเฮือกสุดท้าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 2 สิงหาคม เฟซบุ๊กของสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ได้เปิดเผยว่า เหล่าคณะทูตจากหลายชาติ ได้ร่วมหารือกับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และคณะจากพรรคก้าวไกลที่ทำเนียบ เอกอัครราชทูตเยอรมนี เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤตประชาธิปไตยในประเทศไทย นำโดย แอ็นสท์ ไรเชิล เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ทั้งนี้ ยังมีเหล่าคณะทูตจากหลายชาติ อาทิ สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, สหภาพยุโรป, ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น, เกาหลี, แคนาดา, เนเธอร์แลนด์ และสวีเดน ต่อมา พรรคก้าวไกลโพสต์บน X (ทวิตเตอร์) ว่า คณะทูตจาก 18 ประเทศแลกเปลี่ยนหารือกับนายพิธา เรื่อง วิกฤตประชาธิปไตยในประเทศไทย
คณะทูตต่างชาติพบปะหารือกับพรรคการเมืองที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยยุบพรรคหรือไม่ จากข้อกล่าวหามีพฤติกรรมเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์และมีพฤติกรรมล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ถือได้ว่า คณะทูตกับพรรคก้าวไกลสมคบกันกดดันศาลรัฐธรรมนูญ และ แทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทยอย่างไร้มารยาททางการทูต
นอกจากพฤติกรรมไร้มารยาททางการทูตของคณะบุคคลที่มาสุมหัวกันในทำเนียบทูตเยอรมนีแล้ว ยังมีคำถามอีกมากมายว่า ทูตเยอรมนี หรือพรรคก้าวไกล เป็นผู้ริเริ่มให้แสดงพลังกดดันก่อนวันศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน และ ทำไมถึงสุมกันในทำเนียบทูตเยอรมนี พรรคก้าวไกลกับเยอรมนี มีอุดมการณ์เดียวกันต่อสถาบันสูงสุดของไทยหรือไม่?
หากย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ที่ “คณะราษฎร” รุ่นใหม่ ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล โจมตีใส่ร้ายมุ่งทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ พบว่า ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล เปิดประเด็นโจมตีสถาบันเรื่องเยอรมนี และการโจมตีสถาบัน เรื่องเยอรมันขยายตัววงกว้างออกไปในปี 2563 หลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ และเปลี่ยนเป็นพรรคก้าวไกล คณะราษฎรยุคใหม่ นักศึกษาและประชาชนผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลยื่นหนังสือถึงสถานทูตเยอรมนีให้ตรวจสอบการเสียภาษีของพระมหากษัตริย์ไทยในประเทศเยอรมนี
ต่อมาวันที่ 26 ตุลาคม 2563 นักศึกษา ประชาชนผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลชุมนุมโจมตีสถาบันฯ หน้าสถานทูตเยอรมนี ยื่นหนังสือสอบถามความคืบหน้าการตรวจสอบการเสียภาษีฯ และปราศรัยโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมทั้งอ่านแถลงการณ์โจมตีสถาบันเป็นภาษาเยอรมัน อังกฤษ และภาษาไทย การโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างหยาบคาย ร้ายแรง เป็นภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมันในครั้งนั้น เป็นเหตุให้ผู้ปราศรัยผู้อ่านแถลงการณ์และผู้จัดการชุมนุมที่กระทำผิดกฎหมาย 13 คนตกเป็นจำเลยคดีอาญา มาตรา 112 และ มาตรา 116 ตั้งวันที่ 22 พฤศจิกายน 2563 โดยมี สส.ก้าวไกลเป็นผู้ประกันตัวจำเลยระหว่างดำเนินคดี
ในวันที่อัยการนำจำเลยขึ้นฟ้องศาลเจ้าหน้าที่สถานทูตเยอรมนีสามคน และสส.พรรคก้าวไกลไปสังเกตการณ์ และให้กำลังใจจำเลย โดยนายรังสิมันต์ โรม กล่าวว่า ตนและเพื่อน สส.พรรคก้าวไกล 2 คน ได้แก่ นายทองแดง เบ็ญจะปัก สส.สมุทรสาคร และนางสาวสุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา สส.นครปฐม มายื่นประกันจำเลยตัวโดยจะใช้ตำแหน่ง สส.ในการประกันตัว โดยคาดว่า วันนี้อัยการจะมีความเห็นสั่งฟ้อง ซึ่งเบื้องต้นทนายความประสานมาว่าใช้ตำแหน่ง สส. 3 คน ประกันตัวก็เพียงพอ
และระหว่างศาลพิจารณาคดี จำเลยผู้ที่อ่านแถลงการณ์เป็นภาษาเยอรมัน ทำเรื่องขอศาลไปเรียนต่อในประเทศเยอรมนีถึง 17 ครั้ง ศาลถึงอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศได้
ทั้งนี้ นายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมนี ได้ออกหนังสือรับรองก่อนว่า นางสาววริสรา เอกสกุล ได้รับทุนการศึกษาจากองค์กรแลกเปลี่ยนทางวิชาการเยอรมัน (DAAD)จริง ในโปรแกรม เฮลมูท ชมิดท์ สำหรับการศึกษาระดับมหาบัณฑิต ในหลักสูตรปริญญาโท ด้านการจัดการในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ณ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ออสนาบรีค ณ สหพันธสาธารณรัฐเยอรมนี รวมถึงหลักสูตรภาษาเพื่อการเตรียมตัว ณ กรุงเบอร์ลิน ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2565–31 สิงหาคม 2567
เป็นที่น่าสังเกตว่า พรรคก้าวไกลกับสถานทูตเยอรมนี สอดประสานกันอย่างไร้รอยต่อในกรณีจำเลยคดีที่คณะราษฎรรุ่นใหม่ แถลงการณ์โจมสถาบันพระมหากษัตริย์ หน้าสถานทูตเยอรมนี ซึ่งละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ดังนั้น เมื่อพรรคก้าวไกลที่ถูกร้องให้ยุบพรรค เพราะรณรงค์ให้ยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายปกป้องสถาบัน สถานทูตเยอรมนี จึงเป็นเจ้ากี้เจ้าการ ระดมทูตต่างๆ แสดงพลังกดดันศาล จึงเกิดคำถามว่า นอกจากสอดประสานกันเรื่องต่อต้านมาตรา 112 แล้วพรรคก้าวไกลกับสถานทูตเยอรมนีมีวาระซ่อนเร้นอะไรสอดประสานกันมากกว่านั้นหรือไม่
การแสดงพลังกดดันศาลของคณะทูตต่างชาติ จึงเป็นหลักฐานในเชิงประจักษ์ว่า การรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งกฎหมายปกป้องสถาบันนั้น สอดประสานกันระหว่างนักการเมืองไทยกับต่างชาติที่มีพฤติกรรมเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้น คณะทูตที่เห็นว่า การยุบพรรคก้าวไกล คือ วิกฤตประชาธิปไตยในประเทศไทย จึงเป็นหลักฐาน
เชิงประจักษ์ว่า ผู้ถูกร้องสอดประสานกับต่างชาติในพฤติกรรมต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์และกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงเป็นการช่วยให้พิจารณายุบพรรคก้าวไกลได้ง่ายขึ้น
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี