เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2567 นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี
ระบุว่า ครม. รับทราบตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอยุทธศาสตร์การปฏิรูปกำลังคน และภารกิจบริการด้านสาธารณสุข รวมระยะเวลา 10 ปี
เพื่อเร่งผลิต และพัฒนากำลังคนให้เพียงพอต่อการดูแลด้านสาธารณสุข ทั้งพยาบาลและหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ และเพิ่มการผลิตผู้ช่วยพยาบาล และมีการเพิ่มค่าตอบแทนข้าราชการในอัตราที่เหมาะสม
1. ปัญหาที่ว่าประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรด้านสาธารณสุข เป็นความจริงที่ทุกคนรับรู้
ชาวบ้าน ก็รับรู้ และเผชิญกับผลกระทบอยู่ในชีวิตจริง
รอคิวนาน แล้วหมอก็ใช้เวลากับผู้ป่วยได้นิดเดียว เพราะยังมีคนป่วยคนอื่นๆ ยังรอคิวอีกมากมาย
บุคลากรสาธารณสุขเอง ก็รับรู้ความจริงผ่านการทำงานที่หนัก เหนื่อย เครียด
เพราะฉะนั้น ปัญหานี้ ควรต้องลงมือแก้เป็นรูปธรรม จริงจัง ต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเสียที
2. รัฐบาลลุงตู่ เริ่มต้นไว้แล้ว ในการวางยุทธศาสตร์การปฏิรูปกำลังคนและภารกิจบริการด้านสาธารณสุขในภาพรวมทั้งระบบระยะ 10 ปี
ครม.ลุงตู่ เคยมีมติ (4 กุมภาพันธ์ 2563) ให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดําเนินการจัดทํายุทธศาสตร์การปฏิรูปกําลังคนและภารกิจบริการด้านสาธารณสุขในภาพรวมทั้งระบบ
เพื่อให้สามารถวางระบบการบริหารอัตรากําลังให้สอดคล้องกับภารกิจบริการสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศและการลงทุนในยุทธศาสตร์การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ สถาบันทางการแพทย์ และสถาบันการศึกษาต่างๆ ในภาพรวมทั้งประเทศในระยะยาว (5 - 10 ปี)
รัฐบาลชุดนี้ ควรสานต่อ ต่อยอด เร่งมือ ทำให้ต่อเนื่อง
3. ครม.เศรษฐา มีมติ (9 กรกฎาคม 2567) ให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัด ดําเนินการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุขเพิ่มเติมให้มีจํานวนเพียงพอ เหมาะสม สอดรับกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขและสถานการณ์ ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
โดยให้ สธ. นําเสนอแนวทางการดําเนินการ ตลอดจนปัญหาอุปสรรค ในการดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรีภายใน 2 สัปดาห์
4. ล่าสุด การประชุม ครม. 6 ส.ค. 2567 ปรากฏว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอยุทธศาสตร์ และแนวทางการดําเนินการแก้ไขปัญหาวิกฤตเร่งด่วนของการขาดแคลน
กําลังคนทางการพยาบาล
ยุทธศาสตร์ฯ มีสาระสำคัญ บางประเด็นที่น่าสนใจ สรุปได้ดังนี้
4.1 เป้าหมายที่ 1 : คนไทยมีสุขภาวะที่ดีเพิ่มขึ้น
(1) คาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด (Life Expectancy at Birth, LE) ไม่น้อยกว่า 85 ปี
(2) อายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี (Health Adjusted Life Expectancy, HALE) ไม่น้อยกว่า 75 ปี
(3) อัตราตายในโรคที่สําคัญลดลง ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือดโรคหลอดเลือดสมองทารกแรกเกิด โรคมะเร็ง อุบัติเหตุและฉุกเฉิน และจิตเวชและยาเสพติด
4.2 เป้าหมายที่ 2 : เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข
เป้าหมายอัตราส่วนบุคลากรต่อประชากร และให้มีการกระจายบุคลากรที่เหมาะสมตามเกณฑ์ศักยภาพของหน่วยบริการ
4.3 เป้าหมายที่ 3 : เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ
ตัวชี้วัดสำคัญ คือ สัดส่วนมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการสุขภาพต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เพิ่มเป็นร้อยละ 1.7 (จํานวน 3.81 แสนล้านบาท) ในปี 2570
ทั้งนี้ บริการทางการแพทย์ที่เน้นสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ (1) เวชศาสตร์ ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ (2) การป้องกันดูแลเส้นเลือดหัวใจ (3) การรักษากระดูกข้อเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ (4) ทันตกรรม (5) การรักษาผู้มีบุตรยาก (6) การรักษาโรคมะเร็ง (7) การปลูกถ่ายอวัยวะ (8) การผ่าตัดหัวใจ และการผ่าตัดทําบอลลูน (9) ศัลยกรรมตกแต่งและการแปลงเพศ
4.4 สาขาแพทย์เฉพาะทางที่เร่งรัดการผลิตเพื่อตอบสนองเป้าหมายต่างๆ
สาขาดังต่อไปนี้
จิตเวชศาสตร์ ประสาทวิทยา รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ศัลยศาสตร์ทรวงอก
เวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ ทันตกรรม การรักษาผู้มีบุตรยาก การปลูกถ่ายอวัยวะ การผ่าตัดหัวใจและทําบอลลูน ศัลยกรรมตกแต่งและการแปลงเพศ
4.4 แผนการผลิตกําลังคนสาธารณสุขภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ
แจกแจงรายละเอียดสําคัญตามวิชาชีพ เช่น เป้าหมายบุคลากรต่อประชากร อัตราส่วนปัจจุบัน, จํานวนที่ควรต้องมีภายใน 10 ปี, จํานวนที่ต้องผลิตเพิ่มและค่าใช้จ่าย
มีดังนี้
จะเห็นว่า ทุกสาขาวิชาชีพ ล้วนแต่มีความสำคัญ และขาดแคลน
จะขาดแคลนมาก ขาดแคลนน้อย ต่างกันไป
ที่สำคัญ ล้วนจะต้องใช้เวลาในการผลิตคน (คือ เรียน ฝึกอบรม) เพื่อให้ได้กำลังคนในสาขาอาชีพนั้นๆ ที่มีทักษะความรู้ได้มาตรฐานในการดูแลชีวิตของคน
5. ที่ต้องชื่นชม คือ การขยับตัวในรายสาขาวิชาชีพ
เช่น กรณีกำลังคนด้านการพยาบาล
ครม. ได้อนุมัติแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาวิกฤตเร่งด่วนของการขาดแคลนกำลังคนทางการพยาบาลไปแล้ว
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีพยาบาล จํานวน 209,187 คน คิดเป็นสัดส่วนพยาบาลต่อประชากร 1 : 316
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ฯ ได้กําหนดเป้าหมายในระยะ 10 ปี ให้มีสัดส่วนพยาบาลต่อประชากรที่ควรเป็นอยู่ที่ 1 : 200 หรือควรมีพยาบาลอย่างน้อย 333,745 คน
เมื่อเทียบกับจํานวนพยาบาลในปัจจุบัน พบว่า ยังขาดพยาบาลอีกจํานวน 124,558 คน หรือขาดอีกร้อยละ 37.32
การขาดอัตรากําลังทางการพยาบาลตามเหตุผลข้างต้น ทําให้พยาบาลต้องปฏิบัติงานมากกว่าจํานวนชั่วโมงการปฏิบัติงานในหนึ่งสัปดาห์
ซึ่งสูงเกินกว่ามาตรฐานความปลอดภัยในการทํางาน
จึงจําเป็นต้องเร่งเสนอพิจารณาแผนผลิตกําลังคนทางการพยาบาล ระยะ 10 ปี เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดําเนินการต่อไป โดยมีสาระสําคัญสรุปได้ว่า
ผลิตพยาบาลศาสตร์หลักสูตร 4 ปี เพิ่มจากแผนการผลิตเดิม 3,000 คน/ต่อปี (จากแผนการผลิตเดิม 12,000 คน/ปี เป็น 15,000 คน ในระยะ 10 ปี รวมทั้งสิ้น 30,000 คน โดยระยะเร่งด่วนสนับสนุนให้ การผลิตหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตสําหรับผู้สําเร็จการศึกษาปริญญา (ใช้ระยะเวลาเรียน 2.5 ปีขึ้นไป) ค่าใช้จ่ายต่อหลักสูตร 440,000 บาทต่อคน
จ้างพยาบาลผู้เกษียณที่มีคุณสมบัติเป็นอาจารย์ ให้ทํางานต่อ ในภาคการศึกษาหรือภาควิชาการของโรงพยาบาล จํานวน 375 คน (อัตราส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษา 1:4) อัตราจ้างต่อคนต่อปี 540,000 บาท
เพิ่มกําลังการผลิตผู้ช่วยพยาบาล หลักสูตร 1 ปี จํานวน 90,000 คน ในระยะ 3 ปีแรก รวม 10,000 คน ค่าใช้จ่ายต่อหลักสูตร 50,000 ต่อคน
เพิ่มการจ้างผู้เกษียณเข้าทํางานในระบบ โดยจ้างพยาบาลผู้เกษียณ อายุราชการปฏิบัติงานในสถานบริการสุขภาพเป็นพนักงาน สธ. หรือพนักงานราชการ
นอกจากนี้ จะเพิ่มตําแหน่งข้าราชการอัตราตั้งใหม่ ในระยะเร่งด่วน 8,000 ตําแหน่งบุคลากรพยาบาลในระบบ สําหรับบรรจุพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานใน สธ. ที่ถูกจ้างงานในรูปแบบอื่น ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญเสีย
เพิ่มค่าตอบแทนทั้งหมวดเงินเดือน ค่าตอบแทนพิเศษในโรงพยาบาล สังกัด สธ. ให้ใกล้เคียงกับภาคเอกชน พยาบาลวิชาชีพทุกตําแหน่ง ให้เพิ่มเงิน พิเศษค่าประกอบวิชาชีพ
ในสาขาขาดแคลน เดือนละ 5,000 บาท จํานวน 170,000 คนต่อเดือน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทําแผนงบประมาณ ขอผลิตและพัฒนาตามกรอบงบประมาณดังกล่าวอีกครั้ง
สนับสนุนทุนการพัฒนาศักยภาพการพยาบาลเฉพาะทาง เพื่อจูงใจ ให้พยาบาลอยู่ในระบบมากขึ้น จํานวน 27,786 ทุน จํานวนทุนละ 60,000 บาท
สนับสนุนทุนการศึกษาพยาบาล เพื่อจูงใจให้มีการเข้าเรียนพยาบาล มากขึ้น โดยสนับสนุนทั้งจํานวนทุนการศึกษาและตําแหน่งบรรจุข้าราชการ ในลักษณะเดียวกันกับโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้จํานวน 57,000 ทุน จํานวนทุนละ 160,000 บาทต่อทุน
เพิ่มความก้าวหน้าให้อาชีพสามารถเลื่อนไหลในระดับชํานาญการพิเศษได้ทุกตําแหน่ง
เพิ่มกรอบตําแหน่งผู้ช่วยพยาบาล โดยเฉพาะในโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก
ยิ่งกว่านั้น ยังครอบคลุมถึงการเพิ่มการลงทุนด้านเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์เพื่อทดแทนการทํางาน ของพยาบาลที่ไม่จําเป็นต้องใช้ทักษะเชิงวิชาชีพ เช่น ระบบบันทึกทางการพยาบาลและปัญญาประดิษฐ์อิเล็กทรอนิกส์การใช้ Tele-nursing
ทั้งหมดนี้ จะเป็นการยกกระดับระบบสุขภาพของประเทศ ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพได้เพิ่มขึ้น มีสุขภาวะที่ดี ลดการเจ็บป่วยลดการเสียชีวิต รวมทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย
ด้วยเหตุนี้ ขอสนับสนุนให้รัฐบาลทุ่มเททรัพยากรเพื่อการพัฒนาที่สำคัญๆ เช่นนี้ มากกว่าจะไปใช้จ่ายเงินแบบอีลุ่ยฉุยแฉก เพียงหวังคะแนนเสียงเฉพาะหน้า
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี