หนังสือพิมพ์นิวส์ไลส์ ออฟ เมียนมา รายงานว่าสถานทูตจีนในย่างกุ้ง ออกแถลงการณ์หลัง นายหวัง อี้ สมาชิกคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีต่างประเทศ หารือนอกรอบกับรัฐมนตรีต่างประเทศลาวและหน่วยงานมั่นคงไทย ระหว่างการประชุมความร่วมมือกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่16 สิงหาคม แถลงการณ์ระบุว่ารัฐมนตรีต่างประเทศ#จีนแสดงความกังวลเกี่ยวกับกิจการของเมียนมาและกล่าวว่าข้อจำกัดเหล่านี้ “ต้องได้รับการดูแลอย่างจริงจัง”
คำแถลงการณ์ภาษาพม่าสามบรรทัดสถานทูตจีน ระบุ (1) ความไม่มั่นคงภายในและสงครามกลางเมืองในประเทศเมียนมา (2) ไม่สามารถเบี่ยงเบนเมียนมาไปจากเส้นทางของครอบครัวอาเซียน (3) #ไม่อนุญาตให้แทรกซึมและการแทรกแซงโดยพลการจากภายนอก สถานทูตจีนระบุด้วยว่า ในการหารืออย่างไม่เป็นทางการนายหวังยังเรียกร้องให้พวกเขา (ลาว ไทยและพม่า) หารือกันเพื่อแก้ไขวิกฤตเมียนมา
ก่อนหน้าสถานทูตจีนในพม่า ออกแถลงการณ์ดังกล่าว สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า นายหวังได้พบปะหารือกับ พลเอกมิน อ่อง หล่ายในกรุงเนปิดอว์ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม โดยกล่าวว่า“จีนสนับสนุนความพยายามของพม่าในการผลักดันให้มีการปรองดองทางการเมืองภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ และกล่าวด้วยว่า จีนไม่เห็นด้วยกับความวุ่นวายหรือความขัดแย้งในพม่า จีนไม่เห็นด้วยกับการใช้กองกำลังต่างชาติแทรกแซงกิจการภายในพม่า และสนับสนุนให้พม่าดำรงซึ่งอิสรภาพ ความเอกภาพในชาติ และบูรณภาพแห่งดินแดน
ก่อนหน้าเยือนพม่า นายหวังเคยกล่าวว่า คู่ขัดแย้งในพม่าได้รับการช่วยเหลืออาวุธจากต่างชาติมากขึ้น แต่ไม่ได้พูดว่า ต่างชาติเป็นตะวันตก หรือชาติในเอเชียด้วยกัน รมต.ต่างประเทศจีน เดินทางถึงกรุงเนปิดอว์ไม่กี่สัปดาห์หลังจากกองกำลังพันธมิตรประชาธิปไตยพม่า (MNDAA) ประกอบด้วย โกก้าง ตะอ่าง และอาระกัน ยึดเมืองล่าเสี้ยว เมืองหลวงทางตอนเหนือของรัฐฉาน ปัจจุบัน กองทัพเมียนมากำลังเผชิญกับสงครามครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และต้องละทิ้งกองบัญชาการภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากล่าเสี้ยว
ในเวลาเดียวกันแหล่งข่าวกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐฉาน กล่าวว่า กองกำลังพันธมิตรประชาธิปไตยพม่า ประกอบด้วย โกก้าง ตะอ่าง อาระกัน ได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธและกำลังพลจากว้า “ลำพังโกก้างกับตะอ่างและอาระกันทำได้แค่สงครามกองโจรเท่านั้น แต่เมื่อพวกเขาได้รับการสนับสนุนทั้งอาวุธและกำลังพลบางส่วนจากว้า จึงดูเหมือนว่ายึดหลายเมืองได้” แหล่งข่าวกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐฉานกล่าว
รัฐฉานเป็นฐานที่มั่น และถิ่นฐานกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย อาทิ ชาติพันธุ์ฉานหรือไทใหญ่ ปะโอโกก้าง ตะอ่าง ลาอู ว้า ฯลฯ ฉานหรือไทใหญ่เป็นคนส่วนใหญ่ในรัฐฉานมีประชากร 4-6 ล้านคน ว้าประมาณกันว่ามีประชากร 300,000 ถึง 350,000 คน ส่วนชาติพันธุ์อื่นๆ มีประชากรหลักหมื่นหลักแสนเท่านั้นและกระจัดกระจายกันอยู่ตามป่าเขา
ว้าแยกตัวจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่า และจัดตั้งสหพันธ์ว้าในปี 1989 ว้ามีกองทัพแข็งแกร่งและมีศักยภาพที่สุดในบรรดา กลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า ประมาณการว่า กองทัพสหพันธรัฐว้า (UnitedWa State Army=UWSA) มีกำลังพล 30,000 ถึง 35,000 นาย นอกจากนั้น UWSA มีอาวุธทันสมัยมากมาย จนกองทัพพม่าไม่อยากรบกับว้า ปี 1993 ว้าซึ่งมีเมืองหลวงที่ปางซางประกาศว่าดินแดนฝั่งตะวันออกแม่น้ำสาละวินทั้งหมดเป็นรัฐว้า
ว้า เป็นหนึ่งใน 16 กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลกลางพม่าตั้งแต่ปี 2010 และมีรายงานว่า สหพันธรัฐว้า ทำข้อตกลงกับ “คณะผู้บริหารแห่งรัฐ (State Administration Council=SAC) ที่จัดตั้งขึ้นหลังจากพลเอกมิน อ่อง หล่าย ยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคเอ็นแอลดีของนางออง ซาน ซู จี เมื่อ1 กุมภาพันธ์ 2021 ว่า หลังจากเลือกตั้งครั้งหน้าพม่าจะแก้รัฐธรรมนูญจาก #สหภาพพม่าเป็นสหพันธรัฐประชาธิปไตยพม่า
“เมื่อจีนส่งสัญญาณให้มิน อ่อง หล่าย จัดการเลือกตั้ง ว้าต้องเร่งขยายอิทธิพลขยายเขตแดนรัฐว้าโดยการใช้ MNDAA เป็นเครื่องมือจึงพูดได้ว่าโกก้างกับตะอ่าง เป็นเครื่องมือของจีนและว้า”แหล่งข่าวระบุว่า เมื่อกองกำลังผสมโกก้าง ตะอ่าง และอาระกันปฏิบัติการโจมตีพม่า อาวุธหลักที่ใช้ทั้งจรวดและโดรนได้รับการสนับสนุนจากว้า แต่เมื่อยึดเมืองหรือหมู่บ้านได้ MNDAA ยกเมืองที่ยึดได้ให้ว้าหรือไม่ก็ให้ว้าร่วมเป็นผู้บริหาร
“ในบางกรณีว้า ยกกำลังไปยึดเมืองเอาดื้อๆ ซึ่งพม่าก็ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ เช่นว้ายึดเมืองโห๋ปัง กับ เมืองตังยานไปบริหาร ทั้งทหารพม่าและฝ่ายต่อต้านไม่ได้ขัดขืน..” แหล่งข่าวในรัฐฉานกล่าว ดังนั้นจึงมีข่าวว่า กองกำลังผสมโกก้าง ตะอ่าง และอาระกันยึดเมืองทางเหนือรัฐฉานได้หลายเมืองแล้วฝ่ายต่อต้านยกให้ว้าบริหาร...โกก้างซึ่งเป็นแกนนำหลักก็บริหารร่วมกับว้าและพม่าทางเหนือเช่นเมืองเล่าก่าย ส่วนตะอ่างเป็นคนกลุ่มน้อยบริหารเมืองแสนหวีก็มีปัญหาปกครองไม่ได้ “ฉานหรือไทใหญ่เป็นคนส่วนใหญ่จะให้ใช้ภาษา วัฒนธรรมประเพณีตะอ่าง เป็นไปไม่ได้ชาวบ้านต่อต้าน” แหล่งข่าวในรัฐฉานกล่าว ด้านนักรบอาระกันที่มาร่วมทำสงครามขยายเขตแดนรัฐว้าไม่มีส่วนบริหารเมืองบริวารที่ยึดจากพม่า “อาระกันเพียงแต่ต้องการความช่วยเหลือด้านอาวุธและปัจจัยจากว้า เท่านั้น” แหล่งข่าวกล่าว
ทางเหนือรัฐฉาน อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ แร่หายาก พลอย หยก ไพลิน เพชรนิลจินดา ที่ทั้งพม่า จีน และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างมีจุดหมายกอบโกยให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ นั่นคงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ว้า สนับสนุนให้กองกำลังผสมนำ โดยโกก้างยึดพื้นที่ทางเหนือของรัฐฉานให้มากที่สุด เพราะรู้ดีว่า โกก้าง ตะอ่างยึดเมืองได้ แต่บริหารไม่ได้ สุดท้ายต้องให้ว้าซึ่งเป็นพี่ใหญ่เข้าไปบริหารจัดการ และเนื่องจากว้ามีพื้นที่บริหารทั้งทางเหนือและทางใต้รัฐฉาน ที่มีชาติพันธุ์ฉานหรือไทใหญ่มีพื้นที่บริหารกั้นกลางทั้งเหนือและใต้ การเร่งขยายอิทธิพลของว้า จึงสร้างความหวั่นไหวให้ไตใหญ่และประเทศไทย
“หากมีการล้ำเส้นล้ำเขตแดนเข้าเราหวังว่า จะหาข้อยุติด้วยการเจรจา ต้องยอมรับว่าการใช้กำลังเราสู้ว้าไม่ได้” แหล่งข่าวในกองกำลังฉานใต้หรือ Shan State Army=SSA กล่าว SSA ซึ่งเคยส่วนหนึ่งของกองกำลัง MTA หรือ Mong Tai Army นำโดย ขุนส่า อดีตราชายาเสพติดแห่งสามเหลี่ยมทองคำ ในทศวรรษที่ 2530 MTA
ทำสงครามยาเสพติดกับว้าใต้ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ที่ดอยสามเส้าตรงข้ามจังหวัดเชียงราย จนกระทั่งขุนส่ามอบตัวต่อกองทัพพม่าในเดือนมกราคม 2539 การสู้รบระหว่างว้ากับฉานใต้ซึ่งแยกมาเป็น SSA ก็ยุติลง
ดังนั้นเมื่อว้าสมประโยชน์กับจีนจัดวางระเบียบทางเหนือรัฐฉานได้อย่างมีนัย และฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าต่างให้คำมั่นจะดูแลปกป้องผลประโยชน์ของจีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่อส่งแก๊ส/น้ำมันที่ทอดจากทะเลอันดามันผ่านรัฐฉานสู่มณฑล ยูนนานทางใต้ของจีน
กลุ่มชาติพันธุ์ฉานที่กั้นกลางระหว่างว้าเหนือซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ปางซาง กับเขตบริหารว้าใต้ตรงข้ามจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ฉานใต้กับประเทศไทยจึงเกิดความหวั่นไหวอย่างเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจีนคำรามว่า “ห้ามแทรกแซงพม่าโดยพลการ”
ปักกิ่งคงส่งสัญญาณเตือนไปยังวอชิงตัน ให้หยุดแทรกแซงพม่า ส่วน สปป.ลาวกับประเทศไทย จีนขอร้องให้ช่วยเหลือพม่าในการแสวงหาข้อยุติ
โดยสันติวิธีจึงไม่ถือว่าแทรกแซงโดยพลการไม่เหมือนกับที่นายทักษิณรุ่มร่ามโดยพลการเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี