ในวันแรกที่มีการประชุมสภาฯ หลังจากที่รัฐบาลพระยาพหลฯสามารถปราบกบฏบวรเดชได้เรียบร้อยแล้ว ทางรัฐบาลนอกจากจะแถลงการณ์ถึงเหตุการณ์กบฏครั้งนี้แล้ว ทางรัฐบาลยังได้เสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษต่อสภาฯ ในวันเดียวกันนั้นด้วย พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรี ได้นำเสนอว่า
“ในการที่จะสร้างศาลพิเศษนี้ เห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าต่อไปนี้ เราจะได้เลิกประกาศ กฎอัยการศึก เพื่อจะชำระเรื่องนี้ให้เป็นที่เรียบร้อยต่อไป จึงขอตั้งศาลพิเศษนี้ขึ้น เพื่อจะชำระคดีเรื่องเหล่านี้ นอกจากนั้นการตั้งศาลพิเศษขึ้นนี้ ตามธรรมดาย่อมสะดวกแก่การพิจารณา เพราะว่าถ้าเราไม่ตั้งขึ้นแล้วจะให้ชำระกันตามศาลธรรมดา ก็จะต้องเสียเวลามากมาย และผู้คนที่ถูกจับอยู่นี้จะต้องถูกกักอยู่นาน จึงจำเป็นต้องตั้งศาลพิเศษ เราจะประกาศกฎอัยการศึกอยู่นานๆเช่นนี้ ก็ดูไม่ชอบกลเมื่อเห็นว่าบ้านเมืองเรียบร้อยแล้ว เราจะได้ถอนกฎอัยการศึกออกเสีย”
การจัดตั้งศาลพิเศษนี้ โดยทั่วไปก็ไม่มีใครคัดค้านเรื่องการตั้งศาล แต่พระยาปรีดานฤเบศร์นั้น ค้านว่า “… เสนอว่าความประสงค์จะให้ผู้ต้องหามีทนายชี้แจงแก้ตัวได้ ก็ไม่ควรมีจำกัดเอาแต่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารเท่านั้น” ที่จริงพระยาปรีดาฯได้อภิปรายเสนอยาวมาก ประเด็นคือให้จำเลยจ้างคนนอกเป็นทนายได้นั่นเอง ประเด็นนี้มีผู้ลุกขึ้นมาค้านพระยาปรีดาฯ หลายราย
หลวงอรรถสารประสิทธิ์ “ถ้าเราจะปล่อยให้ตั้งทนายความก็จะเยิ่นเย้อไม่ทันใจรัฐบาลเพราะฉะนั้นที่ตั้งศาลกลางขึ้นวินิจฉัย ศาลมีความสามารถจะรักษาประโยชน์พอแล้ว ข้าพเจ้าไม่เห็นจำเป็นจะเปิดให้ทนายมาว่าความอย่างนี้”
นายมังกร สามเสน “ให้ตั้งศาลพิเศษเตรียมการสมควรแล้ว เพราะการเรื่องนี้จะยอมให้พลเรือนว่าความอย่างธรรมดาแล้ว 5 ปีก็ชำระไม่เสร็จ วันนี้ติดว่าความวันนี้พยานยังไม่มา เพราะฉะนั้นไม่ควรอนุญาตให้ทนายพลเรือนไปแซก”
ประดิษฐ์มนูธรรม “ขอสนับสนุนนายมังกรว่า ยิ่งทนายมีชื่อเสียงก็ยิ่งติดว่าความมากแห่ง”
ตรงนี้ พระยาปรีดาฯ ลุกขึ้นมาแย้งทันควัน
“ที่ข้าพเจ้ารู้มา ประเทศที่เจริญแล้ว เขายอมให้มีทนาย ครั้งโบราณยอมให้ผู้มีบรรดาศักดิ์มีทนาย ฝรั่งก็ยังว่าความเองไม่ได้ … นายมังกร สามเสน ว่าทนายจะเลื่อนไป และที่หลวงประดิษฐ์ว่า ทนายมีชื่อเสียงติดความมากก็ต้องเลื่อนไป ทำไมศาลที่เมืองอังกฤษจึงชำระความได้… เรื่องนี้ไม่ยากเลย… ใครจะมาเลื่อนก็ไม่ยอม จะอ้างเหตุผลอย่างอื่นไม่ได้ เพราะนี่เป็นคดีพิเศษ”
นายเนตร์ พูนวิวัฒน์ “ศาลพิเศษตามทำนองนี้เคยมีมาครั้ง 1 เมื่อ ร.ศ.130 สมัยนั้นเรียกว่าศาลกรรมการพิเศษ ข้าพเจ้าถูกเป็นจำเลยด้วย ศาลกรรมการพิเศษไม่ได้ให้สิทธิแก่จำเลยให้ตั้งทนายความ และมีมาตราเก้าว่าให้กรรมการวินิจฉัย จำเลยเวลานั้นไม่มีทนายความเข้าสู้”
หลวงอรรถสารฯ “…ข้าพเจ้าเข้าใจว่า พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นกบฏ ถ้าจะจ้างทนาย ข้าพเจ้ามั่นใจว่ามีหลายพันคนที่จะเข้าเป็นทนายหาทางไม่ให้ติดตราง การปฏิบัติเป็นคนละรูป ทนายอังกฤษเขามีธรรม ทนายของเหล่านี้การศึกษายังไม่พอ…”
ประเด็นนี้ถูกกันไปเถียงกันมาในบรรดาผู้อภิปราย 5 คนนั้น ในที่สุดประธานสภาฯจึงขอให้ลงมติ ปรากฏว่ามีสมาชิกเพียง 2 นาย ที่เห็นว่าควรมีทนายความ โดยไม่ทราบว่าผู้ที่เห็นด้วยกับพระยาปรีดาฯ อีกท่านหนึ่งเป็นใคร และสมาชิกเสียงข้างมากเห็นว่าไม่ควรแก้ไขคือให้ยืนตามร่างเดิม หลังจากนั้นได้มีการพิจารณาต่อไปเลย เพราะประธานสภาฯขอให้มีการตั้งอนุกรรมการเต็มสภา คือ ให้สภาฯ เป็นผู้พิจารณาต่อไปในวาระ 2 และ 3 รวดเดียว โดยเมื่อพิจารณาเรียงมาตราครบแล้ว ประธานก็ขอให้ลงมติผ่านร่างพระราชบัญญัติ ออกใช้ได้
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. 2476 นี้ จึงเป็นการจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นมาพิจารณาคดีการเมืองเป็นครั้งแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นั่นเอง
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี