คดีฟ้องร้องเกี่ยวกับปลาหมอคางดำ เป็น คดีสิ่งแวดล้อม (Environmental Case) ในศาลยุติธรรม หมายถึง คดีแพ่งหรือคดีอาญาที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งการกระทำความผิดในลักษณะนี้คล้ายคลึงกับการกระทำละเมิด กล่าวคือ มีการกระทำของบุคคลเป็นองค์ประกอบสำคัญในการกระทำความผิดและเมื่อเกิดคดีสิ่งแวดล้อมขึ้น กฎหมายที่จะต้องนำมาพิจารณาตัดสินคดี คือ กฎหมายสิ่งแวดล้อม
ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ส่งคณะทำงานเข้าช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและตัวแทนประมงพื้นบ้านในเขต อ.อัมพวา อ.บางคนที และ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม จำนวนกว่า 1,400 คน ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ กล่าวหาบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง กับกรรมการบริหารรวม 9 คน เป็นจำเลยในคดีสิ่งแวดล้อม และขออนุญาตฟ้องคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าสินไหมทดแทนจากการขาดรายได้ในอาชีพประมงเพาะเลี้ยงและประมงพื้นบ้าน และจากการถูกละเมิดสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงมีคำขอบังคับให้บริษัท แก้ไขฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไปให้กลับสู่สภาพเดิม ด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทตามหลัก“ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย”
โดยอ้างว่า สืบเนื่องจากการที่บริษัทที่ถูกฟ้องเป็นผู้ขออนุญาตและนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นจากประเทศกานา คือ ปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นสัตว์น้ำอันตรายต่อระบบนิเวศและสัตว์น้ำท้องถิ่น เข้ามาทดลองพัฒนาสายพันธุ์เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ และด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของบริษัทที่เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์น้ำอันตราย ทำให้เกิดการหลุดรอดของปลาหมอคางดำ จากแหล่งเพาะเลี้ยงออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ แพร่พันธุ์และเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว เกิดการแพร่ระบาดเข้าสู่บ่อเพาะเลี้ยงของชาวประมง และกระจายไปหลายจังหวัดของประเทศ พร้อมเรียกค่าเสียหาย 2,486,450,000 บาท ศาล เพื่อนำไปเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้รับฟ้องเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ สว 1/2567 นอกจากนี้ยังยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกล่าวหา 18 หน่วยงานรัฐฐานความผิดละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ อีกด้วย
ฝ่ายบมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร ชี้แจงว่า ตามที่กลุ่มชาวประมง จังหวัดสมุทรสงคราม และสภาทนายความ ได้ยื่นฟ้องทางแพ่งบริษัทเพื่อเรียกค่าเสียหายชดใช้การนำเข้าปลาหมอคางดำนั้น บริษัทฯขอแจ้งว่าบริษัทได้ตั้งคณะทำงานเพื่อสอบข้อเท็จจริง ตั้งแต่เริ่มการริเริ่มแนวคิดการศึกษาตั้งแต่ปี 2549 จนกระทั่งยุติความคิดที่จะทำการวิจัยในเรื่องนี้เมื่อต้นปี 2554 ยืนยันว่า ไม่ใช่ต้นเหตุของการระบาด
อย่างไรก็ตามบริษัทพร้อมเข้าสู่กระบวนการเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่ถูกกล่าวหาและเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมที่ก่อให้เกิดการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมายและนำไปสู่ความเข้าใจที่ถูกต้องของสังคมได้ในที่สุด
“แม้บริษัทจะมั่นใจว่าไม่ใช่สาเหตุของการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ แต่รับทราบดีว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาสำคัญในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาบริษัทได้เข้ามาช่วยสนับสนุนการแก้ไขอย่างบูรณาการกับทุกภาคส่วน และลงมือปฏิบัติการเชิงรุกในหลายมิติตามแนวทางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน” ข่าวของ CPF ระบุ
คดีสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับปลาหมอคางดำเพิ่งเริ่มต้นยังไม่รู้ใครผิดใครถูกหรือผลสรุปจะออกมาอย่างไร แต่ เดิมพันในครั้งนี้ของสภาทนายความ ชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหารนั้นใหญ่หลวงยิ่งนักนักกฎหมาย ผู้ที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ควรพลาดการติดตามการต่อสู้คดีในอนาคตข้างหน้า
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี