การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา รวม ๓๖ คน เข้าชื่อเสนอคำร้องต่อประธานวุฒิสภา (ผู้ร้อง) ว่า ปรากฏคลิปเสียงการสนทนาระหว่างนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้อง) กับสมเด็จฮุนเซน ประธานวุฒิสภาแห่งกัมพูชา และศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วมีมติรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย และแจ้งผู้ร้องทราบ และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๖๑ มาตรา ๕๔
สำหรับคำขอให้สั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ นายกรัฐมนตรีนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (๗ ต่อ ๒) เห็นว่า ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคสาม ประกอบมาตรา ๘๒ วรรคสอง มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีนับแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๘ เป็นต้นไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
แม้ว่าน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะแถลงน้อมรับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เราก็เห็นปฏิกิริยา จากสื่อและบุคคลในเครือข่ายของพรรคเพื่อไทย ตลอดจนผู้สนับสนุนและทีมงานของนายกรัฐมนตรี ต่างก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และไม่เห็นด้วยคำตัดสินดังกล่าว เช่น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในทำนองว่า “การปลดนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง การยุบพรรคการเมืองไม่ว่าพรรคไหนก็ตาม เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นโดยง่าย อย่างที่เราเห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประเทศนี้ที่มาและขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นส่วนหนึ่ง
ของความขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่”
หรือแม้แต่พรรคประชาชนก็เช่นกัน สมาชิกหลายคนรวมถึงผู้สนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน นักวิชาการ ต่างก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยตรรกะเดียวกันที่ว่า ทำไมจึงให้คนเพียง 9 คน มาตัดสินคนที่ประชาชนเลือกเข้ามา?
นับเป็นความย้อนแย้งเป็นอย่างยิ่งที่พรรคการเมือง หรือนักการเมือง ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งภายใต้กฎหมายเลือกตั้ง และกฎหมายพรรคการเมือง ภายใต้รัฐธรรมนูญปี’60 แต่กลับไม่ยอมรับการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งอำนาจหน้าที่ทั้งหมดของศาลรัฐธรรมนูญ ก็อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี’60 ด้วยเช่นกัน เหมือนนักฟุตบอลที่ตัดสินใจลงแข่งขัน แล้วบอกว่าทีมของเรายอมรับกติกาข้อนี้ แต่ไม่ยอมรับกติกาข้อนั้น คำถามคือทำได้หรือไม่ เพราะในเมื่อคุณตัดสินใจแข่งขันคุณก็ต้องยอมรับกติกาทุกข้อ ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม
ยิ่งเมื่อไปดูในข้อมูลในอดีต ก็พบว่าทั้งพรรค เพื่อไทยและพรรคประชาชน ก็เคยมีสส.เข้าชื่อกัน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ขณะดำรงตำแหน่งเป็น รมว.คมนาคม ใช้สถานะการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและในฐานะกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ใช้อำนาจในตำแหน่งดังกล่าวในการจัดทำหรือให้ความเห็นชอบ โครงการใดๆ ของหน่วยงานของรัฐโดยมีเจตนาพิเศษส่งผลทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่นและบริษัทที่บริจาคเงินให้กับพรรคภูมิใจไทยได้รับงานเข้าเป็นคู่สัญญากับกระทรวงคมนาคม ซึ่งอยู่ในหน่วยงานภายใต้กำกับดูแลของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ จึงถือเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์และฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 144...”
ดังนั้นการออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย ไม่พอใจ และบางคนถึงขั้นตำหนิศาลแรงๆ จากนักการเมือง หรือกองเชียร์พรรคการเมืองทั้งหลาย ก็มองได้ว่า คำตัดสินของศาลนั้น “ไม่ถูกใจ” ฝ่ายตัวเองมากกว่า
สิ่งสำคัญคือ ตราบใดที่กฎหมายต่างๆ ยังมีผลบังคับใช้ ไม่ว่าเราจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย ในฐานะสมาชิกของสังคม ก็ต้องปฏิบัติตามโดยไม่มีข้อแม้ จนกว่ากฎหมายนั้นๆ จะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขนี่ต่างหากคือหลักการที่ถูกต้อง
ไม่ใช่พอจะใช้บริการศาลรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบเล่นงานฝ่ายตรงข้าม ก็เคารพ แต่พอศาลตัดสินมาไม่ถูกใจ ก็ยกเหตุผลสารพัดมาด้อยค่าศาล แบบนี้นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้ไม่ยึดหลักการแล้วการเผยแพร่แนวคิดผิด เช่น คน 9 คนมาตัดสินคนที่ได้รับเลือกตั้งจากคนเป็นล้านๆ ได้อย่างไร แบบนี้เท่ากับเป็นการเผยแพร่ยาพิษให้แก่สังคม เพราะจำนวนเสียงของประชาชน หรือคะแนนการเลือกตั้ง เป็นเครื่องวัดความนิยม หรือความต้องการ แต่ไม่ใช่เครื่องมือวัดความถูกผิดดีชั่วแต่อย่างใด
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี