สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย เข้าสู่โหมดการฟื้นฟูเยียวยา
1. การฟื้นฟูเยียวยาจะต้องเร่งด่วน
เพราะประชาชนเดือดร้อน ต้องการเงินไปต่อลมหายใจชีวิต รวมถึงซ่อมแซมบ้านเรือน อุปกรณ์เครื่องมือทำมาหากิน
ไม่มีใครอยากเป็นผู้ประสบภัย เพื่อจะต้องมารับเงินเยียวยาจากรัฐ เพราะถึงอย่างไรก็ไม่ครอบคลุมกับความเสียหายอยู่แล้ว ยังไม่รวมเวลาและโอกาสที่เสียไป
2. อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยา เป็นการใช้เงินแผ่นดิน จะต้องเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่มีรั่วไหล ทุจริตโกงกิน
ยิ่งถ้าโกงงบฟื้นฟูเยียวยาน้ำท่วม ถือว่าเป็นการโกงบนความเจ็บปวดทุกข์ร้อนของชาวบ้าน
ใครทำ ถือว่าเลวร้ายมาก
เพราะฉะนั้น ประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ จะต้องเข้าใจร่วมกันว่านี่คือเงินแผ่นดิน ดังนั้น การใช้จ่ายจะต้องทำอย่างโปร่งใส มีหลักฐานอ้างอิงตรวจสอบได้
3. การฟื้นฟูเยียวยาหลังน้ำท่วมรอบนี้
ล่าสุด นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า รัฐบาลได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำรวจความเสียหายและพื้นที่ประสบภัย เพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้ประสบอุทกภัยเป็นกรณีพิเศษ
เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2567 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567
พร้อมทั้งได้อนุมัติกรอบวงเงิน 3,045.52 ล้านบาท
จากงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
เป็นค่าดำรงชีพเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้ประสบภัยเป็นกรณีพิเศษ
สำหรับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยากรณีอุทกภัยที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยในช่วงฤดูฝน ซึ่งเกิดสถานการณ์ขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นมา
โดยเป็นอุทกภัย ทั้งในกรณีน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงผลกระทบจากการระบายน้ำจนส่งผลกระทบให้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้ และจังหวัดได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและ/หรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
จากการสำรวจข้อมูลครัวเรือนเบื้องต้น ขณะนี้ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 57 จังหวัด จำนวน 338,391 ครัวเรือน
สำหรับการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 จะแบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้
(1) กรณีบ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังตั้งแต่ 1 วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินเสียหาย รวมถึงกรณีน้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,000 บาท
(2) กรณีบ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 7,000 บาท
และ (3) กรณีบ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน60 วันขึ้นไป ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 9,000 บาท
การพิจารณาเงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยนั้น ได้กำหนดเงื่อนไขการขอรับเงินเยียวยาเป็น 2 ส่วน ดังนี้
(1) ต้องเป็นบ้านที่อยู่อาศัยประจำในพื้นที่ที่ได้มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและ/หรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยต้องมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกให้ (ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 30) และจะต้องผ่านการประชาคมหมู่บ้านของแต่ละพื้นที่ประสบสาธารณภัย รวมถึงจะต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) และคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากสำนักงานเขตและกรุงเทพมหานคร
(2) กรณีที่ประสบภัยหลายครั้ง จะได้รับความช่วยเหลือเพียงครั้งเดียว
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะเป็นหน่วยรับงบประมาณและดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย
ธนาคารออมสินจะจ่ายเงินให้แก่ผู้ประสบภัยที่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือโดยตรง โดยการโอนเงินเข้าบัญชีผ่านระบบพร้อมเพย์ (PromptPay)
4. เงินช่วยเหลือ แม้จะไม่สามารถเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่นับเป็นการช่วยเหลือเยียวยา เป็นค่าดำรงชีพเบื้องต้น
ขอสนับสนุนให้ ปภ. และผู้เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวบ้านโดยเร็ว
กรณีนี้ ไม่มีการจัดซื้อจัดจ้าง เพียงแต่ตรวจสอบชื่อบุคคลที่จะได้รับเงินกับที่อยู่อาศัยในพื้นที่จริง ก็สามารถยืนยันข้อมูลความจริง แล้วโอนเงินได้เลย
เงินไม่มีช่องทางรั่วไหล หากไม่มีบัญชีผี ซึ่งยากจะทุจริตโกงกินได้ (สามารถตรวจสอบย้อนกลับภายหลังได้)
เงินที่จ่ายไป จะช่วยบรรเทาทุกข์โดยเร่งด่วน มีผลต่อระบบเศรษฐกิจต่อไป
5. บทเรียนกรณีโกงงบช่วยน้ำท่วม คุก 1,269 ปี
เมื่อปี 2554 เกิดอุทกภัยจากพายุโซนร้อน “นกเตน” ทำให้น้ำท่วมขังที่อำเภอท่าสองยาง จากนั้น ก็มีการใช้งบฟื้นฟูเยียวยาน้ำท่วม และมีการทุจริต
ล่าสุด ป.ป.ช. ได้เปิดเผยกรณีศึกษา เป็นอุทาหรณ์เตือนสติข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายงบน้ำท่วม
นายศรชัย ชูวิเชียร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 6 ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 6 ได้แจกแจงกรณีคดีโกงงบน้ำท่วมท่าสองยาง ปี’54
คดีดังกล่าวศาลปราบโกงพิพากษาลงโทษจำคุกข้าราชการผู้กระทำผิดคุก 1,269 ปี
พฤติการณ์การทุจริต โดยสรุป คือ
อดีตนายอำเภอและพวก กระทำการทุจริตในการดำเนินการโครงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เมื่อปี 2554
มีการประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และมีการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ ดำเนินโครงการ จำนวน 423 โครงการ
แต่ได้ร่วมกันจัดหาผู้รับจ้าง ด้วยการสั่งการให้ผู้ปกครองท้องที่ในเขตพื้นที่ ทำการจดทะเบียนจัดตั้งร้านค้า และนำมาเป็นคู่สัญญาในโครงการ
ช่วยเหลือผู้ประสบภัย
และการดำเนินการของคณะกรรมการชุดต่างๆ ไม่ได้กระทำการถูกต้องตามระเบียบ เช่น บางโครงการไม่มีการควบคุมงาน บางโครงการไม่มีการตรวจการจ้าง อีกทั้งยังมีการเบิกจ่ายเงินโดยไม่ถูกต้อง ทั้งมีการเบิกจ่ายเงินไม่เต็มตามจำนวนที่รับจ้าง เบิกจ่ายเงินให้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้รับจ้าง และเบิกจ่ายเงินโดยไม่มีการก่อสร้างจริง ฯลฯ
พบว่า นายอำเภอกับพวก มีการกระทำในลักษณะเดียวกันถึง 3 ครั้ง ตามงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร รวมกว่า 73 ล้านบาท
ครั้งที่ 1 7,999,600 บาท
ครั้งที่ 2 7,999,600 บาท
และครั้งที่ 3 57,642,600 บาท
จำนวนโครงการรวม 423 โครงการ
นอกจากนี้ ในช่วงเวลาเกิดเหตุ ตรวจพบความเคลื่อนไหวทางการเงินหรือธุรกรรมทางการเงิน ของอดีตนายอำเภอกับพวก รวมเป็นเงินกว่า 26 ล้านบาท (26,595,780 บาท)
เข้าข่ายกระทำผิดประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฯลฯ
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 มีคำพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสิบ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมคนละ 423 กระทง (บางราย ก็ผิด 273 กระทง บางรายก็ 334 กระทง)
แต่การกระทำของจำเลยแต่ละคน และแต่ละกระทงนั้น เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐกระทำความผิด
ตามพระราชบัญญัตินี้หรือกระทำการใดๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดกว่าบทอื่น จำคุก คนละ 5 ปี รวม 423 กระทง รวมเป็นจำคุกคนละ 2,115 ปี
ทางนำสืบและคำให้การของจำเลย เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเป็นบางส่วน มีเหตุบรรเทาโทษ สมควรลดโทษให้คนละกระทงละหนึ่งในสาม
คงจำคุกคนละ 1,269 ปี 1,692 เดือน
แต่เมื่อรวมโทษ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 กระทงความผิดของจำเลยแล้ว ให้จำคุกจำเลย คนละไม่เกิน 50 ปี (บางรายก็ลดหลั่นกันลงมา)
คดียังไม่ถึงที่สุด ต้องรอคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์ต่อไป
เป็นอุทาหรณ์เตือนสติ อย่าให้เกิดกรณีเช่นในอดีต
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี