ต้องชื่นชมการตัดสินใจของรัฐมนตรีพลังงาน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
เกี่ยวกับการบริหารดูแลจัดการพลังงานล่าสุด
1. ประกาศลดค่าไฟฟ้างวด ม.ค.-เม.ย. 2568
จากค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน (ก.ย. - ธ.ค. 2567) ซึ่งอยู่ที่ 4.18 บาท/หน่วย ลงอีก 3 สตางค์/หน่วย
ค่าไฟฟ้าจะลดลงเหลือ 4.15 บาท/หน่วย
โดยจะมีผลตั้งแต่เดือน ม.ค-เม.ย. 2568
ทั้งนี้ เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพและเป็นของขวัญปีใหม่ 2568 ให้กับพี่น้องชาวไทยทุกคน
“กกพ. จะปรับลดค่าไฟในงวดหน้า (ม.ค. - เม.ย. 2568) ลงได้อีก และเหลือเฉลี่ยหน่วยละ 4.15 บาท หลังจากที่ผมได้ขอให้ทุกหน่วยงานได้ไปลองดูว่าจะสามารถลดค่าไฟลงได้อีกหรือไม่ เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้พี่น้องประชาชน ในนามรัฐบาลและกระทรวงพลังงานขอถือโอกาสนี้มอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับทุกท่าน และขอขอบคุณ กกพ.ในฐานะหน่วยงานหลัก ขอบคุณการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และปตท.ในการร่วมกันกับรัฐบาลช่วยเหลือพี่น้องประชาชน” – รมต.พีระพันธุ์ กล่าว
โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีมติเห็นชอบทบทวนค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) และค่าไฟฟ้าเรียกเก็บงวดเดือนม.ค. - เม.ย. 2568 โดยให้เรียกเก็บลดลงเหลือ 4.15 บาทต่อหน่วย เป็นผลจากการที่ได้มีการทบทวนตัวเลข และประมาณการที่เกี่ยวข้อง
2. ไม่ใช่ลดแค่ 3 สตางค์ แต่คือลดราคาด้วย แก้หนี้สะสมด้วย
ปัจจุบัน ค่าไฟหน่วยละ 4.18 บาท
ก่อนหน้านี้ ทาง กกพ. เสนอปรับขึ้นเป็น 5.49 บาท ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2568
แต่ รมต.พีระพันธุ์ เสนอที่ 4.15 บาท เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน
และกฟผ.ยังชำระหนี้ได้ 13,000 ล้านบาท
หมายความว่า สมมุติปัจจุบัน ใช้ไฟ 1,000 หน่วย/เดือน จะจ่ายอยู่ 4,180 บาท
แต่ถ้ายึดตามตัวเลข กกพ. ต้องจ่าย 5,490 บาท
ทว่าเมื่อถือตามตัวเลขที่รมต.ผลักดัน ก็จะจ่ายเพียง 4,150 บาท
ส่วนต่างคือเดือนละ 1,340 บาท
โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดรับฟังความเห็นประชาชนต่อค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2568 โดยการพิจารณาค่าไฟฟ้าแบ่งเป็น 3 แนวทาง ดังนี้
กรณีที่ 1 ค่า Ft เท่ากับ 170.71 สตางค์ต่อหน่วย รวมค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.49 บาทต่อหน่วย โดยกรณีนี้จะเป็นการจ่ายหนี้คืน กฟผ.ทั้งหมด 85,236 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 131.01 สตางค์ต่อหน่วย) รวมค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้าปี 2566 หรือ AFGAS ของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ (กฟผ. และ ปตท.) จำนวน 15,083.79 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 23.18 สตางค์ต่อหน่วย) รวมทั้งสิ้นจำนวน 154.19 สตางค์ต่อหน่วย
กรณีที่ 2 ค่า Ft เท่ากับ 147.53 สตางค์ต่อหน่วย รวมค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับขึ้นเป็น 5.26 บาทต่อหน่วย โดยกรณีนี้ กฟผ.จะได้รับการทยอยชำระหนี้คืน 85,236 ล้านบาท ภายในเดือน เม.ย. 2568
กรณีที่ 3 กรณีตรึงค่า Ft เท่ากับงวดปัจจุบัน (ข้อเสนอ กฟผ.) เท่ากับ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยคงที่เท่ากับ 4.18 บาทต่อหน่วย ซึ่งกรณีนี้จะทยอยชำระคืนภาระต้นทุนคงค้าง ( AF) ที่ค้างสะสมได้จำนวน 15,094 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 23.20 สตางค์ต่อหน่วย) โดยคาดว่า ณ สิ้นเดือน เม.ย. 2568 จะมีภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. และรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ (กฟผ. และ ปตท.) รับภาระแทนประชาชนคงเหลืออยู่ที่ 85,226 ล้านบาท
ในที่สุด กกพ. ได้มีมติเห็นชอบทบทวนค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) และค่าไฟฟ้าเรียกเก็บงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2568 โดยให้เรียกเก็บลดลงเหลือ 4.15 บาทต่อหน่วย
สิ่งที่ต้องชื่นชม คือ นักการเมืองสามานย์ จะเอาแค่ผลประชานิยม คือ ลดราคาอย่างเดียว แล้วหมักหมมสะสมปัญหาต่อไป
แต่กรณีนี้ รมต.พีระพันธุ์ ยังคำนึงถึงการแก้ปัญหาหมักหมมเดิม คือ หนี้สะสมที่มีร่วมแสนล้านบาท
และคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน จึงพยายามลดให้ได้มากที่สุด โดยไม่ลืมแก้ปัญหาหมักหมมไปพร้อมๆ กัน
แม้ว่าอาจจะไม่สะใจประชาชนที่ต้องการให้ลดเยอะๆ โดยอาจจะไม่คำนึงถึงภาระหนี้สินที่มีอยู่เดิมก็ตาม
3. การปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์ รูฟ
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เผยความคืบหน้า เรื่อง การปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์ รูฟ ให้ทำได้สะดวกรวดเร็วขึ้น และการจัดหาอุปกรณ์สำหรับผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่ประชาชนในราคาถูก ระบุว่า
“ปัจจุบัน อุปกรณ์เกี่ยวกับระบบโซลาร์ในท้องตลาดมีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้น สิ่งที่ผมจะทำต่อเนื่องจากการปรับปรุงกฎหมาย ก็คือ การผลิตอุปกรณ์ระบบโซลาร์เซลล์
ที่เรียกกันว่า โซลาร์ รูฟ ออกจำหน่ายให้กับประชาชนในราคาถูก และถือเป็นครั้งแรกของกระทรวงพลังงานที่มีนโยบายในแนวทางนี้
โดยล่าสุด คณะทำงานของกระทรวงพลังงานได้ผลิตต้นแบบของเครื่องอินเวอร์เตอร์ (Inverter) ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้สำเร็จแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณภาพ ความเสถียร และความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล
โดยเราตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวอย่างครบชุดเพื่อจำหน่ายให้กับพี่น้องประชาชนได้ในปี 2568 ที่จะถึงนี้” รมต.พีระพันธุ์ กล่าว
สำหรับอุปกรณ์ต้นแบบที่นำมาทดสอบครั้งนี้ เป็นผลงานการออกแบบของ นายทวีชัย ไกรดวง หรือ ครูน้อย ซึ่งเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์หลายอย่างเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชน และเป็นหนึ่งในคณะทำงานของกระทรวงพลังงาน โดยเครื่อง Inverter ต้นแบบนี้สามารถผลิตเพื่อจำหน่ายได้ในราคาต่ำกว่าท้องตลาด
4.“รื้อ ลด ปลด สร้าง”
ประเด็นหลักด้านพลังงานที่เกี่ยวข้องกับประชาชน คือ ไฟฟ้า น้ำมัน และก๊าซ
รมต.พีระพันธุ์ เปิดเผยว่า
“ที่ผ่านมา บางเรื่องอยู่นอกเหนือการควบคุมของกระทรวงพลังงาน บางเรื่องก็อยู่ในอำนาจที่จะบริหารจัดการได้ จึงพยายามแก้ปัญหาให้รัฐบาลมีอำนาจเข้ามาดูแลช่วยเหลือประชาชนให้มากที่สุด
ในส่วนของก๊าซ ได้แก้ไขการกำหนดราคาก๊าซใน Gas Pool ไปเมื่อต้นปีนี้ ทำให้สามารถควบคุมค่าไฟฟ้าได้ระดับหนึ่ง
ส่วนเรื่องน้ำมัน ปัญหาหลักมีสองส่วน ส่วนแรก คือ ราคาเนื้อน้ำมันที่ขึ้นลงตามตลาดโลกอยู่นอกเหนือการควบคุมเช่นเดียวกับราคาก๊าซที่นำมาผลิตไฟฟ้า
ส่วนที่สอง คือ การจัดเก็บภาษี
ส่วนแรกอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพลังงานที่กำลังคิดหาทางแก้ไข ส่วนที่สองอยู่ในอำนาจของกระทรวงการคลัง ซึ่งกระทรวงพลังงานพยายามขอความร่วมมือตลอดมา เพื่อลดราคาพลังงานให้ประชาชน ซึ่งยังเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอยู่ระหว่างการเตรียมนำร่างกฎหมายเข้าสภาเพื่อให้กระทรวงพลังงานมีอำนาจในการบริหารจัดการราคาพลังงานในหลายๆ มิติ ซึ่งที่ผ่านมา ที่สามารถดำเนินการได้สำเร็จแล้ว คือ การให้ผู้ค้าน้ำมันต้องเปิดเผยต้นทุนราคาน้ำมันนำเข้าที่แท้จริง
ส่วนร่างกฎหมายน้ำมัน SPR หรือ Strategic Petroleum Reserve ระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ อยู่ระหว่างการเตรียมนำเข้ารัฐสภาในต้นปี 2568 ซึ่งหากดำเนินการสำเร็จ ก็จะทำให้กระทรวงพลังงานสามารถบริหารจัดการด้านน้ำมันได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ระบบ SPR จะเป็นแนวทางการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันแบบที่สากลใช้กันในกลุ่ม IEA หรือองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) โดยใช้การบริหารกลไกราคาน้ำมันโดยใช้ปริมาณน้ำมันในสต๊อก ซึ่งไม่ได้ใช้เงินในการอุดหนุนเหมือนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของเราที่ทำอยู่ในปัจจุบัน โดยจะทำให้ไทยมีระบบสำรองน้ำมันเป็นของประเทศไม่ได้ขึ้นอยู่กับภาคเอกชนอย่างเดียว
สำหรับการแก้ปัญหาราคาน้ำมันไบโอดีเซล หรือ B100 ที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้เตรียมพร้อมในการแก้ปัญหาหลังสิ้นสุดการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปี พ.ศ. 2569 พร้อมหาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่จะได้รับผลกระทบในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยจะนำรูปแบบการแก้ปัญหาเรื่องอ้อย กับน้ำตาลทรายตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ปี 2527 มาปรับใช้ ซึ่งได้หารือกับ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้ง ปลัดกระทรวงพลังงาน และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อยกร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมันให้กับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน โดยมี นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เป็นประธานคณะกรรมการ และ คาดว่าภายใน 5-6 เดือน หลังจากนี้จะเริ่มเห็นรูปร่างของโครงการชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ในอดีตน้ำมันปาล์มดิบถูกนํามาใช้ประโยชน์ในช่วงที่น้ำมันดีเซลมีราคาแพงโดยนํามาผสมกับดีเซล ทําให้มีปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้นและราคาถูกลงเรียกว่า น้ำมันไบโอดีเซล หรือ บี100 แต่ว่าปัจจุบันราคาน้ำมันปาล์มดิบ อยู่ที่ 41-42 บาท/ลิตร ซึ่งแพงกว่าเนื้อน้ำมันดีเซลที่นํามาผสมเกือบเท่าตัว จึงเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทําให้ราคาน้ำมันในประเทศแพงขึ้น และต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชยเพื่อให้ราคาดีเซลไม่เกิน 33 บาท/ลิตร ซึ่งเหลือเวลาให้ชดเชยได้อีกเพียง 2 ปีเท่านั้น ขณะเดียวกัน ด้านเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมันก็เริ่มมีปัญหาส่วนแบ่งราคากับโรงสกัด และผลประโยชน์จากราคาน้ำมันปาล์มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ไปไม่ถึงเกษตรกรอย่างที่ควรจะได้รับ ทั้งนี้ จากผลผลิตน้ำมันปาล์มทั้งหมดในประเทศ 1 ใน 3 นำมาผสมกับน้ำมันดีเซลเพื่อใช้ภายในประเทศ ส่วนอีก 2 ใน 3 นำไปผลิตน้ำมันพืชและผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยมีการส่งออกในส่วนนี้ประมาณ 20%
หวังว่าร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมันฉบับนี้ จะเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่สร้างความเป็นธรรม มีการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างผู้ที่นำผลปาล์มน้ำมันไปผลิตเป็นน้ำมัน และดูแลเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน ให้ได้ค่าตอบแทนผลผลิตที่เป็นธรรมและถูกต้อง ทำให้เกษตรกรได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เมื่อกองทุนน้ำมันต้องหยุดชดเชยการผสมน้ำมันปาล์มในเนื้อน้ำมัน รวมทั้งสายการผลิตที่จะนำผลปาล์มน้ำมันไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ดีกว่าในปัจจุบัน” นายพีระพันธุ์กล่าว
ขอสนับสนุนให้เดินหน้าแก้ปัญหาให้สุดซอยต่อไป
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี