เลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัดเมื่อวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าบารมีของอดีตนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร ทั้งกระแสและกระสุน ไม่สามารถทำให้พรรคเพื่อไทยยึดเก้าอี้นายก อบจ.ได้อย่างที่ลำพองใจกันเมื่อตอนหาเสียงเลือกตั้ง
“ทักษิณ ชินวัตร”ลงทุนลงแรงเดินสายหาเสียง ชนิดที่ไม่สนว่าจะผิดกฎหมายเลือกตั้ง หรือกฎหมายฉบับใดก็ตามที่บังคับใช้สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่ แสดงตนที่ใหญ่ยิ่งกว่าเป็นผู้ช่วยหาเสียง จากการปราศรัยสัญญาว่าจะให้ในทุกเวทีทุกจังหวัดที่ไปขึ้นปราศรัย ราวกับเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงของประเทศนี้ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงก็เป็นเช่นนั้น เพราะคนในประเทศนี้ต่างก็รู้อยู่แก่ใจว่า “มาดามแพทองโพย”ก็แค่ร่างทรงที่เป็นหุ่นเชิดของบิดาเท่านั้น
ทั้งนี้ จากนายก อบจ.ทั้งหมด 47 จังหวัด พอสรุปได้ว่า พรรคเพื่อไทยได้ 10 จังหวัด, ภูมิใจไทย 9 จังหวัด, ชาติไทยพัฒนา 2 จังหวัด, พรรคประชาชาติ 2 จังหวัด, กล้าธรรม 2 จังหวัด และพรรคประชาชน 1 จังหวัด ที่เหลือนอกนั้นอีก 21 จังหวัด เป็นผู้สมัครในนามอิสระและบ้านใหญ่ที่เล่นสนามท้องถิ่นในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งบ้างก็เคยเป็นอดีต นายก อบจ.
พรรคเพื่อไทย 10 ที่นั่ง ประกอบด้วย นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร จังหวัดเชียงใหม่, นางสาวตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร จังหวัดลำปาง, นายอนุวัธ วงศ์วรรณ จังหวัดแพร่, นายนพรัตน์ ถาวงศ์ จังหวัดน่าน, นางยลดา หวังศุภกิจโกศล จังหวัดนครราชสีมา, นางนฤมล สัพโส จังหวัดสกลนคร, นายวุฒิไกร ช่างเหล็ก จังหวัดหนองคาย, นายพลพัฒน์ จรัสเสถียร จังหวัดมหาสารคาม, นายอนุชิต หงษาดี จังหวัดนครพนม และนางณภาภัช อัญชสาณิชมน จังหวัดปราจีนบุรี
พรรคภูมิใจไทย 9 ที่นั่ง คือ นายวิชิต ไตรสรณกุล จังหวัดศรีสะเกษ, นายภูษิต เล็กอุดากร จังหวัดบุรีรัมย์, นางแว่นฟ้า ทองศรี จังหวัดบึงกาฬ, นายพนัส พันธุ์วรรณ จังหวัดอำนาจเจริญ, นางอรพิน จิระพันธุ์วาณิช จังหวัดลพบุรี, นายกฤษฏ์ เพ็ญสุภา จังหวัดพิจิตร, นางอทิตาธร วันไชยธนวงค์ จังหวัดเชียงราย, นายสมศักดิ์ กิตติธรกุล จังหวัดกระบี่ และนายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ จังหวัดสตูล
พรรคชาติไทยพัฒนา 2 ที่นั่ง นายอุดม โปร่งฟ้า จังหวัดสุพรรณบุรี และนายจิรวัฒน์ สะสมทรัพย์ จังหวัดนครปฐม
พรรคประชาชาติ 2 ที่นั่ง นายกูเซ็ง ยาวอหะซัน จังหวัดนราธิวาส และนายมุขตาร์ มะทา จังหวัดยะลา
พรรคกล้าธรรม 2 ที่นั่ง นางศรัณยา สุวรรณพรหม จังหวัดหนองบัวลำภู และนายเจษฎา ญาณประภาศิริ จังหวัดสมุทรสงคราม
พรรคประชาชน 1 ที่นั่ง คือ นายวีระเดช ภู่พิสิฐ จังหวัดลำพูน ซึ่งต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า พรรคประชาชน เป็นพรรคที่เดินสายหาเสียงอย่างเข้มข้น แต่ไม่ได้อย่างที่คิด และเกือบจะไม่ได้เลยเสียด้วยซ้ำ โดยส่งลงสมัครทั้งหมด 17 จังหวัด แต่ได้ที่ลำพูนจังหวัดเดียว ทั้งนี้ นายวีระเดช ได้ 109,372 คะแนน ชนะนายอนุสรณ วงศ์วรรณ เจ้าของเก้าอี้เดิมจากพรรคเพื่อไทย ที่ได้ 103,405 คะแนน ถือว่าชนะแชมป์เก่ามาได้เพียงแค่ 5 พันกว่าคะแนน
ส่วนอีก 21 จังหวัด ที่เป็นผู้สมัครในนามอิสระและบ้านใหญ่ที่ลงเล่นสนามท้องถิ่นในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งบ้างก็เป็นอดีตนายก อบจ. ประกอบด้วย นางโสภา กาญจนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี, นายวิทยา คุณปลื้ม จังหวัดชลบุรี, นายปิยะ ปิตุเตชะ จังหวัดระยอง,นายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ จังหวัดตรัง, นายอัครเดช วันไชยวงศ์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน, นายศุภวัฒน์ เทียนถาวร จังหวัดสิงห์บุรี, นายวิเชียร ทรัพย์เจริญ จังหวัดตราด, นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร จังหวัดพัทลุง, นายกลยุทธ ฉายแสง จังหวัดฉะเชิงเทรา,
นายธนภณ กิจกาญจน์ จังหวัดจันทบุรี, นายสุนทร ปานแสงทอง จังหวัดสมุทรปราการ, นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ จังหวัดสมุทรสาคร, พ.ต.อ.ธงชัย เย็นประเสริฐ จังหวัดนนทบุรี, นายสัญญา บุญ-หลง จังหวัดสระบุรี, นางสาวนิดา ขนายงาม จังหวัดนครนายก, นายสราวุธ ลิ้มอรุณรักษ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม จังหวัดสงขลา, นายบำรุง ปิยนามวาณิช จังหวัดพังงา, นายเรวัต อารีรอบ จังหวัดภูเก็ต, นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี จังหวัดปัตตานี และนายวีระพงษ์ ทองผา จังหวัดมุกดาหาร
มองโดยภาพรวมแล้ว ต้องถือว่าพรรคเพื่อไทย กับ พรรคประชาชน บาดเจ็บสาหัสจากการเลือกตั้งสนามท้องถิ่นครั้งนี้ เนื่องจากพรรคเพื่อไทยนั้น ถึงขนาด“ทักษิณ ชินวัตร”ต้องลงมาเดินสายลุยเอง แต่ได้มาชนิดที่เรียกว่า“หมดน้ำยา” ขณะที่พรรคประชาชนอุตส่าห์ทุ่มสุดตัว ระดมขุนพลของพรรคลงลุยทุกพื้นที่ กลับได้มาเพียงแค่จังหวัดเดียวที่ลำพูน
สำหรับพรรคภูมิใจไทยไม่ออกหน้าออกตา แต่ใช้“ความสงบสยบความเคลื่อนไหว” กลายเป็นว่า“สายสีน้ำเงิน” กินทั้ง“แดง”และ“ส้ม” ไม่ใช่“ไล่หนูตีงูเห่า” แต่เป็นการ“ไล่หนูเข้าทำเนียบฯ” แบบเรียบร้อย“ครูใหญ่บุรีรัมย์-เนวิน ชิดชอบ”
พรรคเพื่อไทยที่มี“ทักษิณ ชินวัตร”เป็นแม่ทัพใหญ่นั้น ทักษิณลงทุนลงแรงเดินสายหาเสียงช่วยลูกพรรคโดยมุ่งมั่นที่จะต้องคว้าชัยให้ได้รวมทั้งหมด 8 จังหวัด คือ เชียงใหม่, เชียงราย, ลำพูน นครพนม, บึงกาฬ, หนองคาย, มหาสารคาม และศรีสะเกษ ซึ่งปรากฏว่าเอาชนะมาได้แค่ 4 จังหวัดเท่านั้น ส่วนที่ลำพูน, เชียงราย, ศรีสะเกษ และบึงกาฬ ไม่สามารถพาผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยเข้ามาได้
โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย และจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งสองจังหวัดนี้“ทักษิณ ชินวัตร” ต้องเอาปี๊บคลุมหัวเดิน เพราะไปคุยโม้โอ้อวดและสัญญาว่าจะให้กับชาวบ้านไว้เยอะ อีกทั้งยังเป็นสัญญาณชี้ไปถึงการเลือกตั้ง สส.สมัยหน้าอีกด้วยว่า เพื่อไทยจะเสียรังวัดมากขึ้น โดยทุกวันนี้ที่จังหวัดเชียงราย พรรคเพื่อไทยมี สส. 4 คน ใน 7 เขตเลือกตั้ง ขณะที่พรรคประชาชนมี 3 คน ส่วนที่ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทยมี 7 คน ส่วนอีก 2 คน เป็น สส.พรรคภูมิใจไทย
ที่เชียงราย“ทักษิณ ชินวัตร” ลงพื้นที่หาเสียง 2 ครั้ง ผลการเลือกตั้งออกมาเท่ากับเป็นการตบหน้าสั่งสอนทักษิณ โดยนางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ผู้สมัครพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นภรรยาของนายยงยุทธ ติยะไพรัช หรือ“ยุทธตู้เย็น”บ้านใหญ่แห่งเชียงราย ไม่สามารถเอาชนะนางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ เจ้าของเก้าอี้เดิม จากพรรคภูมิใจไทย และที่ศรีสะเกษ นายวิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ จากพรรคเพื่อไทย พ่ายให้แก่นายวิชิต ไตรสรณกุล อดีตนายก อบจ. 6 สมัย จากพรรคภูมิใจไทย
และที่เชียงใหม่ บ้านเกิดของ“ทักษิณ ชินวัตร” แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะรักษาเก้าอี้ไว้ได้ แต่ก็เรียกว่าไม่สมราคา“ทักษิณผู้เสือกทุกเรื่อง” เพราะชนะมาแบบต้องเรียกว่าหวุดหวิด โดย“พิชัย เลิศพงษ์อดิศร” เจ้าของเก้าอี้นายก อบจ.เดิมจากพรรคเพื่อไทย ได้ 383,123 คะแนน ขณะที่พรรคประชาชนคู่แข่ง คือ “พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” ได้ 361,885 คะแนน และยังมีสัญญาณไปถึงการเลือกตั้ง สส.สมัยหน้าอีกด้วย ซึ่งจากการเลือกตั้ง สส.ในปี 2566 พรรคประชาชนสามารถเข้ามาได้ถึง 7 คน จากทั้งหมด 10 เขตเลือกตั้ง ส่วนพรรคเพื่อไทยเจ้าของพื้นที่เดิมมาทุกยุคทุกสมัยได้แค่ 2 คน อีก 1 คนเป็น สส.พรรคกล้าธรรม
สรุปทิ้งท้ายอีกที-การเลือกตั้ง นายก อบจ.ครั้งนี้, “ทักษิณ ชินวัตร”หมดลายสิ้นเขี้ยวเล็บโดยสิ้นเชิง !
รุ่งเรือง ปรีชากุล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี