การใช้งบประมาณรัฐต้องมีความเหมาะสม
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังขึ้นอีกครั้ง เมื่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเสนอของบประมาณในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปี พ.ศ. 2569 เป็นเงินกว่า 956 ล้านบาท เพื่อใช้ใน “โครงการปรับปรุงพื้นที่รัฐสภา” หลายโครงการ
คำถามเหล่านี้ไม่ใช่เพียงความหวาดระแวงของคนในสังคม แต่สะท้อนปัญหาลึกซึ้งที่ประเทศไทยเผชิญมานาน นั่นคือ ความเปราะบางในระบบตรวจสอบการใช้งบประมาณ และวัฒนธรรมการทุจริตที่หยั่งรากลึกอยู่กับสังคมไทย จากดัชนีการรับรู้การทุจริตหรือคอร์รัปชั่น ประจำปี 2567 ที่เผยแพร่โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ชี้ว่าประเทศไทยเรามีคะแนนต่ำมานาน อยู่อันดับที่ 107 จาก 180 ประเทศทั่วโลก นี่คือปัญหาเรื้อรังที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประชาชนต้องเฝ้าดู “เงินภาษี” ถูกใช้ไปกับโครงการที่ถูกตั้งคำถามถึง “ความจำเป็น” และ “ความเหมาะสม” เราเคยเห็น เสาไฟกินรีในท้องถิ่น ที่ใช้งบเป็นร้อยล้านบาท เพื่อตั้งเสาที่ไม่เคยให้แสงสว่างจริง แต่ให้ “ประโยชน์” กับกลุ่มคนบางกลุ่ม เราเคยเห็นสนามกีฬา สวนหย่อม ถนน ทางเท้าที่สร้างซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีการเบิกงบซ่อมแซมทุกปีๆ หรือการแฝงไปทัศนศึกษาดูงานของหน่วยงานรัฐแต่จุดประสงค์หลักคือการท่องเที่ยว เพียงเพื่อ “ปิดงบ” หรือใช้เงินให้หมดภายในปีงบประมาณ
วันนี้ เรากำลังเห็น รัฐสภาใช้งบเกือบพันล้านเพื่อปรับปรุง “พื้นที่” ขณะที่โรงเรียนในชนบทไม่มีแม้กระทั่งหลังคาที่ไม่รั่ว โรงพยาบาลชุมชนยังขาดแคลนเตียงและยา ถนนหลายสายยังมีแต่หลุมบ่อ
ในวันที่เศรษฐกิจไทยย่ำแย่ ราคาสินค้าพุ่งสูง คนตกงานเพิ่มขึ้น รัฐควรเป็นฝ่าย “รัดเข็มขัด” เพื่อแบ่งเบาภาระของประชาชน แม้ว่าในทางเศรษฐศาสตร์ การใช้งบประมาณของรัฐคือกลไกสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินที่รัฐจ่ายออกไปจะหมุนเวียนในระบบ สร้างงาน สร้างรายได้ ดังนั้น การ “เพิ่ม” การใช้จ่ายภาครัฐจึงมีเหตุผลและจำเป็น
คำถามคือ รัฐควรจัดลำดับความสำคัญด้วยการปรับปรุงคุณภาพชีวิตประชาชน พัฒนาสาธารณณูปโภค ขจัดความยากจน หรือปรับปรุงตึกออฟฟิศที่ทำงานของตัวเองก่อน
คำตอบที่สังคมอยากได้ยินคือ “รัฐใช้เงินอย่างไร” ไม่ใช่เพียง “รัฐใช้เงินมากแค่ไหน”
เราต้องไม่ลืมว่า “งบประมาณรัฐ” ไม่ใช่เงินของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเงินของประชาชนทุกคนที่มาจากภาษีที่เราจ่ายไป การใช้เงินนั้นต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อตอบสนองผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม
ยิ่งไปกว่านั้น งบประมาณจำนวนมหาศาลของแต่ละกระทรวง ทบวง กรม ที่ผ่านออกมาแต่ละปี กำลังถูกตั้งคำถามถึงความโปร่งใสและโอกาสในการทุจริต ซึ่งการตั้งคำถามของประชาชนต่อการใช้งบประมาณนั้น ไม่ใช่การขัดขวางการพัฒนา แต่คือสิทธิและหน้าที่ของประชาชนในฐานะเจ้าของเงินภาษี และเป็นกลไกสำคัญในการสร้างสังคมที่โปร่งใส
ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารเปิดกว้างมากขึ้น รัฐบาลจึงไม่ควรปิดบังรายละเอียดการใช้งบ งบโครงการต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต้องโปร่งใส การตรวจสอบต้องเป็นอิสระ และบทลงโทษผู้ทุจริตต้องเด็ดขาดจริงจัง เพื่อให้การใช้งบประมาณเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน สังคม และส่วนรวม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี