ประวัติศาสตร์ของชาติไทยที่ได้มีการกล่าวถึงเรื่องของการรบระหว่างไทยกับ ขอม ซึ่งน่าจะเป็นต้นกำเนิดของเขมรนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นในสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ พระเจ้าอู่ทอง ซึ่งแต่เดิมนั้นเคยมีสัมพันธไมตรีกับ อาณาจักรอยุธยา ต่อมาเมื่อพระบรมลำพงศ์ได้ขึ้นครองราชย์ได้แปรพักตร์ไม่เป็นไมตรีดังแต่ก่อน พระเจ้าอู่ทองจึงให้พระราเมศวร พระราชโอรสที่ครองเมืองลพบุรี ยกทัพไปตีนครธมในปี พ.ศ.๑๘๙๕ แต่ไม่สามารถเอาชนะได้ จึงโปรดให้ขุนหลวงพะงั่ว ซึ่งเป็นพระเชษฐาของพระมเหสียกทัพไปช่วย และสามารถตีพระนครหลวงคือเมืองนครธมแตกได้ โดยพระบรมลำพงศ์สวรรคตในศึกครั้งนั้น กองทัพอยุธยาได้กวาดต้อนเอาผู้คนและทรัพย์สมบัติของเขมรกลับมาเป็นจำนวนมาก
หลังจากพระเจ้าอู่ทองสวรรคต พระราเมศวรได้ขึ้นครองราชย์แทน แต่ไม่สามารถปกครองบ้านเมืองได้ดีขุนหลวงพะงั่วที่ครองเมืองสุพรรณบุรีอยู่จึงยกทัพขึ้นมายังกรุงศรีอยุธยา ทำให้พระราเมศวรต้องยอมถวายราชสมบัติให้ขุนหลวงพะงั่วขึ้นปกครองแผ่นดินแทนในนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑
ในปี พ.ศ ๑๙๑๕ เขมรได้แข็งข้อ จึงทำให้ขุนหลวงพะงั่วต้องยกทัพไปปราบเขมรอีกครั้งหนึ่ง พระเจ้าธรรมโศกราชกษัตริย์เขมรสวรรคตในระหว่างการรบ ขุนหลวงพะงั่ว ได้โปรดให้พระอินทราชาพระโอรสของพระเจ้าธรรมโศกราชขึ้นครองราชย์แทน แต่ในระยะต่อมากองทัพญวนก็เข้ามารุกรานเขมร และสามารถยึดครองได้
อยุธยาสามารถยึดเขมรได้อีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.๑๙๗๔ ในสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ หรือเจ้าสามพระยา ซึ่งถือว่าเป็นครั้งสำคัญ ทำให้เขมรต้องย้ายเมืองหลวงจากนครธมไปอยู่ที่พนมเปญ และอ่อนแอจนสูญเสียอำนาจที่เคยมีในภูมิภาคนี้ไปในที่สุด
ในปี พ.ศ. ๒๐๑๙ รัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระองค์ได้รับการร้องขอจากผู้ปกครองเขมรในช่วงนั้น ในเรื่องของการก่อกบฏภายใน ทำให้พระองค์ต้องยกทัพไปเองเพื่อปราบกบฏที่เกิดขึ้นจนสำเร็จเรียบร้อย และเขมรต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายกรุงศรีอยุธยาอยู่นานพอสมควร
หลังจากที่อยุธยาต้องเสียอิสรภาพให้กับอาณาจักรหงสาวดีในปี พ.ศ.๒๑๑๒ ทำให้อาณาจักรอ่อนแอลง เขมรได้ยกทัพมารุกรานหลายครั้ง ทั้งในปี พ.ศ.๒๑๑๓ และต่อมาอีกอย่างน้อย ๒ ครั้ง คือในปี พ.ศ.๒๑๑๘ และ ๒๑๑๙ กวาดต้อนผู้คนกลับไปยังเขมรจำนวนหนึ่ง
ก่อนที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะกู้เอกราชของชาติกลับคืนมาโดยการ ประกาศอิสรภาพในปี พ.ศ.๒๑๒๗ นั้น เขมรยังคงยกทัพมารุกรานชาติไทยอยู่ตลอดเวลาโดยเพชรบุรีเป็นหัวเมืองที่ถูกรุกรานถึง 2 ครั้ง ประชาชนถูกกวาดต้อน ไปพร้อมกับทรัพย์สมบัติจำนวนมาก
ปี พ.ศ.๒๑๓๖ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้กรีธาทัพเข้าบุกเขมร ยึดเมืองต่างๆ จนเข้าไปถึงเมืองละแวกซึ่งในช่วงนั้นเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรเขมร สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 หรือนักพระสัตถากษัตริย์เขมร ได้ทรงช้างเพื่อจะกระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวร แต่เมื่อช้างทรงของนักพระสัตถาเห็นช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรก็เกรงขามและวิ่งเตลิดหนีไป สมเด็จพระนเรศวรจึงยกทัพเข้าทำลายเมืองละแวกจนย่อยยับ กษัตริย์พม่า พระเชษฐา และพระราชบุตร ประชวรสิ้นพระชนม์ที่เมืองสตึงแตรงทัพของกรุงอยุธยาได้ชัยชนะพร้อมกับกวาดต้อนชาวเขมรมายังกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งนำพระอนุชาของนักพระสัตถากลับมาด้วย หลังจากนั้นสงครามระหว่างไทยกับเขมรก็ลดน้อยลงจนเกือบจะหมดไป เขมรตกอยู่ภายใต้การควบคุมของอาณาจักรอยุธยา
เขมรแข็งเมืองอีกครั้งหนึ่งในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งทำให้พระองค์ต้องยกทัพไปตีเขมร และสามารถปราบปรามได้ ทำให้เขมรกลับมาเป็นประเทศราชของไทยอีกครั้ง
กล่าวได้เลยว่าสัมพันธไมตรีระหว่างเขมรตั้งแต่ยุคของขอมจนมาถึงยุคปัจจุบันนี้ไม่เคยมีความแน่นแฟ้น มีสงครามสู้รบกันอยู่เสมอ ซึ่งไทยก็จะได้ชัยชนะทุกครั้ง
อาณาจักรอยุธยาแต่งตั้งกษัตริย์ปกครองเขมรมาหลายพระองค์ จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็ยังทรงแต่งตั้งกษัตริย์ปกครองเขมร ต่อมาเขมรเริ่มหันไปฝักใฝ่กับญวน ทำให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ต้องส่งกองทัพไปขับไล่ญวนออกจากเขมร เกิดความขัดแย้งกันนานถึง ๑๔ ปี แต่สุดท้ายเขมรก็ตกเป็นประเทศราชร่วมของทั้งอาณาจักรรัตนโกสินทร์และญวน จนถึงยุคล่าอาณานิคมที่เขมรตกเป็นของฝรั่งเศส
ไทยและเขมรมีปัญหากระทบกระทั่งกันครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.๒๕๐๔ กรณีเขาพระวิหาร ซึ่งในที่สุดไทยต้องเสียดินแดนส่วนนี้จากคำตัดสินของศาลโลก ซึ่งใช้หลักกฎหมายการยอมรับโดยปริยาย เนื่องจากรัฐบาลไทยไม่โต้แย้งแผนที่ที่ฝรั่งเศสจัดทำขึ้นตามคำขอของรัฐบาลสยามเอง
หันกลับมาดูสถานการณ์ระหว่างไทยและเขมรในปัจจุบันนี้ เป็นเรื่องยากที่ประชาชนจะเข้าใจในสิ่งที่รัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังดำเนินการอยู่ในเรื่องของเขตแดนที่อยู่ติดกัน โดยเมื่อ ๖-๗ เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการนำเรื่องของเกาะกูดซึ่งเป็นแผ่นดินของไทยเข้าสู่การเจรจากับเขมร ในเรื่องของการแบ่งทรัพยากรใต้ทะเลคือแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่บริเวณเกาะกูด ว่าจะต้องจัดสรรปันส่วนกับเขมรอย่างไร โดยยกเอาเรื่อง MOU ๔๔ ที่รัฐบาลสมัยนายกฯนักโทษชั้น ๑๔ ได้ทำไว้กับเขมร ในเรื่องของพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล เพื่อแบ่งผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น และดูเหมือนว่ารัฐบาลนางสาวแพทองธาร บุตรสาวของอดีตนายกฯนายนั้น ก็ดำเนินนโยบายในลักษณะที่จะโอนอ่อนผ่อนปรนให้มีการเจรจาดังกล่าว แต่เนื่องจากเสียงคัดค้านของประชาชนคนไทยที่รักแผ่นดิน ตลอดจนนักวิชาการ รวมทั้งเหล่าทหารที่มีหน้าที่ปกป้องรักษาชาติได้ออกมารณรงค์ต่อสู้ ไม่ยอมให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ เรื่องจึงเงียบหายไป
น่าแปลกที่ว่าตลอดระยะเวลา ๘ ปี ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เขมรไม่ได้มีท่าทีที่จะทำการใดๆ อันเป็นเสมือนการรุกรานประเทศไทยเลย ทั้งที่ก่อนหน้านั้นใน
ปี พ.ศ.๒๕๕๔ ที่มีนายกฯหญิงคนแรกเกิดขึ้น ได้เกิดเหตุการณ์การรบต่อสู้ระหว่างทหารเขมรและทหารไทยที่ดูแลพื้นที่บริเวณปราสาทตาเมือนธม ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๘ แล้ว โดยเขมรได้ยกกำลังทหารบุกรุกเข้ามา จนเกิดการสูญเสียของทหารทั้งสองฝ่าย โดยเขมรเป็นฝ่ายสูญเสียมากกว่า
ในช่วงเวลาประมาณ ๒ เดือนที่ผ่านมานี้ได้มีข่าวเรื่องทหารเขมรพาประชาชนชาวเขมรจำนวนหนึ่งขึ้นมาบริเวณปราสาทตาเมือนธม และชักธงชาติตลอดจนร้องเพลงชาติเขมร ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะกระทำเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ทหารไทยบริเวณนั้นต้องดำเนินการขับไล่โดยสันติวิธี
หลังจากนั้นทหารเขมรก็มีพฤติกรรมในลักษณะยั่วยุมาโดยตลอด และยังคงนำประชาชนเขมรเข้ามาในบริเวณดังกล่าวเสมอ ตลอดจนสื่อในประเทศเขมรก็ได้ออกข่าวในลักษณะที่ทำให้ชาวเขมรเชื่อว่าปราสาทตาเมือนธมนั้นเป็นของเขมร
ทั้งๆ ที่ประเทศไทยถูกรุกราน แต่รัฐบาลไทยโดยรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ก็ยังคงให้ข่าวในลักษณะที่ว่าได้มีการเจรจากับฝ่ายเขมร และมีความเข้าใจกันดี โดยอ้างเอา MOU ๔๔ เรื่องเขตแดนที่ยังไม่ชัดเจนมาเป็นเหตุผลชี้แจงว่าทั้งสองฝ่าย จะต้องร่วมมือเจรจากันในการปักเขตแดน
ถึงกระนั้นกองกำลังทหารฝ่ายเขมรก็ยังคงปฏิบัติการในพื้นที่ดังกล่าว ไม่ใช่ในลักษณะของฉันมิตรแต่อย่างใด ทำให้กองทัพภาคที่ ๒ ต้องปฏิบัติการอย่างเข้มแข็งและเข้มงวดมากขึ้น
เพื่อปกป้องแผ่นดินไทยผืนนี้
และเมื่อเร็วๆ นี้ ก็มีข่าวเรื่องกองกำลังทหารเขมร ได้รุกรานชายแดนไทยบริเวณช่องบก จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีการขุดคูเล็ดหรือหลุมเพาะตลอดแนวด้วย
เป็นไปได้หรือไม่ว่า จากความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของอดีตนายกฯนักโทษชั้น ๑๔ กับผู้นำของเขมร จึงทำให้เขมรกล้าแสดงออกถึงพฤติกรรมที่พร้อมจะรุกรานประเทศไทยอยู่ตลอดเวลา
ก็ได้แต่หวังว่า รัฐบาลชุดนี้ซึ่งอ่อนแอในการบริหารบ้านเมืองเป็นอย่างมาก จะไม่อ่อนแอในการบริหารเรื่องความมั่นคงของชาติ รวมทั้งนโยบายต่างประเทศ หลงกลเจรจากับเขมรหรือดำเนินการใดๆ จนกระทั่งทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียดินแดนเพิ่มเติมให้กับเขมรอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวไทยผู้รักชาติคงไม่อาจจะอดทนกับรัฐบาลชุดนี้ได้อีกต่อไป
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี