nn ภาคการส่งออก...เครื่องยนต์ตัวใหญ่สุดที่จะขับเคลื่อนไทยดูเหมือนว่าจะหมดแรงแล้วที่ส่งให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีดังที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ เพราะจากตัวของ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดการณ์ว่าการส่งออกรวมทั้งปี 2566 อาจจะขยายได้แค่ 1% เพราะมีหลากหลายปัจจัยลบที่เข้ามาเป็นอุปสรรคสำคัญ เช่น 1.การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น ตลาดสหรัฐ ยุโรป และจีน ส่งผลให้อุปสงค์ของสินค้าและบริการปรับลดลง 2.อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และภาระต้นทุนการกู้เงินของผู้ประกอบการ3.ต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น 4.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตร และการขนส่ง
ขณะที่ตัวเลขล่าสุดคือเดือนกรกฎาคม 2566 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 22,143.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 6.2% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 764,444 ล้านบาท หดตัว 7.7% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่า การส่งออกในเดือนกรกฎาคมหดตัว 2.0%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 24,121.0 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 11.1% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 842,843 ล้านบาท หดตัว 12.5% ส่วนช่วง 7 เดือนแรก (มกราคม-กรกฎาคม) ของปี 2566 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 163,313.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 5.5% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 5,554,796 ล้านบาท หดตัว 3.8% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม-กรกฎาคม หดตัว 2.3%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 171,598.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 4.7% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 5,554,796 ล้านบาท หดตัว 3.8%
ในสภาพการณ์เช่นนี้ถ้าจะทำให้ภาคการส่งออกของไทยยังไปต่อได้ ก็ต้องเร่ง “ยกระดับความสามารถการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศ” ประกอบด้วย ลดต้นทุน ยกระดับประสิทธิภาพ และสร้างโอกาสทางการค้า ซึ่งทาง สรท.ก็ได้มีข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลรวม 10 ด้านด้วยกัน
ประกอบด้วย ด้านการศึกษาและการยกระดับฝีมือแรงงาน (Education andLabor Skill Development) 1.เร่งสนับสนุนงบประมาณเพื่อยกระดับฝีมือ (Upskill) และปรับเปลี่ยนทักษะฝีมือ (Reskill) ของแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม รวมถึงการทำ Internship Industry ร่วมกับบริษัทหรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความต้องการ 2.เร่งส่งเสริมและสนับสนุนทั้งด้านการเงินและการพัฒนาหน่วยงานหรือสถาบันฝึกอบรมของไทยได้รับการรับรองมาตรฐานสากล อาทิ ISO 29990 3.เร่งส่งเสริมการเพิ่มทักษะทางด้านภาษาต่างประเทศของแรงงาน4.เร่งพัฒนาวิทยากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและ Artificial Intelligent (AI)
ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology & Innovation) 1.เร่งส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล (Information Flow) ระหว่างรัฐและเอกชนผ่านแพลตฟอร์มการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Platform) และบริหาร Big Data เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการวางแผน 2.เร่งยกระดับการวิจัยและพัฒนา (R&D) ในภาคการผลิตและภาคการส่งออก 3.เร่งปรับการส่งเสริมการลงทุนโดยให้สิทธิประโยชน์ที่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการแต่ละราย (Tailor-Made) แทนการให้สิทธิประโยชน์เช่นเดียวกัน (One size fits all)
ด้านการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก (Competitiveness in Global Market) 1.เร่งรัดการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกในตลาดเป้าหมาย อาทิ ส่งเสริมการส่งออกข้าวไทยในตลาดตะวันออกกลาง ส่งเสริมการส่งออกผลไม้ในตลาดจีน ส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารในตลาดตะวันออกกลาง สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ส่งเสริมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ในตลาดอินเดียและตะวันออกกลาง ส่งเสริมการส่งออกยางพาราและยางล้อรถยนต์ ในตลาดจีนและกลุ่มประเทศ RCEP สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา 2.การพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของไทยต้องอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับทักษะฝีมือและผลิตภาพในการผลิตของแรงงาน 3.เร่งจัดหาแหล่งเงินทุน และอำนวยความสะดวกขั้นตอนการขอใบอนุญาต เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการสามารถปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4.เร่งลดต้นทุนการผลิตเพื่อรักษาความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะต้นทุนพลังงาน ค่าไฟฟ้า อัตราดอกเบี้ย ค่าจ้างขั้นต่ำ และ ชะลอการบังคับใช้กฎระเบียบที่อาจเป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ ฯลฯ
ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) 1.ส่งเสริมให้มีการลงทุนเพื่อใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและระบบ Artificial Intelligent ในการบริหารจัดการกิจกรรมในท่าเรือ รวมถึงการลงทุนในเครื่องมือบริหารจัดการหน้าท่าที่มีความทันสมัยและเป็นระบบอัตโนมัติ (Automation) 2.พิจารณาใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนที่มีอยู่ร่วมกัน อาทิ ท่าเรือ ลานกองตู้สินค้า สถานีบรรจุและคัดแยกสินค้ากล่อง ฯลฯ ด้านเสถียรภาพทางการเงิน(Financial Stability) 1.สนับสนุนให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ด้วย Supply Chain Financing 2.เร่งสร้างเสถียรภาพค่าเงินบาทเพื่อลดความเสี่ยงทางการเงินของผู้ประกอบการจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน อาทิ ส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ในการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ และใช้สกุลเงินต่างประเทศในการซื้อขายระหว่างซัพพลายเชนในประเทศ
ด้านความยั่งยืน (Sustainability) 1.ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และการพัฒนา Future Food 2.เร่งผลักดันการพัฒนาการขนส่งเพื่อสิ่งแวดล้อม อาทิ เร่งรัดโครงการ Green Port Initiative เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ เป็นต้น 3.เร่งสนับสนุนด้านการเงินเพื่อการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Financing) อาทิ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Interest Rate) สำหรับการเงินกู้เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตและกิจกรรมทางธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการใช้พลังงานและการปล่อยคาร์บอน ฯลฯ ด้านความเชื่อมโยงระดับภูมิภาค (Regionalization) 1.เร่งการเจรจาการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) และความตกลงทางการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจรูปแบบอื่น อาทิ Mini FTA, Mutual Recognition Agreement (MRA), หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ทั้งระดับทวิภาคี พหุภาคี และหน่วยงานระดับท้องถิ่น เพื่อลดความซับซ้อนและอุปสรรคในการเข้าถึงตลาดและแหล่งวัตถุดิบ ฯลฯ
ด้านโลจิสติกส์และการเชื่อมต่อในอาเซียน (Logistics and Connectivity in ASEAN) 1.ส่งเสริมให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นศูนย์กลางการถ่ายลำ (Transshipment Hub) 2.กำหนดมาตรการเพื่อส่งเสริมการขนส่งสินค้าหลายรูปแบบที่เชื่อมโยงในประเทศ 3.ขยายเวลาปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ณ ด่านศุลกากรสำคัญ อาทิ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือกรุงเทพ และด่านชายแดนสำคัญ ให้เป็น 7 วัน 24 ชั่วโมง และไม่คิดค่าล่วงเวลาจากผู้ใช้บริการ 4.สนับสนุนผู้ประกอบการสายการบินเพิ่มบริการขนส่งสินค้าทางอากาศแบบประจำเส้นทางโดยเครื่องบินขนส่งสินค้า 5.เร่งฟื้นการเจรจา Cross Border Transport Agreement (CBTA) เพื่อลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้าข้ามแดนผ่านแดน
ด้านการค้าดิจิทัล (Digital Trade) 1.เร่งพัฒนามาตรฐานธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมการทำธุรกิจและการค้าระหว่างประเทศให้อยู่ในรูปแบบ A Complete Digital Trading Process ทั้งในส่วนของรัฐและเอกชน 2.ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อลดต้นทุนของผู้ส่งออกในการเข้าสู่ E-Commerce Platform 3.พิจารณาลงทุน E-Commerce Super Platform ของไทย เพื่อเป็นช่องทางการนำเสนอและจัดจำหน่ายสินค้า 4.เร่งรัดการพัฒนาระบบ Port Community System (PCS) ให้พร้อมให้บริการ และต่อยอดให้เป็น Maritime Single Window (MSW) เพื่อเชื่อมโยงระบบการทำงานด้านเอกสารและระบบปฏิบัติของผู้เกี่ยวข้องให้เป็นหนึ่งเดียว 5.เร่งรัดการพัฒนาระบบ National Single Window (NSW) ให้สมบูรณ์และเป็น Single Submission ฯลฯ
ด้านกฎหมายและกฎระเบียบ (Laws & Regulations) 1.ผลักดันการจัดตั้ง Global Fair-Trade Committee on Maritime Transport ภายใต้องค์กรระหว่างประเทศ อาทิ องค์กรการค้าโลก หรือองค์กรทางทะเลระหว่างประเทศ เป็นต้น เพื่อเป็นเวทีสำหรับการหารือระหว่างผู้ส่งสินค้า (Shippers) และสายการเดินเรือ (Shipping Lines) ให้เกิดความเป็นธรรมในการกระทำการใดๆ ของสายเรือต่อผู้ใช้บริการ 2.ผลักดันการกำหนดเงื่อนไขการให้บริการและสัญญาการขนส่งของสายเรือให้เป็นธรรมและสอดคล้องกับการดำเนินงานตามข้อเสนอ 2022 Bill of Cargo Right Manifesto ของ Global Shippers’ Alliance (GSA) 3.ผลักดันให้ผู้ประกอบการส่งออกและผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าทางอากาศ ได้รับการรับรองเป็น Known Consignor และ Regulated Agent ตามมาตรฐานองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และมาตรฐานของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหภาพยุโรป 4.ปรับปรุงกฎระเบียบด้านผังเมืองให้สอดคล้องกับการลงทุนใหม่ 5.เร่งแก้ไขกฎหมายความสูงรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ และความสูงรถบรรทุกรถยนต์ (Car Carrier) ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และสอดคล้องกับข้อเท็จจริงการขนส่งทางถนนในปัจจุบัน
กระบองเพชร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี