อดีตนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร ผู้ซึ่งวันนี้ยังเก็บตัวเงียบนั้น ตามภาษาชาวบ้านก็ต้องบอกว่า ไม่รู้ไป“หลบซุกอยู่รูไหน” หลังจากฟ้าผ่าเปรี้ยงลงมา เมื่อแพทยสภามีมติจากการประชุมในวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา สั่งลงโทษแพทย์ 3 คน ที่ไปร่วมขบวนการ“โกหก”กับทักษิณกรณี“ป่วยทิพย์-ชั้น 14” โรงพยาบาลตำรวจนั้น เป็นคนที่อะไรสมประโยชน์แก่ตนเองก็จะฉวยโอกาสนั้นมาใช้
แต่อะไรที่ทำให้ตนเองเสียประโยชน์ หรือเสื่อมเสีย ประเภทคนจับได้ไล่ทัน หากไม่เฉไฉโดยอ้างว่า“จำไม่ได้” ก็มักจะ“หลบซุ่มอยู่ในที่มืด” รอเวลาเฝ้าดูสถานการณ์
“ทักษิณ ชินวัตร”เป็นตำรวจเก่า จบปริญญาเอกทางด้านอาชญาวิทยา จากมหาวิทยาลัยแซมฮิวสตันสเตต รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ชอบฉวยคำพูดของ“มงแต็สกีเยอ” (Montesquieu) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ที่เคยกล่าวไว้มาใช้เป็นวาทกรรมเสมอ เมื่อตนเองไม่ได้รับการเอื้อประโยชน์จากกระบวนการยุติธรรมที่เป็นคุณ-นั่นก็คือ
“ไม่มีความเลวร้ายใด ที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่าความเลวร้ายที่ได้กระทำ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย หรือในนามกระบวนการยุติธรรม”
“มงแต็สกีเยอ”เป็นนักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 ที่กำหนดแนวคิดการแบ่งแยกอำนาจปกครองสูงสุด หรืออำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 ฝ่าย คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อให้อำนาจแต่ละฝ่ายเกิดการถ่วงดุลและตรวจสอบซึ่งกันและกัน รวมทั้งเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้ปลอดจากการใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐ ที่อาจละเมิดหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน
อย่างไรก็ตาม คำพิพากษา“8 พฤษภาคม”ของแพทยสภา โดยสั่งลงโทษจริยธรรมของแพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ 3 คนนั้น ก็อยู่ในหลักการเดียวกับ “ไม่มีความเลวร้ายใด ที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่าความเลวร้าย ที่ได้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย หรือในนามกระบวนการยุติธรรม”
หากแต่การกระทำของแพทย์ 3 คนในกรณีนี้ ใช้“วิชาชีพเวชกรรม”ไปเอื้อประโยชน์โดยมิชอบให้แก่“ทักษิณ ชินวัตร” ในฐานะนักโทษคดีทุจริตโกงบ้านกินเมือง เพื่อหลีกเลี่ยงการติดคุกในเรือนจำ
น่าสังเวชใจก็ตรงที่ แพทย์ทั้ง 3 คนที่ถูกลงโทษนี้ ต้องพลอยเสื่อมเสียเกียรติยศและศักดิ์ศรี อันจะกระทบไปถึงครอบครัวและญาติพี่น้องในวงศ์ตระกูล ให้อัปยศอดสูอีกด้วย
ทั้งนี้ จากข่าวที่ยังไม่มีการเปิดเผยชื่อแพทย์ทั้ง 3 คนอย่างเป็นทางการ เนื่องจากต้องรอคำชี้ขาดของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษแห่งแพทยสภา ว่าจะเห็นด้วยหรือยับยั้งมติของแพทยสภานั้น ตามชื่อที่สำนักข่าว“อิศรา”ระบุไว้-ประกอบด้วย
1.พญ.รวมทิพย์ สุภานันท์ ในฐานะแพทย์ผู้ตรวจร่างกาย ขณะรับตัวผู้ต้องขังใหม่ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งโดนลงโทษตักเตือน เนื่องจากเขียนใบส่งตัวล่วงหน้า, 2.พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ปัจจุบันได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) และ 3.พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ คนปัจจุบัน ในฐานะผู้ออกใบความเห็นแพทย์
สำหรับ 2 คนหลัง คือ พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ และ พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ ถูกลงโทษสั่งพักใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือใบประกอบอาชีพแพทย์ ฐานให้ข้อมูลเอกสารทางการแพทย์ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง พูดง่ายๆ ก็คือ“โกหก” ให้หลักฐาน“เวชระเบียน”อันเป็นเท็จ
ส่วนจะโดนพักโทษกี่ปี หรือตลอดไปหรือไม่นั้น ต้องรอหลังจากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน มีความเห็นเป็นประการใด ถ้าเห็นด้วยตามมติของแพทยสภา ทางแพทยสภาก็จะเป็นผู้กำหนดระยะเวลาในการถูกสั่งพักใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม
หากจะว่าไปแล้ว คดี“ป่วยทิพย์-ชั้น 14”โรงพยาบาลตำรวจของอดีตนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร ถ้าเปรียบเป็นภาพยนตร์ ก็ต้องบอกว่าไม่ได้จบแบบ“แฮปปี้เอนดิ้ง” พอลงจากชั้น 14 ออกจากโรงพยาบาลตำรวจได้ก็เดินตัวปลิว ชนิดที่สันดานเดิมไม่ทิ้ง คุยโม้โอ้อวด-เก่งไปหมดทุกเรื่อง ปากคอระรายชวนหาเรื่องไม่เลือกหน้ากับผู้คนอีกต่างหาก แต่จบแบบต้อง“สยอง”ไปตามๆ กัน
เพราะจาก“สารตั้งต้น” โดยคำพิพากษา“8 พฤษภาคม”ของแพทยสภา ไม่เพียงแต่“ทักษิณ ชินวัตร”ที่มีแนวโน้มว่า จะต้องถูกสั่งกลับไปนอนคุกในเรือนจำ โดยคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทาง ซึ่งจะมีการไต่สวนคดีนัดแรกในวันที่ 13 มิถุนายนเดือนหน้าเท่านั้น
แต่ข้าราชการประจำอีก 12 คน ที่สังกัดกรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ ก็มีแนวโน้มว่าจะไม่รอดคุกด้วยอีกเช่นกัน โดยเวลานี้ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนคดี ในฐานความผิด เอื้อประโยชน์ให้“ทักษิณ ชินวัตร”หลีกเลี่ยงการต้องถูกคุมขังในเรือนจำจนกระทั่งครบ 180 วัน ทั้งที่ไม่ได้ป่วยวิกฤต อันเป็นการไต่สวนโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งหมดเป็นองค์คณะ ตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567
ผู้ที่อยู่ในข่ายความผิด 12 คน และยังอาจจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก ตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ซึ่งระบุว่า “หากในชั้นไต่สวนพบว่ามีบุคคลอื่นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ก็ให้ดำเนินการไต่สวนกับบุคคลดังกล่าวต่อไปด้วย”นั้น ประกอบด้วย
1.นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์, 2.นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์, 3.นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์, 4.นายนัสที ทองปลาด เมื่อครั้งเป็นผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร (เกษียณราชการ)
5.พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อครั้งเป็นนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ, 6.พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ, 7.พ.ต.อ.ชนะ จงโชคดี นายแพทย์ (สบ 5) โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเป็นแพทย์เจ้าของไข้ และผู้เป็นผู้ออกใบความเห็นแพทย์, 8.พล.ต.ต.สามารถ ม่วงศิริ แพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ผู้ออกใบความเห็นแพทย์, 9.นพ.วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์, 10.พญ.รวมทิพย์ สุภานันท์ แพทย์ผู้ตรวจร่างกายขณะรับตัวผู้ต้องขังใหม่, 11.นายสัญญา วงค์หินกอง พัศดีเวร เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และ12.นายธัญพิสิษฐ์ ขบวน พยาบาลเวร เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
ท้ายที่สุดแล้ว นอกจาก 12 คนดังกล่าว รวมทั้ง“ทักษิณ ชินวัตร” ก็คงจะต้องจับตาดูกันต่อไปด้วยว่า จะมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ“แพทองธาร ชินวัตร” ในฐานะนายกรัฐมนตรี เข้าไปเกี่ยวข้องในคดี“ป่วยทิพย์-ชั้น 14”ด้วยหรือไม่ ?!
รุ่งเรือง ปรีชากุล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี