การแถลงนโยบายกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่า มีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. ...โดยระบุว่า ผู้ที่ครอบครองยาบ้าหรือแอมเฟตามีนน้อยกว่า 10 เม็ด ให้ถือเป็น “ผู้เสพ” ที่ต้องได้รับการบำบัดในฐานะผู้ป่วย
แต่หากถือครองมากกว่า 10 เม็ดให้ถือเป็น “ผู้ค้า” ซึ่งจะต้องได้รับการบำบัดพร้อมกับการดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งผลักดันให้ก่อตั้งและเปิด “มินิธัญญารักษ์” (ศูนย์ย่อยบำบัดผู้เสพยา) 1 จังหวัด จะต้องมี มินิธัญญารักษ์รองรับ 1 แห่ง
การใช้จำนวน (เม็ดยาบ้า) เป็นเกณฑ์ ในการแยกแยะ ผู้เสพ กับผู้ค้า ออกจากกัน โดยวัตถุประสงค์เพื่อแยกผู้ค้าให้รับโทษทางกฎหมาย ในมุมมองของ สธ. เห็นว่า สธ.เป็นเพียงกลไกอันหนึ่งที่มีบทบาทในการนำผู้เสพมาบำบัดรักษาและฟื้นฟู เพราะถือว่าผู้เสพเป็นผู้ป่วย
ปัจจุบัน มีผู้ใช้ยาบ้าร่วมยาอื่นเข้าบำบัดรักษา 2,035 คน อายุน้อยสุด 0-14 ปี จำนวน 6 คน อายุ 15-19 ปีจำนวน 72 คน อายุ 20-24 ปี จำนวน 211 คน อายุ 25-29 ปี จำนวน 468 คน อายุ 30-34 ปี จำนวน 489 คน
อาชีพที่พบพฤติกรรมเสพยาบ้ามากสุด คือ ว่างงาน 879 คน รับจ้าง 794 คน ผู้เข้ารับการบำบัดครั้งแรก 1,238 คน มีการบำบัดซ้ำ 797 คน
ในภาพรวมมีผู้ใช้ยาเสพติดทั่วประเทศประมาณ 530,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้เสพที่มีอาการทางจิตเวช และอาจใช้ก่อเหตุความรุนแรง 32,623 คน แบ่งเป็น กลุ่มเฝ้าระวัง สูงสุด 1,963 คนกลุ่มเฝ้าระวังสูง 5,024 คน และกลุ่มเฝ้าระวังทั่วไป 25,636 คน จากข้อมูลสถิติของ สถาบันบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ตั้งแต่ ม.ค. - ต.ค. 2566
ในมุมมองจากประสบการณ์การปราบปรามของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกลไกปราบปรามยาเสพติด ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) เห็นพ้องร่วมกันว่า เพื่อให้การดำเนินการนำผู้ใช้ยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดโดยเร่งด่วนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามนโยบายสั่งการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) หากจะใช้จำนวนเม็ดยาบ้าเป็นเกณฑ์ เพื่อแบ่งผู้เสพ ออกจากผู้ค้า โดยพิจารณาร่วมกับพฤติกรรมของผู้เสพแล้ว จำนวนที่เหมาะสม ควรอยู่ที่ 5 เม็ดสำหรับผู้เสพ และมากกว่าจำนวนดังกล่าว ถือเป็นผู้ค้า เพื่อลดช่องโหว่ ตัดการสวมรอยผู้ค้ารายย่อย
ในมุมมองของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ผู้ต้องขังในคดียาเสพติด ตามรายงานสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์คดี พ.ร.บ.ยาเสพติดทั่วประเทศ ล่าสุด ณ วันที่ 1 พ.ย. 2566 มีจำนวน 204,147 คน (เป็นนักโทษเด็ดขาด 166,309 คน) คิดเป็น 75.06% ของผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศที่มีอยู่ 271,967 คน คดียาเสพติดยังเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 70- 80% ในทุกปี การใช้จำนวนเม็ดยาเป็นเกณฑ์ อาจจะยังคงผลักภาระทางการพิจารณาไปที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปราม (เจ้าหน้าที่ตำรวจและ ป.ป.ส.) และฝ่ายตุลาการยุติธรรม (ศาลยุติธรรม)
ขณะที่หน่วยงานทุกฝ่ายของประเทศไทยกำลังพยายามอย่างหนักที่จะหาแนวทางการในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดโดยเฉพาะยาบ้า ที่ดูราวกับว่า จะเป็นแนวทางที่ออกจะเสี่ยงกับการแพร่ระบาดของสารเสพติดชนิดนี้ไปอย่างไม่อาจควบคุมได้ ทว่าแนวนโยบายนี้ไม่ใช่แนวนโยบายที่ไร้เหตุผลเสียทีเดียว เมื่อเทียบกับแนว “นโยบายการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติด (Decriminalization on Drug)”
ที่ประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสนใจมาปรับใช้
ปัญหายาเสพติด มิได้มีแต่เฉพาะประเทศไทย แต่ยังเป็นปัญหาของทุกประเทศทั่วโลก แนวทางการขจัดปัญหายาเสพติดทั่วโลกที่เดิมเชื่อว่า จะขจัดยาเสพติดและสารพัดปัญหาที่ตามมาจากยาเสพติดให้หมดสิ้นลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือการทำ“สงครามยาเสพติด” (War on Drug) การเสพ ครอบครอง และขายยาเสพติดทุกชนิดถือเป็น “อาชญากรรมร้ายแรง” ต้องปราบปรามและคาดโทษให้หนัก เพื่อสร้างความหวั่นเกรงต่อโทษจากการละเมิดกฎหมาย แต่แนวโน้มปัญหายาเสพติดมิได้ลดลงเลย
ปัจจุบัน ทั่วโลกได้พยายามปรับเปลี่ยนเป็น“นโยบายการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติด” (Decriminalization on Drug) คือ การปรับเปลี่ยนมาตรการทางกฎหมายต่อผู้เสพรายย่อย เปลี่ยนจากการลงโทษทางอาญาที่เน้นการคุมขังไปใช้มาตรการทางแพ่ง มาตรการทางการปกครอง หรือมาตรการสังคมสงเคราะห์ เพื่อมุ่งเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้สารเสพติด ขณะที่ยังเน้นมุ่งกำหนดโทษอาญาต่อผู้ค้ารายใหญ่และขบวนการค้ายาเพื่อทลายต้นทางของยาเสพติดที่แท้จริง นโยบายนี้คือ การลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติด เปลี่ยนมุมมองปัญหายาเสพติดจาก “ปัญหาอาชญากรรม” ไปสู่ “ปัญหาสุขภาพ” เพื่อลดผู้ใช้สารเสพติดและเปิดโอกาสให้ผู้พึ่งพาสารเสพติดสามารถอยู่ร่วมหรือกลับเข้าสู่สังคมได้อีกครั้งหนึ่ง โยกความรับผิดชอบและงบประมาณจากกระทรวงยุติธรรมไปสู่กระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานทางด้านสังคมมากขึ้น
ประเทศโปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ และสาธารณรัฐเช็กเป็นประเทศตัวอย่างที่ต่างเลือกใช้กลไกแนวนโยบายนี้ ในการแก้ปัญหายาเสพติดภายในประเทศ โดยเลี่ยงมาตรการการลงโทษอย่างรุนแรงและเปิดโอกาสในการบำบัด ปรับเปลี่ยน และฟื้นฟูแทนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ด้วยแผนการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าจะได้รับการคัดค้านถึงความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จในช่วงเริ่มแรก
แต่ผลลัพธ์ที่ออกมา สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากการใช้สารเสพติดเกินขนาด รวมถึงอัตราผู้ติดเชื้อ HIV จากการเสพยาได้อย่างมาก โดยมีผู้ใช้สารเสพติดเข้ารับบริการในโปรแกรมลดความอันตรายจากการเสพยาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนผู้เข้ารับกระบวนการบำบัดฟื้นฟูก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นในระยะแรก
สำหรับประเทศไทย เกณฑ์จำนวนเม็ดยาที่กำหนดแบ่งแยก ใครเป็นผู้เสพ หรือใครเป็นผู้ค้า (กำหนดจำนวน 5 เม็ด) อย่างเดียวโดยปราศจากเงื่อนไขอื่นประกอบ
อาจจะไม่เพียงพอ ควรต้องมีประวัติการรักษาว่าเป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา ประกอบ จึงจะถือว่าเป็นเพียงผู้เสพ ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่กำลังอยู่ในระยะบำบัด หรืออาจประกาศให้ใช้สารบำบัดอื่นแทน การครอบครองยาเสพติด (ยาบ้า) เพื่อเป็นการจำกัดขอบเขตให้ยาเสพติดชนิดนี้ให้ลดลง หรือหากยังคงกำหนดให้มียาเสพติด(ยาบ้า)ในครอบครองได้ ไม่ว่าจะจำนวนเท่าใด เท่ากับยอมรับโดยปริยายว่า ยาบ้า เป็นสิ่งที่จำเป็น ที่ยังคงต้องยอมให้มีในครอบครองได้เพื่อการบำบัดรักษาอยู่ต่อไปซึ่งควรจะกำหนดเงื่อนไขมาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพ ส่วนผสมของยาเสพติด(ยาบ้า) เพื่อมิให้มีการนำสารเคมีชนิดทำลายจิตประสาทถาวรมาปลอมปนด้วย เพื่อให้เป็นไปตามแนวนโยบายลดทอนดังกล่าว
นโยบายเกี่ยวกับจำนวนเม็ดยาบ้า หรือยาเสพติด จึงควรพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี