ปัญหายาเสพติด ส่งผลเสียร้ายแรงไม่เพียงต่อสุขภาพของผู้เสพที่เป็นเหยื่อเองเท่านั้น แต่ยังส่งผลร้ายต่อความสัมพันธ์ครอบครัวของเหยื่อ ลุกลามไปถึงสังคมส่วนรวมโดยรอบด้านที่เหยื่ออยู่อาศัย
เมื่อยาเสพติดระบาดแพร่กระจายขยายวงกว้าง จะลุกลามเป็นปัญหาด้านสภาพเศรษฐกิจอันสืบเนื่องมาจากระดับคุณภาพของประชากรในประเทศ ซึ่งลดต่ำลงเรื่อยๆ ผกผันเป็นอัตราส่วนกลับกับระดับความรุนแรงของระบาดของยาเสพติด เนื่องจากเงินตราที่ได้มาจะถูกนำไปใช้ซื้อหายาเสพติดเพื่อเสพและงบประมาณของประเทศส่วนใหญ่จะต้องทุ่มไปที่การป้องกันและปราบปราม และการฟื้นฟูสุขภาพของเหยื่อแทนการพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อการเจริญเติบโตของประเทศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
รัฐบาลในประเทศต่างๆทั่วโลก รวมถึงรัฐบาลไทย ตระหนักถึงปัญหานี้เป็นอย่างดี และพยายามอย่างหนักที่จะขจัดปัญหาดังกล่าว ทว่าแนวโน้มของปัญหาการระบาดก็มิได้มีทีท่าจะลดลงเลย
ประเทศโปรตุเกส ได้รับการยอมรับว่า ประสบความสำเร็จในการบังคับใช้มาตรการตาม “นโยบายการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติด” (Decriminalization on Drug) ในการลดปัญหายาเสพติดที่แพร่ระบาดภายในประเทศในลำดับต้นๆ โดยมาตรการตามนโยบายดังกล่าวคือ การทําให้การเสพยาเสพติดไม่ถือเป็นความผิดทางอาญา (Decriminalization) และผู้เสพยาเสพติดไม่ต้องรับโทษทางอาญา
(Depenalization)
ประเทศไทยได้บังคับใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ซึ่งมีเนื้อหาบริบทกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะบุคคลและหน่วยงานรัฐให้มีความชัดเจนในการป้องกันและปราบปรามปัญหายาเสพติดที่แพร่ระบาดในประเทศ และให้อำนาจรัฐบาลออกกฎกระทรวง ซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรอง ที่ระบุถึงในส่วนรายละเอียดเกี่ยวข้อง เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ใช้ปฏิบัติ
ประเด็นที่ทุกฝ่าย ต่างมุ่งให้ความสนใจ และเป็นที่ถกเถียงคือ “นโยบายเชิงลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติด” ของประเทศไทย ซึ่งเป็นนโยบายประยุกต์จากแนวคิดของนโยบายการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติด โดยการทำให้ผู้เสพยาเสพติดไม่ถือเป็นความผิดทางอาญาที่ต้องได้รับโทษทางอาญาตามกระบวนการยุติธรรมปกติ (Depenalization) เพื่อป้องกันและปราบปรามปัญหายาเสพติด
ให้มีผลต่อเนื่องในระยะยาว
หลักการของนโยบายคือ การแยก “ผู้เสพยา” และ “ผู้ค้ายา” ออกจากกัน ในมุมมองที่ว่าผู้เสพยา ถือเป็น ผู้ป่วย เสมือนเหยื่อของผู้ค้ายา ซึ่งเป็นฝ่ายรับผลประโยชน์จากการค้าผิดกฎหมาย โดยอาศัย อาการติดยาเสพติดของเหยื่อผู้เสพยา เป็นเสมือนตลาดผูกขาด
แนวปฏิบัติภายใต้นโยบายนี้ คือการใช้เกณฑ์จำนวนเม็ดยา (เทียบเท่าปริมาณยาซึ่งระบุไว้ในกฎหมายลำดับรองหรือกระทรวง) ที่ผู้ถูกกล่าวหาถือครองเพื่อขจัดปัญหาความรุนแรงของการลงโทษทางอาญา ของบุคคลทั้งสองประเภทออกจากกัน มิให้เกิดการ
กระทำผิดซ้ำ และสามารถฟื้นฟูให้กับมาอยู่ร่วมในสังคมไทยได้อย่างเป็นปกติตามนโยบายสังคมปลอดยาเสพติด
รัฐบาลได้อาศัยอำนาจ ตามมาตรา 24 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และมาตรา 107 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ออกกฎกระทรวง ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 กำหนดปริมาณยาเสพติด ให้สันนิษฐานว่า มีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ ยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด เฮโรอีนไม่เกิน 300 มิลลิกรัม
หลังจากที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ ได้มีผู้แสดงความคิดเห็นอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการให้โอกาสเอื้อแก่ผู้ที่เสพยาเสพติดและค้ายาเสพติด มากเกินไปหรือไม่
รัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้พยายามชี้แจงว่า กฎกระทรวง ที่มีผลบังคับใช้นี้ เป็นเพียงข้อสันนิษฐานทางกฎหมายเท่านั้น แม้ว่าผู้ที่ครอบครองยาเสพติดจะมีปริมาณเท่าที่กฎหมายกำหนดไว้ในข้อสันนิษฐาน เช่น มียาบ้า 5 เม็ด เฮโรอีน 300 มิลลิกรัม แต่หากมีพฤติการณ์เป็นที่ชัดเจนว่า เป็นผู้ค้ายาเสพติด เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องสามารถดำเนินคดีในฐานะผู้ค้ายาเสพติดได้ และหากผู้ที่ครอบครองยาเสพติดในปริมาณดังกล่าว ไม่ยินยอมเข้ารับการบำบัด อาจถือได้ว่าผู้ครอบครองยาเสพติดนั้น เป็นผู้ค้ายาเสพติดได้
แม้คำแถลงหรือคำชี้แจงดังกล่าว จะดูดีมีเหตุผล ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า เป็นการเปิดช่องทางให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ ใช้ดุลพินิจมากเกินไปหรือไม่ จะเป็นช่องทางให้เรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบหรือไม่ เพื่อให้ผู้ค้ายาเสพติดกลายสภาพเป็นผู้เสพยาเสพติด และต้องได้รับการบำบัด
รัฐบาลควรจะให้ความมั่นใจกับประชาชนว่า จะมีการตรวจสอบและคานอำนาจเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร เพื่อให้ปัญหายาเสพติด ไม่สามารถอาศัยช่องว่างของกฎกระทรวงนี้ เพื่อหลุดพ้นความผิดตามกฎหมาย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี