บิตคอยน์ เป็นเงินสกุลดิจิทัลสกุลแรกที่ถูกสร้างขึ้นมาบนโลก โดยจุดมุ่งหมาย ให้เป็นสื่อกลาง สามารถใช้แลกเปลี่ยน ซื้อขายกันได้อย่างอิสระ
การโอนเงินหรือชำระเงินบิตคอยน์ โดยผ่านระบบ Blockchain เข้ารหัสเป็นบิตคอยน์ ด้วยการ Decentralize ให้ทุกธุรกรรมถูกตรวจสอบจากคอมพิวเตอร์ทั่วทุกมุมโลกผ่านการขุด เหมืองบิตคอยน์(Mining) โดยมี Bitcoin เป็นผลผลิตแทนที่จะเป็นการควบคุมจากใครหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง (สถาบันการเงินหรือองค์กรผู้มีอำนาจควบคุมเงินตราอย่างที่เป็นอยู่เดิม)
ระบบของบิตคอยน์เป็นระบบกลไกที่ตัดหน้าที่ของตัวกลางออก แล้วให้ทุกๆ คนสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ได้โดยตรงได้ และทุกคนที่อยู่ในระบบ ยังสามารถอ้างเป็นพยานว่ามีการทำธุรกรรมเกิดขึ้นจริงๆ นั้นด้วยฮาร์ดแวร์หน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นกลไกควบคุมขั้นตอนและระบบการทำงานและประมวลผลแก้สมการคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนเพื่อให้ได้ บิตคอยน์ (ปัจจุบันมูลค่า 1 บิตคอยน์ มีค่าประมาณ 2,459,627.07 บาท) ซึ่งต้องใช้พลังงานจากไฟฟ้าในปริมาณมากในการทำงาน
ผู้ที่อยู่ในวงการเทคโนโลยี ประมาณการว่า แม้นักขุดทุกคนจะใช้อุปกรณ์ทันสมัยเพียงใด ต้องใช้ไฟฟ้าประมาณไม่น้อยกว่า 166.7 เมกะวัตต์ในการขุดเพื่อให้ได้เหรียญบิตคอยน์ และยิ่งมีการทำเหมืองขุดบิตคอยน์มากเท่าใด ยิ่งเกิดการแข่งขัน แย่งชิงบิตคอยน์จากบรรดาเหล่าคู่แข่งมากขึ้น การขุดเพื่อให้ได้บิตคอยน์จะยากขึ้น และยิ่งต้องใช้พลังงานมากขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะการขุดในพื้นที่ที่ราคาไฟฟ้าแพง และภูมิภาคที่มีอากาศร้อน จะทำให้ต้นทุนค่าพลังงานไฟฟ้าที่ใช้สูงเกินกำไรได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่การขุดในพื้นที่ที่ราคาไฟฟ้าถูกกว่า จะมีข้อได้เปรียบมาก จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ในบ้านเรา จะมีนักขุดที่ละโมบ ลักไฟฟ้ามาใช้เพื่อประโยชน์ของตัวเอง
พฤติกรรมของนักขุดบิตคอยน์ผู้ละโมบมักที่จะต่อสายตรงจากหม้อแปลงจ่ายไฟเข้าใช้สถานที่ตั้งเครื่องอุปกรณ์ คอมพิวเตอร์แบบแนบเนียน โดยไม่ผ่านเครื่องมิเตอร์ตรวจวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้า ดังที่เกิดเป็นคดีลักทรัพย์ ที่เป็นการลักกระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้า ทั้งการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ทางการไฟฟ้ามักจะตรวจจับได้จากปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่สูงผิดปกติจากการใช้งานในพื้นที่ จนตามมาด้วยการจับกุม แจ้งความดำเนินคดีผู้กระทำในข้อหาลักทรัพย์ ซึ่งมีโทษจำคุก และเสียค่าปรับไปตามกระบวนการยุติธรรมในอดีต การลักทรัพย์ ซึ่งเป็นการลักกระแสไฟฟ้า หรือพลังงานไฟฟ้าเป็นปัญหาในการตีความตามกฎหมายอาญาว่า พลังงานกระแสไฟฟ้านั้น ถือเป็น ทรัพย์ ตามคำนิยามของกฎหมายอาญาหรือไม่ เพราะไฟฟ้าเป็นพลังงาน ซึ่งไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ แต่มีมูลค่าจากต้นทุนการก่อให้เกิดเป็นพลังงานไฟฟ้า และการจัดการจ่ายเพื่อให้ใช้เป็นพลังงานแก่อุปกรณ์หรือเครื่องจักรต่างๆ ให้สามารถทำงานและสร้างผลผลิตแก่ผู้ใช้ได้ เฉกเช่น การขุดเพื่อให้ได้มาซึ่งบิตคอยน์เช่นกัน
แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 877/2501 (ประชุมใหญ่) ถือได้ว่า เป็นบรรทัดฐานที่นำมาใช้เป็นแนวตีความในการตัดสินลงโทษผู้กระทำผิดอาญาฐานลักทรัพย์พลังงานกระแสไฟฟ้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 หรือ 335 แล้วแต่กรณี ซึ่งปรากฏเป็นแนวพิพากษาลงโทษผู้กระทำตามความผิดอาญาฐานลักทรัพย์พลังงานไม่มีรูปร่าง(สัญญาณโทรศัพท์หรือคลื่นความถี่ แนวฎีกา 1880/2542)ด้วยเหตุผลลักษณะเดียวกันในเวลาต่อมา (แนวฎีกา 1880/2542)(ฏ.2286/2545,ฎ.6384/2547,ฎ.481/2549) ทั้งนี้ โดยมีเหตุผลว่า การลักทรัพย์ มิได้หมายถึงเพียงแค่ทรัพย์ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือสัมผัสได้เท่านั้น
ปัญหาประเด็นนี้ ใช่ว่าจะเป็นปัญหาเพียงประเทศไทยเท่านั้น การลักลอบใช้กระแสไฟฟ้า หรือลักทรัพย์กระแสไฟฟ้าในต่างประเทศได้เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law) อาทิ ประเทศเยอรมนี ประเทศฝรั่งเศส หรือประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายคำพิพากษา (Common Law) อาทิ ประเทศอังกฤษ ต่างได้แก้ไขโดยบทบัญญัติกฎหมายในเรื่องนี้เป็นลายลักษณ์อักษรในเวลาต่อมา
ในประเทศเยอรมนี ได้มีการบัญญัติความผิดฐานลักลอบใช้กระแสไฟฟ้า แยกเป็นความผิดฐานหนึ่งในประมวลกฎหมายอาญา หรือในประเทศฝรั่งเศสที่เห็นว่าการลักลอบใช้กระแสไฟฟ้าให้ถือเป็นความผิดอาญาเช่นเดียวกับความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งได้มีการบัญญัติเรื่องดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรไว้อย่างชัดเจน รวมไปถึงประเทศอังกฤษ ที่ออกบทบัญญัติให้การลักลอบใช้กระแสไฟฟ้าเป็นความผิดฐาน Abstract of Electricity เป็นความผิดอาญาเฉพาะไว้ ใน Theft Act 1968
การทำเหมืองบิตคอยน์ เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ที่สนใจ และสามารถทำกำไรได้อย่างมหาศาล ยิ่งบิตคอยน์ ที่กำลังขุดกันอย่างบ้าคลั่งในขณะนี้ กำลังจะถึงจำนวนเหรียญบิตคอยน์สูงสุด ซึ่งจำกัดจำนวนเหรียญบิตคอยน์ไว้ มูลค่าของเหรียญบิตคอยน์ ยิ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
การทำเมืองขุดบิตคอยน์ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายแต่ต้องทำให้ถูกต้อง ไม่เบียดเบียนใคร และไม่ลักทรัพย์ที่เป็นกระแสไฟฟ้าจากทางราชการ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี