กากแคดเมียมจากโรงงานขนาดใหญ่ที่ถูกฝังกลบทำลาย ตามที่ได้รับอนุญาตในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่จังหวัดตาก ได้ถูกลักลอบขาย จำนวนกว่า 15,000 ตันโดยการขุด และขนย้ายมาที่โรงงานในสมุทรสาคร ซึ่งประกอบกิจการหลอมหล่ออะลูมิเนียมแท่ง อะลูมิเนียมเม็ด จากเศษอะลูมิเนียม และตะกรันอะลูมิเนียม บางส่วนขนย้ายไปโรงงานในชลบุรี และโรงงานในกรุงเทพมหานคร
มูลค่าการซื้อขายกากแคดเมียมรวมทั้งค่านายหน้า มีมูลค่าสูงนับพันล้านบาท เพราะเมื่อนำไปแปรรูปและส่งขายประเทศที่สาม จะมีกำไรอีกหลายเท่าตัว
ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครได้ประกาศให้ท้องที่ตั้งโรงงานที่เก็บกากแคดเมียม เป็นเขตภัยพิบัติ และห้ามโรงงานทำการนำมาหลอมผลิตทางอุตสาหกรรม เจ้าของกิจการถูกดำเนินคดีข้อหาครอบครองวัตถุสารอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมทั้งสั่งอายัดโกดังดังกล่าว ห้ามผู้ไม่มีส่วนเข้าออก เพื่อรอการจัดการสารแคดเมียมทั้งหมด ส่วนกากแคดเมียมที่ต้นทางในจังหวัดตาก สำนักงานอุตสาหกรรมได้ตรวจสอบและมีคำสั่งอายัดไว้แล้ว ส่วนโรงงานอื่นได้ถูกทยอยประกาศเป็นเขตภัยพิบัติเช่นกัน
“แคดเมียม” (Cadmium) เป็นธาตุที่มีสถานะเป็นโลหะ สัญลักษณ์ตามตารางธาตุ คือ Cd ที่ไม่ละลายน้ำเมื่ออยู่โมเลกุลเดี่ยวๆ แต่เมื่อจับตัวกับธาตุอื่น อยู่รวมเป็นสารประกอบในสภาวะเสถียร จะละลายน้ำได้ดี (เช่น แคดเมียม คลอไรด์ (CdCl2)เป็นสารพลอยได้ที่เกิดจากอุตสาหกรรมถลุงสังกะสี ทองแดงและตะกั่ว แคดเมียมในประเทศไทยเกิดจากผลพลอยได้ของอุตสาหกรรมถลุงสังกะสี โรงงานผลิตสังกะสีตั้งอยู่ในจังหวัดตาก ซึ่งไม่เพียงพอต่อการประกอบกิจการอุตสาหกรรมการผลิต ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งจำจะต้องใช้สารประกอบแคดเมียมในการชุบเคลือบบรรดาโลหะที่ใช้เป็นส่วนประกอบ เพื่อความแข็งแรงและคงทน หรือผลิตเม็ดสีสร้างความสวยงามในอุตสาหกรรมเซรามิก หรืออุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ และโดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ต่างๆ ในประเทศไทย
ตามกฎหมายประเทศไทย ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกากอุตสาหกรรมมีอยู่ 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มีหลักการกล่าวโดยสรุปได้ว่า ผู้ก่อให้เกิดของเสียต้องเป็นผู้รับผิดชอบในกากอุตสาหกรรมของเสีย จนกว่าผู้รับกำจัดจะดำเนินการจัดการของเสียได้อย่างถูกต้อง
ตามกฎหมาย ดังนั้น หากผู้รับกำจัดนำของเสียของผู้ก่อให้เกิดของเสียไปทิ้งอย่างผิดกฎหมาย ไม่ว่าด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม ผู้ก่อให้เกิดจะมีความผิดไปด้วย
การประกอบกิจการของผู้ก่อให้เกิดของเสียและผู้รับกำจัดนั้น จะต้องได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหากของเสียเหล่านั้นถือเป็นวัตถุอันตราย พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535(โดยเฉพาะสารประกอบแคดเมียม ซึ่งอาจจัดเป็นวัตถุอันตรายตามบัญชี ที่ 5.6 ตามประกาศ อก. เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ฉบับที่ 2 พ.ศ.2558 ซึ่งการขจัดเป็นกากของเสียโดยวิธีการฝังกลบ จะต้องมีรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมาประกอบ) หากมีไว้ในครอบครอง ไม่ว่าจะเพื่อใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการอุตสาหกรรม หรือครอบครองไว้เพื่อกำจัดก็ตาม ทั้งการใช้ประโยชน์ หรือกำจัดจะต้องเป็นไปตามมาตรการควบคุมดูแลอย่างเหมาะสม จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเสียหาย และเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณรัศมีโดยรอบ
ตามประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นได้มีการแพร่กระจายสารพิษที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม จนก่อให้เกิด “โรคอิไต อิไต” ซึ่งปรากฏขึ้นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น แถบแม่น้ำ จินสุ เขตโตยาม่า เนื่องมาจากมีการทิ้งกากแร่จากการทำเหมืองสังกะสีลงในแม่น้ำสายนี้กากแร่ดังกล่าวนี้มีแคดเมียมปนเปื้อนอยู่ ทำให้ชาวบ้านที่ใช้น้ำจากแม่น้ำหรือได้รับแคดเมียมทางอ้อมจากแม่น้ำ เกิดเป็นโรคไต กระดูกผุ เจ็บปวดบริเวณหลัง และเอวอย่างรุนแรงมาก ทุกข์ทรมานสาหัส และเด็กเล็กพิการในอัตราสูงผิดปกติจนน่าสลดใจ
กรณี “โรคมินามาตะ” ที่โรงงานผลิตสารเคมีขนาดใหญ่ลักลอบปล่อยสารปรอท ที่เป็นกากอุตสาหกรรมลงอ่าวมินามาตะ ในจังหวัดคูมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปลาที่อยู่ในอ่าวได้รับสารปรอท ชาวประมงได้จับปลาในอ่าวมาขายต่อให้ชาวบ้าน ชาวบ้านที่ทานปลาจึงได้รับสารปรอท มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง แขนขาเคลื่อนไหวลำบาก มีการกระตุกตัวแข็ง แขนขาบิดงออย่างรุนแรง รวมถึงมีอาการวิกลจริตแบบอ่อนๆ
ทำให้เกิดคำถามว่า เหตุใดกากแคดเมียมที่ถูกกำจัดด้วยการฝังกลบแล้ว (ตามที่ได้รับอนุญาตในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่จังหวัดตาก) จึงถูกขุดขึ้นมาขายเป็นจำนวนมากถึง 15,000 ตัน และยังสามารถขนย้ายข้ามจังหวัดซึ่งมีระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร กระทำได้อย่างไร หากไม่มีผู้ร่วมกระทำความผิดกันหลายคน และกระทำกันเป็นกระบวนการโดยแบ่งหน้าที่กันทำ
การที่ผู้รับจ้างกำจัดกากหรือสารหรือขยะพิษ ได้รับเงินค่าจ้างแล้วกลับไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตน หมกหรือเก็บสารพิษดังกล่าวโดยไม่คำนึงถึงผลเสียและอันตราย ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และมีหลายคดี ค่าใช้จ่ายสำหรับการกำจัดสารพิษ และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในภายหลังจะสูงมาก ผู้ที่กระทำความผิดเองก็ไม่สามารถชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้ ส่วนใหญ่จะติดตามตัวให้มารับผิดชอบไม่ได้กลับกลายเป็นภาระของสังคมส่วนรวม
กรณีปัญหาสารพิษและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพราะกฎหมายไม่เข้มแข็ง หรือล้าสมัยแต่เป็นเพราะจิตสำนึกในความรับผิดชอบบกพร่อง และการย่อหย่อนในการรักษากฎหมาย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี