ภูเก็ต เมืองแหล่งท่องเที่ยวของไทย เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ ตามสถิติของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในเดือนมกราคม 2567 มีนักท่องเที่ยวมาเยือน 1,204,813 คนมีเงินสะพัด 4 หมื่นล้านบาท และมีคดีความแจ้งความที่สถานีตำรวจ ประมาณ 400 คดี
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2567 ที่ภูเก็ต ได้เกิดกรณีนักท่องเที่ยวรัสเซีย ชายหญิง ทานอาหารในร้านอาหาร แถวย่านตำบลไม้ขาว แต่จ่ายค่าอาหารไม่ครบ โดยจ่ายขาดไป 120 บาท เจ้าของร้านได้ทวงถามขณะกำลังจะเดินออกไปจากร้าน แต่ไม่ยอมจ่าย จนเกิดปากเสียงท้าทายให้แจ้งความต่อตำรวจ ตำรวจในท้องที่ได้เข้าไกล่เกลี่ย ส่วนลูกค้ารายอื่นๆพากันเดินออกจากร้านหมด ถึงขั้นต้องปิดร้าน
ตำรวจท้องที่ไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ เพราะนักท่องเที่ยวไม่ยอมชำระเงินให้ครบ ยืนยันจะจ่ายเพิ่มอีกเพียง 100 บาท ส่วนที่ยังขาดอยู่ 20 บาท นักท่องเที่ยวอ้างว่า จ่ายเงินครบหมดแล้ว เจ้าของร้านได้เรียกค่าเสียเวลาไป 10,000 บาท และเงินที่ยังจ่ายไม่ครบอีก 120 บาท
เจ้าของร้านขอให้ตำรวจดำเนินคดีกับนักท่องเที่ยวทั้งสองฐานจ่ายค่าอาหารไม่ครบและทำให้ร้านขาดรายได้จากการที่มีเรื่อง แต่ตำรวจที่มาไกล่เกลี่ย กลับแจ้งว่า ให้ทั้งสองฝ่ายไปเจรจา และคุยกันเองโดยปฏิเสธการดำเนินการใดๆ ที่โรงพัก และมีความเห็นว่า นักท่องเที่ยวทั้งสอง ไม่มีความผิด จึงทำอะไรไม่ได้ หากเจ้าของร้านประสงค์จะเอาเรื่องดำเนินคดี ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ต้องให้ทนายความดำเนินการให้เอง
ตำรวจอาจมีความเห็นว่า เป็นเรื่องเล็กน้อย จำนวนเงินที่พิพาทเป็นปัญหากัน เป็นเงินเพียงไม่กี่บาท ความจริงแล้วเจ้าของร้านไม่ได้ติดใจจำนวนเงิน 120 บาท แต่ที่ยอมเสียเวลาไปแจ้งความ เพราะไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก โดยเฉพาะไม่ต้องการให้ร้านอาหารอื่นต้องประสบปัญหาเช่นเดียวกัน
หากพิจารณาทางด้านผลกระทบต่อส่วนรวมนักท่องเที่ยวทั้งสองมีพฤติกรรมกระทำผิดกฎหมาย สมควรที่จะได้รับการลงโทษตามกฎหมายไทย หากไม่ดำเนินการตามกฎหมายไทย เท่ากับยอมให้นักท่องเที่ยวเหล่านี้ กระทำการใดๆตามอำเภอใจ โดยไม่เกรงกลัวกฎหมายไทย
ประมวลกฎหมายอาญาของไทย บทบัญญัติ มาตรา 345 “ผู้ใดสั่งซื้อและบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่ม หรือเข้าอยู่ในโรงแรม โดยรู้ว่าตนไม่สามารถชำระเงินค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม หรือค่าอยู่ในโรงแรมนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ถือเป็นความผิดคดีอาญาที่สามารถดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 984/2529
พฤติกรรมลักษณะนี้เรียกว่า “ความผิดฐานการฉ้อโกงบริการ” เป็นลักษณะหนึ่งของความผิดฐานฉ้อโกงเฉพาะกรณี เทียบเคียงกับในต่างประเทศ เช่น ความผิดฐานได้รับบริการโดยทุจริตตามมาตรา 11 กฎหมายฉ้อโกง 2006 (Fraud Act 2006) ของประเทศอังกฤษ หรือความผิดฐานแสวงหาประโยชน์จากการใช้บริการโดยมิชอบ(Theft of Services) ตามมาตรา 223.7 ประมวลกฎหมายอาญา (Model Penal Code) ของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ในอดีตประเทศไทยเคยมีนักกินระดับตำนาน ชื่อนายโพธิ์เงิน กระตุกฤกษ์ ที่เข้าไปใช้บริการภัตตาคารและโรงแรมหรู สั่งอาหารทานเต็มที่ แต่ไม่ชำระเงิน ต้องได้รับโทษตามกฎหมายอาญาดังกล่าว จนภัตตาคารและโรงแรมหลายแห่งจำชื่อและจำหน้าได้ ไม่ยอมให้เข้าใช้บริการอีก
กรณีที่เกิดขึ้นที่ภูเก็ต ตำรวจไม่ยอมดำเนินการให้ อาจเป็นเพราะไม่ทราบว่า มีข้อกฎหมายในประเด็นเรื่องนี้ที่บัญญัติไว้ให้เป็นความผิด จึงไม่ดำเนินการให้ แต่หากตำรวจเห็นว่าเป็นเรื่องเพียงเล็กน้อยไม่สมควรรับเรื่องไว้ดำเนินการเป็นคดี อาจมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายได้
สิ่งสำคัญคือ การใช้บังคับกฎหมาย ต้องบังคับใช้อย่างเป็นธรรม เท่าเทียมกันทุกคนโดยไม่ละเว้น และไม่ต้องเกรงใจว่า เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะการกระทำความผิดในลักษณะเช่นนี้ เป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี