ร้านครูสายฐิพย์ อาหารไทยพื้นบ้านปักษ์ใต้ในบรรยากาศสวนสวยแสนอบอุ่น เหมือนมากินอาหารรสมือแม่ในสวนกลางเมืองย่านลาดพร้าว-นาคนิวาส
ชื่อร้าน “ครูสายฐิพย์” แปลงมาจากชื่อคุณแม่เจ้าของร้านที่ชื่อ สายทิพย์ แต่มีการปรับเปลี่ยน ท. ทหาร เป็น ฐ. ฐาน เพื่อสื่อถึงความมั่นคง ออกเสียงตามภาษาถิ่นทางใต้ที่อ่านว่า สายฐิพย์ (เสียงต่ำหน่อย) อีกด้วย
ทางร้านจะตกแต่งด้วยต้นไม้สีเขียวขจีสวยไปทั่วทั้งบริเวณ เมื่อเข้าร้านก็รู้สึกสบายตาสบายใจ สดชื่นไปกับธรรมชาตินานาพันธุ์ทั้งต้นไม้และดอกไม้ ฟังเสียงนกร้องขับขานแทนเสียงดนตรีโดยทางร้านตั้งใจให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนนั่งรับประทานอาหารกลางสวนในบ้านตัวเองเลยทีเดียว
บ่อปลาสวนสวย
เฟอร์นิเจอร์และตัวร้านตกแต่งโดยเน้นใช้วัสดุจากไม้และไม้ไผ่ เพื่อให้เข้ากับต้นไม้ มี สัญลักษณ์ประจำร้านคือปลาตะเพียน ต้นเฟิร์นสไบนางห้อย ดารดาษด้วยไม้น้ำโชว์ความเป็นไทยแบบบ้านๆ บรรยากาศน่านั่ง จนเหมือนหลุดเข้ามาอีกโลกหนึ่ง ที่นั่งภายในร้านมีทั้งโซนที่เป็นห้องแอร์ และบริเวณสวนสวยมีบ่อปลาคาร์ฟจักรพรรดิเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ภายในร้านให้เลือกนั่งกันได้ตามสะดวก
บรรยากาศภายนอก
ภายในห้องแอร์
บุษบาทอดกรอบ
เก็บดอกไม้ริมรั้วตามฤดู เช่น ดอกสลิด ดอกขจร ดอกฟักทอง ดอกอัญชัน ฯลฯ ชุบแป้งบางๆ ทอดกรอบ กินกับน้ำจิ้มทำนองน้ำปลาหวานโรยถั่วป่น เหมาะเป็นจานเรียกน้ำย่อย
ไข่เจียวใบไชยา
บ้างเรียกคะน้าเม็กซิโก พื้นบ้านเรียกผักผงชูรส ลักษณะคล้ายใบเมเปิล มีรสอร่อยหวานกรอบไม่เหนียวกลมกล่อม จึงเรียกใบผักผงชูรส หากแต่มีสารกลูโคไซด์เป็นสารที่อยู่ในผักไชยาดิบ การนำผักไชยามากินต้องทำให้สุกก่อน เพื่อทำลายฤทธิ์ของสารพิษ ผักไชยา มีส่วนประกอบที่มีคุณค่าทางอาหารมากกว่าผักสีเขียวทั่วไป 2-3 เท่าตัว สรรพคุณทางยา จะช่วยต้านพยาธิ หรือจุลชีพต่างๆ เป็นต้น
จักจั่นทะเลคั่วพริกเกลือ
จักจั่นทะเล เป็นสัตว์ที่มีรูปร่างคล้ายกับจักจั่นที่เป็นแมลง ตัวขนาดเท่าแมลงทับ แต่อาศัยอยู่ในทะเลและตามชายหาด เป็นแมลงทะเลชนิดหนึ่งคล้ายจักจั่น มีชุมตามริมฝั่งทะเลเกาะภูเก็ตตามหาดที่สงบและสะอาด เช่น หาดไม้ขาวที่ภูเก็ต หรือพังงา สัตว์ตระกูลปูชนิดหนึ่งใช้ทำอาหารอร่อย แต่เริ่มจะหายากขึ้นทุกวัน เหล่าภัตตาคารในภูเก็ตจะนิยมซื้อ
ข้าวยำแม่คำนึง
อันเมนูข้าวยำนั้นเป็นที่แพร่หลายในหมู่สุภาพสตรีที่รักษาสุขภาพ เพราะในข้าวยำจะ ประกอบไปด้วยความหลากหลายของพืชผักสมุนไพร รวมทั้งส้มโอ มะละกอ ไข่เป็ดต้มยางมะตูม ข้าวสวย และเส้นหมี่ เสิร์ฟมาคู่กับน้ำบูดูที่มีกลิ่นกะปิหอมมาก ก่อนกินก็คลุกเคล้าทุกอย่างให้เข้ากันก่อน รสชาติจะมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับการคลุกทั่วหรือไม่ บางทีอาจจะรู้สึกได้ถึงความเปรี้ยวเผ็ดก่อน และหวานปิดท้าย หรืออาจจะเป็นเค็มนำก็ได้ ข้าวยำครูสายฐิพย์ใส่สรรพสิ่งจนมิดปากชามแทบไม่เห็นเม็ดข้าว น้ำบูดูก็กลิ่นหอมเหมือนส่งมาจากสายบุรี
ผัดสามฉุน
หลายปีก่อนได้ยินชื่อ “ผัดสามฉุน” เป็นหนแรกก็รู้สึกพิพักพิพ่วนปั่นป่วนในท้อง ความหมายนั้นคือส่วนประกอบของ 1.เม็ดสะตอ 2.ใบชะอม 3.กระเทียมดอง รวมกันผัดกับวุ้นเส้นและกุ้ง ต่อเมื่อได้เห็นและชิมก็นึกชมผู้ที่เป็นต้นคิดรายการอาหารนี้ว่าสร้างรูปลักษณ์และรสสัมผัสที่สะดุดต่อมรับรส
ผักหวานต้มกะทิ
ผักหวานเป็นไม้ป่าหากินได้ช่วงฤดูร้อน ปัจจุบันมีผู้ปลูกเป็นฟาร์ม รสชาติสู้ผักที่หักจากธรรมชาติไม่ได้ เด็ดแต่ยอดต้มกะทิใส่กุ้งสด พริกทอดโรยหน้า กลายเป็นอาหารชาวกรุงที่ไปแย่งกินของชาวบ้าน
ปลาแดงทอดขมิ้น
ไม่นานมานี้ปลาแดงเป็นปลาที่ตกง่ายไม่ค่อยได้รับความนิยมมักเอาไปสับเลี้ยงเป็ด เดี๋ยวนี้ปลาทะเลเริ่มหายากขึ้น เมื่อลองเอาปลาแดงมาทอดปรากฏว่าเป็นที่ติดอกติดใจ จนราคาขึ้นตัวละตั้งร้อยตั้งชั่ง ทอดจวนกรอบใช้น้ำมันทอดปลามาทำข้าวผัด วางผักสดเคลียคลอ พริกน้ำปลาสักถ้วยถึงกับเห็นสวรรค์รำไร
แกงพริกกระดูกหมู
หนึ่งในอาหารที่ยังคงความร้อนฉ่าอยู่ไม่เคยห่างหายของที่นี่คือ “แกงพริก” ด้วยความโดดเด่นของตำรับเครื่องแกงที่สืบต่อผ่านกาลเวลามาอย่างเนิ่นนานภายในครอบครัว อวดรส ปรับรส หายากที่ใครจะสู้รสเผ็ดอย่างถึงพริกถึงกะปิ ครูแนะนำว่าต้องไม่พลาด “แกงพริกกระดูกแก้ว” ข่าอ่อนๆ ซอยใส่พริกไทยสด ใบมะกรูดซอยละเอียด กระดูกแก้วเคี่ยวเปื่อยชนิดที่เพียงสัมผัสฟันก็มลายลงสิ้นทั้งเนื้อและกระดูกอ่อนชิมคำก็ขนลุกขนชัน รีบร้องสั่งข้าวสวยมาคลุก ทั้งเผ็ดทั้งอร่อยจนร้อนถึงไหนๆ
แกงเหลืองปลากะพงหน่อไม้ดอง
มาร้านอาหารใต้ทั้งทีถ้าไม่ได้กินแกงส้ม (แกงเหลือง) ก็ออกจะเสียเชิง ยิ่งแกงกับหน่อไม้ดอง หรือทางคูน (ก้านบอนชนิดไม่คัน) แกงส้มใต้นั้นคนใต้จะเน้นการกินเนื้อปลาเป็นหลัก ส่วนผักนั้นไว้เคียงเพิ่มความเปรี้ยวพร้อมมะขามแขกแก้เผ็ด
โอ๊ะเอ๋ว
โอ้เอ๋ว หรือ โอ๊ะเอ๋ว เป็นขนมท้องถิ่นของจังหวัดภูเก็ต ได้จากวุ้นของเมล็ดโอ๊ะเอ๋ว ซึ่งเป็นพืชจำพวกมะเดื่อชนิดหนึ่งหรือต้นตีนตุ๊กแกเกาะผนัง สั่งจากประเทศจีนมีลักษณะคล้ายเมล็ดแมงลัก เมื่อแช่น้ำแล้วใช้เมือกโอ๊ะเอ๋วมาผสมกับเมือกของกล้วยน้ำว้า เติมเจี่ยกอ (คือ แคลเซียมซัลเฟต (Calcium Sulfate) หรือ หินฝุ่น หรือ ผงยิปซัม (Gypsum powder) หรือ หินอ่อนสะตุ) เพื่อให้โอ๊ะเอ๋ว เกาะตัวเป็นก้อน นำมาใส่น้ำเชื่อมและน้ำแข็งไส กินแก้ร้อนใน และลดการกระหายน้ำ เนื้อสัมผัสจะออกเด้งๆ เหมือนวุ้นหรือเฉาก๊วย แต่มีความกรึบๆ หน่อย
เมืองไทยมี 4 ภาค แต่ละภาคย่อมมีความแตกต่างกันไปรสปากที่ส่งทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นจากบรรพบุรุษ หากไปกินอาหารชนิดเดียวกันที่ต่างถิ่น บางครั้งก็มีความแตกต่างกันด้วยเครื่องปรุงที่แตกต่าง พ่อครัวแม่ครัวถ้าฝีมือไม่บรรลุก็อาจเพี้ยนเข้ารกเข้าพงได้เหมือนกัน วันนี้มีโอกาสกินข้าวในสวน กับอาหารใต้ ที่รสมือเหมือนกินที่ปักษ์ใต้ในกรุงเทพ ท่ามกลางสวนสวย จนกลับถึงบ้านยังคิดถึงไม่วาย
ตรงข้าม ซอยนาคนิวาส 5 ถนนนาคนิวาส แขวงลาดพร้าว เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ
โทร. 095-246-8497 (มีที่จอดรถ)
เปิด:อังคาร-อาทิตย์ 11.00-20.00 น.
Line:@ครูสายฐิพย์ https://lin.ee/gbgQrvE
FB Page: https://www.facebook.com/krusaithipbkk/
ภาพถ่าย แพรไพลิน ศุกลรัตนเมธี และบางภาพจาก FB ของร้าน
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี