มีสถานที่แห่งหนึ่งในอเมริกาก่อตั้งขึ้นด้วยเหตุผลประการเดียวคือเหตุผลแห่งการเป็นผู้ให้โดยปราศจากเงื่อนไข โดยต้องการมอบคลังความรู้มหาศาลนี้ให้เป็นทรัพย์แผ่นดิน
ต่อโลกและคนอเมริกันทั้งมวล
นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษคนหนึ่งชื่อ เจมส์ สมิธสัน ผู้ซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่างค.ศ. 1765-1829 ได้ระบุในพินัยกรรมว่า หากหลานชายของตนคือ เฮนรี เจมส์ ฮังเกอร์ฟอร์ด ไม่มีทายาท ก็จะยกมรดกทั้งหมดแก่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเพื่อก่อตั้งองค์กรที่สามารถเพิ่มพูนและเผยแพร่ความรู้ให้แก่มนุษยชาติ
ต่อมาในปี ค.ศ. 1835 เมื่อผู้เป็นหลานเสียชีวิตลงโดยปราศจากทายาท ทรัพย์สมบัติอันมหาศาลทั้งหมดจึงต้องส่งมอบให้แก่อเมริกาตามประสงค์ของนักวิทยาศาสตร์อังกฤษรายนั้น แต่อย่าคิดว่าลุงแซมจะดีอกดีใจเต้นแร้งเต้นกาเป็นอันขาด หนักไปทางงงๆ มึนๆ ในโชคลาภก้อนเบ้อเริ่มก้อนนี้มากกว่าว่าจะเอายังไงต่อดี ทางการจึงส่งเรื่องดังกล่าวนี้เข้าสู่สภาคองเกรสเพื่อให้สภาพิจารณา เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ ปรากฏว่าในสภามีความเห็นแตกออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกขี้ระแวงไปเสียทุกสิ่งอย่าง อ้างว่าไม่ควรรับมรดกแปลกๆ ชิ้นนี้ เพราะลุงแซมกับอังกฤษเคยอัดกันน่วมในสงครามมาก่อน แถมอังกฤษเคยเผาวอชิงตันอีกต่างหาก เพราะฉะนั้นลาภลอยก้อนนี้อาจจะมาแนวม้าไม้เมืองทรอยหลอกเหล่ามะริกันให้ตายใจก็เป็นได้
แต่อีกฝ่ายหนึ่งนั้นดีอกดีใจมากว่า เอาล่ะวะ สมบัติก้อนโตขนาดนี้ ไม่เอาก็โง่แล้ว ผู้นำกลุ่มที่เห็นด้วยคือ จอห์น ควินซี่ อดัมส์ ซึ่งตอนนั้นเป็นสมาชิกสภาและต่อมาดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีให้เหตุผลว่า หมู่เฮาน่าจะดูความจริงใจของคนให้เป็นหลักมากกว่านะ เพราะเน้นเรื่องการศึกษาและการเผยแพร่ความรู้ ซึ่งพวกเราถนัดทางนี้อยู่แล้วเพราะพูดมากไปเรื่อย(ข้อนี้ฉันแอบคิดเอาเอง) ดังนั้น จึงควรรับของขวัญล้ำค่าชิ้นนี้ไว้อย่างปลื้มเปรม
ฝ่ายตุลาการพิจารณาลงความเห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาไม่ได้มีข้อห้ามอะไรในเรื่องนี้ และแน่นอนว่าของฟรีย่อมดีที่สุดอยู่แล้ว แถมยังเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อประเทศ จนในที่สุดสภาคองเกรสเลยชูจั๊กกะแร้เห็นชอบให้รับมรดกชิ้นดังกล่าวนี้ จึงมอบอำนาจให้ประธานาธิบดีจัดตั้งสถาบันสมิธโซเนียนขึ้น ประธานศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาเป็นอธิการบดีสถาบันสมิธโซเนียนโดยตำแหน่ง เงินพินัยกรรมที่นักวิทยาศาสตร์อังกฤษยกให้แก่ลุงแซมเวลานั้นมีมูลค่า 104,960 ปอนด์ทองคำ หรือ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว นับว่าอักโขโอฬารเอาการอยู่
สมิธโซเนียนนั้นไม่ได้มีเพียงแค่อาคารเดียวหรือพิพิธภัณฑ์เดียว หากแต่รวมพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดถึง 19 แห่ง แถมด้วยสวนสัตว์แห่งชาติ และแกลเลอรีศิลปะไว้ด้วยกัน เมื่อนำสิ่งของทั้งหมดมารวมกันจะมีมากกว่า 150 ล้านชิ้น
พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียนคือสามารถเข้าฟรีทุกแห่ง ไม่แบ่งชนชาติว่าจะเป็นพลเมืองอเมริกันหรือไม่ใช่พลเมืองอเมริกัน ทุกคนสามารถเข้าชมได้ฟรี ทั้งที่ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ทุกแห่งในอเมริกาค่อนข้างแพง เทียบเป็นเงินไทยประมาณพันกว่าบาท แต่พิพิธภัณฑ์ทุกแห่งในวอชิงตันที่เป็นสมบัติของสมิธโซเนียนนั้นเข้าฟรี สมิธโซเนียนเลยกลายเป็นสวรรค์ของคนรักพิพิธภัณฑ์ไปโดยปริยาย
เอาแค่พิพิธภัณฑ์ในเครือสถาบันสมิธโซเนียนในวอชิงตัน ดี.ซี.นี่ก็เดินกันไม่หมดสิ้นแล้ว เพราะเยอะมาก ไล่มาตั้งแต่พิพิธภัณฑ์แอนนาคอสเตีย ซึ่งแสดงศิลปะของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาวแอฟริกันอเมริกันหอศิลป์อาเธอร์ เอ็ม แซ็คเคลอร์ที่แสดงศิลปะจากประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย หอศิลป์ฟรีเออร์เป็นอาคารจัดแสดงศิลปะจากทวีปเอเชียตะวันออก, ตะวันออกเฉียงใต้ และใต้ พิพิธภัณฑ์เฮอร์ชอร์นและสวนประติมากรรมซึ่งจัดแสดงประติมากรรมร่วมสมัยและสมัยใหม่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะแอฟริกันแห่งชาติฟังชื่อก็บอกชัดเจนอยู่แล้วว่าเอาไว้ทำอะไร
ยังไม่หมดแค่นั้น บอกแล้วว่าถ้าจะชมพิพิธภัณฑ์กันอย่างทั่วถึง คงต้องใช้เวลาเป็นเดือนๆ พิพิธภัณฑ์บางแห่งก็ปรากฏในฉากภาพยนตร์บ่อยๆ เช่นที่นี่ พิพิธภัณฑ์ยานบินและยานอวกาศแห่งชาติที่แสดงประวัติการบินและการอวกาศ จริงๆ แล้วพิพิธภัณฑ์ National Air and Space Museum มีอยู่สองแห่ง คือ พิพิธภัณฑ์ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งได้มีการจัดแสดงเครื่องร่อนของพี่น้องตระกูล Wright ในปี ค.ศ. 1903 เครื่องบิน The Spirit of St. Louis ซึ่งเป็นเครื่องบินลำแรกที่บินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ยาน Apollo 11 และหินดวงจันทร์ กับอีกแห่งหนึ่งคือ The Steven F. Udvar-Hazy Center ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดง The Lockheed SR-71 Blackbird, Boeing B-29 และกระสวยอวกาศต่างๆ
ถัดมาอีกหน่อยเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์อเมริกันแห่งชาติ ซึ่งเป็นสถานที่ยอดนิยมของคนอเมริกันจริงๆ เลยมาอีกนิดเป็นพิพิธภัณฑ์อเมริกันอินเดียนแห่งชาติ ส่วนอาคารหลังใหญ่มหึมาติดกันนั้นเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งชาติซึ่งที่นี่แหละเป็นที่แสดงเพชรโฮปอันขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นเพชรมหาภัยและทีเร็กซ์ที่เคยเห็นในภาพยนตร์เรื่อง Night at the Museum จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมคนถึงเดินเข้าเดินออกอาคารนี้กันเพียบ ทั้งอาคารสะสมและแสดงตัวอย่างของพันธุ์ไม้ สัตว์ ฟอสซิล แร่ธาติ หิน อุกกาบาต และวัตถุที่เกี่ยวข้องกับประวัติการวิวัฒนาการของมนุษย์
นอกจากพิพิธภัณฑ์แล้วยังมีหอศิลป์ภาพเหมือนแห่งชาติ ที่เป็นอาคารแสดงภาพเหมือนบุคคลสำคัญต่างๆ ในประวัติศาสตร์อเมริกาทั้งกวี ประธานาธิบดี นักแสดงและนักเคลื่อนไหวทางสังคม พิพิธภัณฑ์ไปรษณีย์แห่งชาติที่แสดงประวัติการไปรษณีย์ ศูนย์เอส ดิลลัน ริพลีย์ เป็นอาคารสะสมและแสดงศิลปะนานาชาติ หากสนใจศิลปะสายอเมริกันล้วนๆ ต้องมาที่นี่เลย พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียนศิลปะอเมริกัน หากชอบตึกสวยๆ แนะนำให้ไปที่ตึกสถาบันสมิธโซเนียน รับรองงดงามตระการตาแน่ หากรักศิลปะทุกสาขา สมควรไปเยือนหอศิลป์แห่งชาติ
ผู้ที่รักการออกแบบต้องไม่พลาดคูเปอร์-ฮิวอิท อันเป็นพิพิธภัณฑ์การออกแบบแห่งชาติ หรือใครชอบงานอาร์ตแนวชนเผ่าๆ หน่อย ต้องไปอีกอาคารหนึ่งคือศูนย์จอร์จ กุสตาฟ เฮย์ ของพิพิธภัณฑ์อเมริกันอินเดียนแห่งชาติ เบื่อเดินในอาคารแล้ว ขับรถออกไปนอกเมืองอีกหน่อยมีสวนสัตว์อันเป็นส่วนหนึ่งของสมิธโซเนียนด้วยเช่นกันคือ สวนสัตว์สมิธโซเนียนแห่งชาติที่จัดเป็นหนึ่งในสวนสัตว์ที่ดีที่สุดในโลกและมีสัตว์อยู่กว่า 2,000 ตัว 400 สายพันธุ์ ซึ่งหนึ่งในสี่เป็นสัตว์ใกล้จะสุูญพันธุ์
การมีโอกาสใช้ชีวิตบนแผ่นดินแปลกหน้าเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้เห็นความแตกต่างจากโลกใบเดิม ได้ศึกษาความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมและรากเหง้าทางความคิด ซึ่ง
บางสิ่ง บ้านเรามีดีกว่าอเมริกา แต่บางอย่างต้องยอมรับว่าอเมริกามีส่วนดีอยู่ไม่น้อย สิ่งดีในอเมริกาคือเต็มไปด้วยแหล่งการเรียนรู้ มีพิพิธภัณฑ์มากมายและหลากหลายประเภท
โดยเฉพาะสถาบันสมิธโซเนียนเปรียบเสมือนขุมทรัพย์อันล้ำค่าของอเมริกันเลยก็ว่าได้ ที่สำคัญคือการให้โดยปราศจากความมุ่งหวังสิ่งตอบแทนนั้นช่างยิ่งใหญ่และทรงค่าเหลือเกิน
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี