“คำพูดของท่านเปรียบเสมือนใบเสร็จรับเงินที่ออกให้ประชาชนไปแล้ว คงไม่อาจปฏิเสธเป็นอย่างอื่นได้อย่างแน่นอน หนทางเดียวคือการแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยและอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เรียกร้องโดยเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายเศรษฐา ทวีสิน ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
กรณีนายเศรษฐาไปพูดเรื่องการโยกย้ายแต่งตั้งนายตำรวจระดับผู้กำกับฯจนตกเป็นข่าวครึกโครม
พร้อมกันนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ยังเสนอแนะว่า “ให้มีกระบวนการสรรหานายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญกันใหม่ อย่างไรเสียประวัติศาสตร์ก็จารึกไว้แล้วว่าท่านคือนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย อย่าไปเสียดาย วาสนามีเท่านี้ก็ต้องเท่านี้ มิฉะนั้นท่านจะต้องอับอายไปทั่วโลก สู้ลาออกเดินเชิดหน้าอย่างสง่าผ่าเผยไม่ดีกว่าหรือ คดีอาจจะไม่มีก็ได้”
อย่างที่เขียนไปเมื่อวาน ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นคนที่พูดโดยไม่คิด ประเภทปากไวใจร้อน ขาดวุฒิภาวะในการเป็นผู้นำ ซึ่งกรณีนี้ถึงขั้นคอขาดบาดตาย ทีเดียว เหมือนกรณีนางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นักโทษหนีคดีในเวลานี้เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อเปิดทางให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557ให้ยิ่งลักษณ์พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “...เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานและพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดีประกอบกันแล้ว เห็นว่า การดำเนินการแต่งตั้ง โยกย้าย และให้นายถวิลเปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่ง เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเดียวกัน และมีความเชื่อมโยงกับการบรรจุแต่งตั้งพลตำรวจเอกเพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อันแสดงให้เห็นถึงการมีผลประโยชน์ทับซ้อนและมีวาระซ่อนเร้น โดยที่ผู้ถูกร้อง (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ถือได้ว่าเป็นการแทรกแซงและก้าวก่ายการแต่งตั้ง โยกย้าย หรือการให้พ้นจากตำแหน่งของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นคือพลตำรวจเอกเพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ซึ่งเป็นเครือญาติของผู้ถูกร้อง อันเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ...”
จากคำวินิจฉัยดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” สิ้นสุดหรือพ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี และในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ป.ป.ช.ก็ได้มีมติชี้มูลความผิดนางยิ่งลักษณ์ในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจากกรณีย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี และส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งคดีนี้ล่าสุดศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ได้นัดอ่านคำพิพากษาในบ่ายวันพุธที่ 29 พฤศจิกายน 2566
สรุปรวมแล้วคดีนี้ยาวนานถึง 12 ปี นับตั้งแต่“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”ได้ลงนามในคำสั่งให้นายถวิล เปลี่ยนศรีจากตำแหน่งเลขาฯ สมช. ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในวันที่ 30 กันยายน 2554 และคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีมติแต่งตั้ง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรีซึ่งดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ในเวลานั้นมานั่งเก้าอี้เลขาฯ สมช.แทนนายถวิล เพื่อเปิดทางให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขึ้นเป็น ผบ.ตร.แทน พล.ต.อ.วิเชียร
ในวันที่ 29 พฤศจิกายน กลางสัปดาห์หน้า ไม่ว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯจะมีคำพิพากษาออกมาอย่างไร ก็ไม่น่าจะมีผลอะไร เพราะเวลานี้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่เป็นนักโทษหนีคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว (โทษจำคุกห้าปี)และมีหมายจับติดตัวในคดีที่ศาลฎีกาฯกำลังจะพิพากษาตัดสิน ได้ “มุดดิน” หายไปจากโลกนี้ตั้งแต่วันที่นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ซึ่งคนไทยจำนวนไม่น้อยเชื่อว่ายิ่งลักษณ์แอบกลับมาเมืองไทยพร้อมกับทักษิณโดยเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวในวันนั้นแล้วก็ได้
โชคชะตาของ “เศรษฐา ทวีสิน” บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอาจจะมีจุดจบเหมือน “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เพราะทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าคำพูดของนายเศรษฐา ได้ “ปรากฏความผิดแล้ว” ซึ่งเป็นความผิดที่เข้าข่ายมาตรา 185 (3) และมาตรา 186 (2) ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560
โดยเฉพาะมาตรา 186 (2) ที่บัญญัติไว้ว่า “...รัฐมนตรี(นายกรัฐมนตรี) ต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งกระทำการใดไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมืองโดยมิชอบตามที่กำหนดในมาตรฐานทางจริยธรรม...” ซึ่งตามมาตรานี้เป็นความผิดเฉพาะตัวของนายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่คล้ายกับความผิดของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” กรณีย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี
สำหรับมาตรา 185 (3) เกี่ยวพันไปถึง สส.ของพรรคเพื่อไทยที่ขอใช้บริการ “ตั๋วสร.1” คือขอให้นายเศรษฐา ทวีสิน แต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจไปลงตำแหน่งผู้กำกับฯตามที่ตนต้องการ และนายเศรษฐาก็จัดให้ ดังคำพูดที่กล่าวต่อที่ประชุมพรรคเพื่อไทยว่า “เรื่องผู้กำกับใหม่ผมมั่นใจว่าคงจะมีผู้ผิดหวังมากกว่าผู้สมหวังในห้องนี้ ที่ขอตำแหน่งไป แต่ก็มีไม่น้อยที่ได้สมหวัง”
สส.ของพรรคเพื่อไทยจึงเข้าข่ายความผิดไปด้วย เนื่องจากมาตรา 185 (3) ห้ามไม่ให้ สส.ใช้สถานะหรือตำแหน่งไปขอให้นายเศรษฐา ทวีสิน ที่เป็นนายกรัฐมนตรี จะในฐานะประธาน ก.ตร.หรือสถานะอะไรก็แล้วแต่ แต่งตั้งโยกย้ายผู้กำกับฯตามที่ตนต้องการ นี่ก็เท่ากับว่า ทั้งนายเศรษฐาและสส.พรรรคเพื่อไทย ได้ร่วมกันหรือสนับสนุนการกระทำความผิด
ความผิดสำเร็จแล้ว รออยู่เพียงว่าใครจะยื่นฟ้อง และการฟ้องนี้ไม่เพียงแต่นายเศรษฐา ทวีสิน และ สส.ที่ร่วมกันกระทำผิดจากการละเมิดรัฐธรรมนูญเท่านั้น ดีไม่ดีอาจจะบานปลายไปถึงขั้นขอให้มีการยุบพรรคเพื่อไทยได้อีกด้วย !
รุ่งเรือง ปรีชากุล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี