มูลนิธิคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ก่อตั้งขึ้นมาใน พ.ศ.2525 ในสมัย ที่ท่านอาจารย์ยาใจ ณ สงขลา เป็นคณบดี (2524-2528) สมัยโน้น(และสมัยนี้ด้วย) งบประมาณสำหรับการบริหารจัดการคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มีน้อยมาก และมีขั้นตอนหลากหลายในการใช้จ่ายงบประมาณ ฉะนั้นเพื่อเป็นการหางบประมาณเสริมให้คณะแพทยศาสตร์ และสามารถใช้ได้อย่างสะดวกสบายรวดเร็วมากขึ้น แต่โปร่งใส ท่าน อ.ยาใจและคณาจารย์จึงได้ดำเนินการก่อตั้งมูลนิธิฯ ขึ้นมา ด้วยความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของคณาจารย์ ศิษย์เก่า ท่านผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีจิตสาธารณกุศล รวมแล้วกาลเวลาก็ได้ผ่านไป 37 ปี
วัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ คือ 1) ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา การวิจัย และการสวัสดิการของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2) ส่งเสริมและสนับสนุนการให้การรักษาพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 3) ให้ความร่วมมือกับองค์การกุศลอื่นๆ เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ4) มูลนิธินี้จะไม่ดำเนินการเกี่ยวกับการเมืองแต่ประการใด
โดยสรุป คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มีหน้าที่สร้างคน สร้างความรู้ใหม่ๆ เพื่อให้มีความก้าวหน้าทางด้านวิชาการ เพื่อที่จะนำไปให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยและประชาชนทั่วๆ ไป คณะฯจึงมีหน้าที่เกี่ยวกับการเรียน การสอน การวิจัย การให้บริการแก่ผู้ป่วย การให้บริการวิชาการ คือ ให้ความรู้แก่ประชาชน รวมทั้งการบริหารจัดการ การสร้างคนนั้นเป็นการลงทุนที่มีความสำคัญ มีคุณค่ามากเพราะคนเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขององค์กร และของประเทศ เราจะต้องใช้เวลาในการผลิตแพทย์ที่ดี ที่เก่ง ที่รอบรู้ และที่มีสุขภาพดี จะได้เป็นที่พึ่งที่ดีของประชาชน โดยการเรียนแพทย์จะต้องใช้เวลา 6 ปีหลังจากนั้นแพทย์จะต้องไปเพิ่มพูนทักษะและทำงานที่ต่างจังหวัดอีก 1-3 ปี(รวมทั้งหมด 3 ปี แต่บางคนอาจ “ใช้ทุน” เพียง 1-2 ปีเท่านั้น) แล้วมักกลับมายังคณะแพทย์ต่างๆ เพื่อรับการฝึกอบรมและสอบเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ อีก 3 ปี หลังจากนั้น บางคนอาจเรียนต่อทางอนุสาขาต่างๆ เช่น หัวใจ ระบบทางเดินอาหาร ฯลฯ อีก 2 ปี และถ้าจะเป็นอาจารย์อยู่ต่อในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ (หรือที่อื่นๆ) มักจะต้องไปเรียนต่อยังต่างประเทศอีก 1-4 ปี ทั้งนี้ ความสั้น-ยาว ของการไปศึกษาต่อ อยู่ที่ความต้องการของหน่วย ภาค หรือคณะ ว่าต้องการคณาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านไหนๆ และมากน้อยแค่ไหน เช่นถ้าต้องการทำ Ph.D อาจใช้เวลา 3-5 ปี แต่ถ้าเพียงไปศึกษาอบรมทางด้านหนึ่งด้านใด อาจใช้เวลาเพียง 1-2 ปี สำหรับความคิดส่วนตัวของผม ผมเห็นว่าลูกศิษยต้องเก่งกว่าอาจารย์ในปัจจุบัน นอกเหนือจากการสอบสาขาต่างๆ เช่น board med ได้แล้ว สอบอนุสาขา เช่น ระบบทางเดินอาหาร ฯลฯ ได้แล้ว ควรไปศึกษาต่อ และทำ Ph.D จะได้รู้ระบบการทำการศึกษา การวิจัยอย่างเป็นรูปแบบ เพื่อที่จะกลับมาแนะนำ สอน ลูกศิษย์ต่อๆ ไป เพราะประเทศไทยโดยภาพรวมยังทำวิจัยน้อยมาก
การไปเมืองนอกของคณาจารย์นี้ มีความต้องการทรัพยากรทางด้านงบประมาณเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะต้องช่วยกันหางบประมาณมาสนับสนุนคณาจารย์ต่างๆ เหล่านี้ การได้รับทุนต่างๆ ของคณะ หรือประเทศ ส่วนใหญ่ได้ในอัตราที่ไม่เพียงพอ เช่น อาจได้เพียงเดือนละ 1,500 เหรียญสหรัฐ ซึ่งค่าใช้จ่ายอาจมากกว่านี้เป็น 2 เท่าตัว คณะจึงต้องพยายามหางบประมาณเสริมเพื่อให้ทุนเป็นไปอย่างเพียงพอ
นอกจากนั้น คณะ และ รพ. ยังต้องใช้งบประมาณในการซื้อเครื่องมือเสริมในเวลาที่ขาดงบประมาณ ฯลฯ เพื่อความทันสมัยทางด้านวิชาการ รวมทั้งต้องใช้งบประมาณในการวินิจฉัย รักษา ติดตาม การดูแลผู้ป่วยอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้และอื่นๆ ทางมูลนิธิฯ ซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนการบริหารจัดการ ดำเนินงานของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จึงต้องจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดการแข่งขันโบว์ลิ่ง กอล์ฟ ฯลฯ เพื่อการกุศลฯ เพื่อที่จะหางบประมาณสนับสนุนคณะแพทยศาสตร์ต่อไปเรื่อยๆ โดยในครั้งนี้จะมีการแข่งขันโบว์ลิ่งในวันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2562 ตั้งแต่เวลา 10.00-16.00 น. ณ Blu-ORhythm & Bowl ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน การสนับสนุนทีมมี 2 ประเภท คือ ประเภท VIP มีค่าสนับสนุนทีมละ 20,000 บาททีมทั่วๆ ไปทีมละ 10,000 บาท การสมัครจะสมัครได้ที่ สำนักงานมูลนิธิคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ (คุณพัทรศยา) ตึกอานันทมหิดลชั้น 1 โทรศัพท์ 0-2256-4180, มือถือ 09-6119-5320, บมจ.ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ (คุณวาสนา) โทรศัพท์ 0-2308-2020 ต่อ 519, มือถือ 08-5155-8370
ถ้าศิษย์เก่าท่านใด และท่านผู้ที่มีจิตศรัทธา ต้องการบริจาคเงินให้มูลนิธิคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โปรดบริจาคได้ที่บัญชีของมูลนิธิคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เลขที่บัญชี 045–2-02069-8 รวมทั้งกรุณาแจ้งการบริจาคเงินได้ที่ไลน์คุณพัทรศยา ID Line : Jew_2323 หรือตามเบอร์โทร.ข้างต้น
ด้วยความขอบคุณยิ่งครับ
นพ.พินิจ กุลละวณิชย์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี