ความรู้ทางการแพทย์มีความก้าวหน้าตลอดเวลา ทำให้ระดับความดันโลหิตที่เคยถือว่าสูง ถูกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่นเมื่อก่อนนี้ถ้าระดับบนของความดันโลหิตหรือที่เรียกว่า systolic blood pressure มีความสูงที่ 140 หรือขึ้นไป และระดับล่างหรือ diastolic blood pressure มีความสูงที่ 90 หรือขึ้นไป จะเรียกว่ามีความดันโลหิตสูง แต่แนวทางเวชปฏิบัติทั่วไปล่าสุดของ American Heart Association และ American Collegeof Cardiology ปรับระดับใหม่เป็น ถ้าใครมีความดันโลหิต130/80 มม.ปรอท หรือขึ้นไป จะเรียกว่ามีความดันโลหิตสูงแล้ว
ความดันโลหิต คือ ความดันระหว่างที่หัวใจบีบตัว (systolic) เพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงทุกอวัยวะของร่างกาย และความดันระหว่างที่หัวใจไม่ได้บีบตัว คือ diastolic ในเลือดมีทั้งออกซิเจน และสารอาหารต่างๆ เช่น น้ำตาล ฯลฯ ที่มีความจำเป็น และสำคัญสำหรับอวัยวะต่างๆ มาก ถ้าไม่มีเลือด หรือเลือดขาดสารอาหารต่างๆ เช่น น้ำตาล ร่างกายก็จะอยู่ไม่ได้
ถ้าระดับความดันโลหิตสูง หมายความว่าหัวใจต้องทำงานหนักที่จะบีบตัวส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ทำให้ในที่สุดกล้ามเนื้อหัวใจจะโตขึ้น และในที่สุดจะนำไปสู่การเป็นโรคหัวใจ ไต สมอง ตา ฯลฯ ได้ รวมทั้งหลอดเลือดต่างๆ จะมีพยาธิสภาพเกิดขึ้นจากการที่ถูกเลือดกระแทกผนังของหลอดเลือดแรงๆ ตลอดเวลา เช่น ทำให้มีการสะสมของไขมันคอเลสเตอรอลในผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบ ทำให้เลือดไหลได้ไม่สะดวก จนในที่สุดเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ สมอง ไต ตีบและอุดตัน ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูงระดับที่ 1 จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ สมอง ถึง 2 เท่าของผู้ที่มีความดันโลหิตปกติ ถ้ามีความดันโลหิตสูงและไขมัน น้ำตาลในเลือดสูง รวมทั้งสูบบุหรี่ด้วย จะยิ่งมีความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ที่กล่าวแล้วมากยิ่งขึ้น
ระดับความดันโลหิตที่ปกติ คือ ความดัน systolic ต่ำกว่า 120 และ diastolic ต่ำกว่า 80
ระดับความดันโลหิตที่สูงของปกติ คือ ความดัน systolic 120-129 มม.ปรอท และ diastolic ต่ำกว่า 80 มม.ปรอท
ความดันโลหิตสูงระดับที่ 1 คือ systolic 130-139 หรือ diastolic 80-89 มม.ปรอท
ความดันโลหิตสูงระดับที่ 2 คือ systolic 140 หรือ diastolic 90 มม.ปรอท
ระดับความดันโลหิตขึ้นอยู่ที่ว่าหัวใจต้องทำงานหนักแค่ไหนความดันโลหิตมักต่ำสุดในช่วงเวลาของการนอนหลับ และมักอยู่สูงสุดในช่วงเช้าซึ่งเราเพิ่งตื่น เพราะร่างกายจะถูกกระตุ้นจากสิ่งต่างๆ มากมาย และช่วงการออกกำลังกาย
ประเด็นที่ 2 คือ สภาพของหลอดเลือด (ซึ่งมักจะมีสภาพที่ไม่ดีหลังจากเวลาผ่านไปนานๆ) ขณะที่หัวใจบีบเลือดเข้าไปในหลอดเลือดแดง จะทำให้ผนังหลอดเลือดขยายตัว เมื่อเลือดหยุดไหลหลอดเลือดจะกลับมาสู่สภาพเก่า ถ้าหลอดเลือดไม่ค่อยมีความยืดหยุ่น จะทำให้มีความยากลำบากในการไหลของเลือด และความดันโลหิตจะสูงขึ้น
ร่างกายมีระบบที่จะสามารถปรับตนเองให้ระดับความดันโลหิตอยู่ในระดับปกติได้ เช่น ในการวิ่งอย่างรวดเร็ว เพื่อเข้าลิฟต์ให้ทันหรือมีเสียงอะไรดังๆ ขึ้นมาทันที อาจจะทำให้ความดันโลหิตจากระดับ 110/70 เพิ่มขึ้นไปเป็น 180/110 มม.ปรอท
Essential hypertension ประมาณ 90-95% ของโรคความดันโลหิตอยู่ในกลุ่มนี้ คือ ไม่มีสาเหตุ อาจเรียกว่า primary hypertension ส่วน Isolated systolic hypertension เป็นโรคความดันที่พบบ่อยในผู้สูงอายุสาเหตุเนื่องมาจากเมื่อสูงอายุขึ้นหลอดเลือดจะขาดความยืดหยุ่น ทำให้หลอดเลือดไม่ขยายตัวเมื่อมีการบีบตัวของหัวใจในการส่งเลือดเข้ามาสู่หลอดเลือด ทำให้มีการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือด ทั้งหมดนี้ทำให้ระดับ systolic สูงขึ้นแต่ diastolic ไม่สูง
Secondary hypertension คือ โรคความดันโลหิตที่มีสาเหตุ ซึ่งทำให้สามารถแก้ไขได้ แต่กลุ่มนี้เป็นเพียงส่วนน้อย มีเพียง 5-10% ของโรคความดันโลหิตทั้งหมด
โรคต่างๆ ที่ทำให้มีความดันโลหิตสูงได้ คือ 1) Hyperaldosteronism 2) ยาและสารต่างๆ เช่น แอลกอฮอล์กาแฟ ชา สมุนไพร ยา 3) Hyperthyroidism(โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ) 4) Renal artery stenosis(หลอดเลือดแดงไตตีบ) 5) Pheochromocytoma6) Cushing’s syndrome 7) Coarctation of the aorta8) Sleep apnea (การนอนหลับ กรน และหยุดหายใจ) ฯลฯ
ปัจจัยเสี่ยงที่บังคับไม่ได้ต่อการทำให้มีโรคความดันโลหิตสูง คือ ประวัติครอบครัว อายุ เพศ เชื้อชาติ
ปัจจัยเสี่ยงที่เราสามารถหลีกเลี่ยง ป้องกันได้ คือ โรคอ้วน ไม่ออกกำลังกายหรือไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวสูบบุหรี่ กินเค็ม ดื่มแอลกอฮอล์มากไป ฯลฯ
นพ.พินิจ กุลละวณิชย์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี