สัปดาห์ที่แล้วเราคุยกันเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมในสัตว์เลี้ยง หรืออาการเสื่อมถอยทางสติปัญญา หรือ Cognitive Dysfunction Syndrome (CDS) ดังนั้น สัปดาห์นี้ เรามาคุยกันต่อในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสมองของสัตว์เลี้ยงที่เกี่ยวข้องกับ CDS
สำหรับ CDS ในสุนัขและแมวมีลักษณะใกล้เคียงกับโรคอัลไซเมอร์ในมนุษย์ โดยมีสาเหตุมาจาก
• การสะสมของแผ่นคราบ อะไมลอยด์เบต้า (Aβ) และโปรตีน tau ที่ถูกฟอสโฟรีเลตมากเกินไป
• การเกิดปมเส้นประสาท (neurofibrillary tangles) และการสูญเสียเซลล์ประสาท
• การขยายตัวของโพรงสมอง (ventricular dilation) และการลดลงของขนาดหรือมวลของสมอง
• เส้นเลือดในสมองเสื่อม และความผิดปกติในเนื้อเยื่อสีขาว (white matter degeneration)
• ความเสื่อมของเซลล์ glial และการสูญเสียจำนวนเซลล์ประสาท
นอกจากนี้ ยังพบความผิดปกติในการทำงานของสารสื่อประสาทหลายชนิด เช่น โดปามีน, เซโรโทนิน, นอร์เอพิเนฟริน, และอะเซทิลโคลีน
แต่ในแมว อาจเกิดจากภาวะขาดออกซิเจนในสมอง (hypoxia) ความเสียหายของสมองที่เกิดจากอนุมูลอิสระ การลดลงของการไหลเวียนโลหิตในสมอง เป็นต้น
แม้ว่าแมวจะไม่เกิดแผ่นคราบชนิด neuritic แบบเดียวกับในคน แต่พบการสะสมของ Aβ แบบกระจายโดยเฉพาะในสมอง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของอาการเสื่อมทางพฤติกรรม อย่างไรก็ตาม ในแมวนั้น ความรุนแรงของอาการไม่ได้สัมพันธ์กับปริมาณของ Aβ โดยตรง
ความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย
ผลจากวิจัยพบว่า สถานะการรับรู้ของสุนัข มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับปัจจัยทางระบบกล้ามเนื้อและระบบประสาท รวมถึงคะแนนสุขภาพโดยรวม โดยเจ้าของได้ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรม 17 รายการ ซึ่งครอบคลุมด้านต่าง ๆ เช่น ความสับสน วงจรการนอนหลับ การเข้าสังคม การเรียนรู้และความจำ ระดับกิจกรรม ความวิตกกังวล สุขภาพทั่วไป และโรคที่สัตวแพทย์ตรวจวินิจฉัย
ผลสรุปพบว่าสุนัขที่แก่ตามวัยปกติมีคะแนนด้านระบบกล้ามเนื้อและประสาทดีกว่าสุนัขที่มีภาวะบกพร่องทางการรู้คิด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า โรคทางกายอาจมีบทบาทในการพัฒนา CDS และบางครั้งอาการของโรคทางร่างกายอาจ ถูกเข้าใจผิดว่าเป็น CDS
การสูญเสียการได้ยิน เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมในคน ส่วนในสัตว์ก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในสุนัขที่มีอายุ 8–10 ปีขึ้นไป สุนัขที่มีปัญหาการได้ยินจะมีปัญหาในการตอบสนองต่อเสียงความถี่กลางถึงสูง เจ้าของสัตว์เลี้ยงจะแจ้งว่าว่าสุนัขมีปฏิสัมพันธ์ลดลง และมีคุณภาพชีวิตลดลง ผลจากการวิจัยอื่น ๆ ระบุว่าอาการต่อไปนี้มีความสัมพันธ์กับ CDS คือการมองเห็น ตัวสั่น ศีรษะตก (head ptosis) การเปลี่ยนแปลงของการดมกลิ่น ความไม่มั่นคงในการเดิน เช่น เดินเซ หรือล้มง่าย
โครงการ Dog Aging Project ศึกษาเรื่องนี้แล้วพบว่าอายุ และ ภาวะเสื่อมทางสติปัญญาในสุนัข โดยพบว่า คะแนน CDS สูงขึ้นสัมพันธ์กับประวัติของโรคระบบประสาท โรคหูหรือโรคตา ระดับการออกกำลังกายลดลง ภาวะ CDS ในสุนัขและแมวมักถูกมองข้ามและไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างเหมาะสม
จากการศึกษาต่าง ๆ ที่อ้างอิงจากการสัมภาษณ์เจ้าของสัตว์เลี้ยง พบว่า ความชุกของ CDS ในสุนัขมีตั้งแต่ 22.5 % ถึง 73.5 % การสำรวจเจ้าของสุนัขอายุ 7 ปีขึ้นไป พบว่า 75 % ของสุนัขมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงโดยสอดคล้องกับ CDS แต่มีเพียง 12 % เท่านั้นที่เจ้าของรายงานอาการต่อสัตวแพทย์
พฤติกรรมที่พบบ่อยจากเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่มี CDS ได้แก่ การจ้องมองวัตถุหรือพื้นที่ว่างเป็นเวลานาน การติดอยู่หลังเฟอร์นิเจอร์หรือในพื้นที่แคบ การตอบสนองล่าช้าหรือไม่ตอบสนองเมื่อเจ้าของกลับบ้าน ไม่ตอบสนองต่อคำสั่งหรือเสียงเรียก จดจำสมาชิกในครอบครัวไม่ได้ ขับถ่ายผิดที่ เช่น สุนัขไม่ส่งสัญญาณก่อนจะปัสสาวะ หรือแมวขับถ่ายใกล้ที่นอน รบกวนวงจรการนอนของเจ้าของ เช่น เดินวนตอนกลางคืน หรือแมวร้องยาวนานในช่วงค่ำ
CDS ส่งผลให้สัตว์เลี้ยงมีคุณภาพชีวิตลดลง หากไม่ได้รับการดูแลตั้งแต่ต้น อาการจะทรุดลงจนส่งผลต่อภาระทางใจของเจ้าของสัตว์ และอาจทำให้ความผูกพันระหว่างเจ้าของกับสัตว์เลี้ยงลดลงไป
สัปดาห์หน้า เรามาติดตามการตรวจวินิจฉัยเกี่ยวกับภาวะสมอเสื่อมในสัตว์เลี้ยงว่า คุณหมอทำอะไรบ้าง แล้วรักษาได้ผลดีหรือไม่
น.สพ. นนทษิต ชุติญาณวัฒน์
โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี