ตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ได้เข้ารับตำแหน่ง เมื่อ 20 มกราคมที่ผ่านมา ก็ได้มีการเผยแพร่ภาพโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังลงนามคำสั่งประธานาธิบดี (Presidential Decree)ไปทั่วโลกก็มีคำถามว่า อะไรคือคำสั่งประธานาธิบดี ซึ่งก็คือคำสั่งของผู้นำฝ่ายบริหาร (Executive Order) ที่มีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานของรัฐบาลกลาง(Federal Agencies) นำไปดำเนินการปฏิบัติโดยทันที (ทั้งนี้ไม่รวมและไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานระดับมลรัฐ (The States)
โดยคำสั่งประธานาธิบดี 6-7 ฉบับ ที่เซ็นออกมาชนิดที่ว่าเก้าอี้ประธานาธิบดียังไม่อุ่น เหล่านี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณไปยังสังคมชัดเจนว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นคนพูดจริงทำจริง อะไรที่สัญญากับประชาชนไว้ช่วงหาเสียง โดยดูได้จากสิ่งที่ระบุไว้ในเอกสารคำมั่นสัญญา (Contract)ว่า จะทำการใดภายในร้อยวันแรกของการเป็นประธานาธิบดี(The First Hundred Days) ก็ได้ดำเนินการทำทันที ซึ่งได้สร้างความฮือฮาและก่อปฏิกิริยาไปทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาและประชาคมโลก โดยมีประชาชนที่ไม่เห็นด้วยออกมารวมตัวประท้วงทันทีทันควัน ด้วยความวิตกกังวล ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง
- การยกเลิกการข้องแวะกับข้อตกลงพหุภาคีเปิดเสรีการค้าคาบมหาสมุทรแปซิฟิกที่ยังเจรจาค้างกันอยู่ (Trans-Pacific Partnership Agreement – TPP) ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เห็นว่าไม่สะท้อนผลประโยชน์ของสหรัฐฯ
- การสั่งการให้รื้อฝันการดำเนินการโครงการวางท่อน้ำมัน เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมพลังงาน
- การสั่งการระงับมิให้ประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมเข้าสหรัฐอเมริกาจำนวน 7 ประเทศ คือ ลิเบีย เยเมน อิรัก อิหร่าน ซีเรีย โซมาเลีย ซูดาน เพราะมีการพัวพันกับการก่อการร้าย ซึ่งก็ถูกตีความว่า จงเกลียดจงชังพวกมุสลิม
- การระงับเป็นการชั่วคราวมิให้ผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย โยกย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็สร้างความโกลาหลกันทุกสนามบินทั่วสหรัฐอเมริกา
- การออกคำสั่งห้ามมิให้ข้าราชการที่ลาออก หรือเกษียณอายุไปทำงานเป็นนักวิ่งเต้น (Lobbyists)ให้รัฐบาลต่างชาติ และห้ามมิให้ข้าราชการดังกล่าวรับงานวิ่งเต้นให้กับบริษัท องค์กรอเมริกันต่างๆ จนกว่าจะพ้นระยะ 5 ปีไปแล้ว
- การประกาศให้มีวันรักชาติ (Patriotic Day) เพื่อเสริมสร้างกำลังใจและความภูมิใจในความเป็นคนอเมริกัน เป็นต้น
นอกจากนั้น สังคมอเมริกันกำลังรอคำสั่งประธานาธิบดีเรื่องให้ทบทวนแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายแผนประกันสุขภาพทั่วหน้าที่อดีตประธานาธิบดีโอบามาเห็นว่าเป็นผลงานชั้นยอดเยี่ยมของตน
จากคำสั่งประธานาธิบดีเหล่านี้ ก่อให้เกิดคำถามจากสังคมว่า ตามกฎหมายแล้ว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สามารถทำแบบนี้ได้ด้วยหรือ? ก็คงต้องตอบว่า กระทำได้ เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจของประธานาธิบดีตามกฎหมายรัฐธรรมนูญข้อที่ II ฉะนั้นประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ได้ใช้อำนาจนี้ในกรอบกฎหมายตามคำมั่นสัญญาที่มีไว้กับประชาชนพลเมือง
ก็มีคำถามต่อไปว่า หากประชาชนพลเมือง หรือนักการเมืองฝ่ายค้านผู้ใดเกิดไม่เห็นด้วย แล้วจะสามารถทำอะไร เพื่อเป็นการแสดงความเห็นได้บ้าง คำตอบก็คือ ผู้ไม่เห็นด้วยคนใดก็ตาม สามารถยื่นฟ้องต่อศาล ให้ดำเนินการทบทวน หรือระงับคำสั่งของประธานาธิบดีได้ ซึ่งในกรณีการห้ามผู้คนจาก 7 ประเทศ และการห้ามผู้อพยพลี้ภัยชาวซีเรียเข้าประเทศสหรัฐฯ ได้มีการยื่นเรื่องต่อศาล และศาลก็ได้พิจารณารวมทั้งมีมติ “คุ้มครอง” แก่ผู้ยื่นฟ้อง เป็นการคัดค้านคำสั่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นการชั่วคราวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งฝ่ายรัฐบาลก็ยังสามารถจะอุทธรณ์ได้โดยแหล่งสุดท้ายของการตัดสิน คือ ศาลสูงสุด หรือศาลฎีกา (The Supreme Court)
ส่วนอีกหนึ่งช่องทางที่ฝ่ายคัดค้านจะดำเนินการได้ก็คือ สภาคองเกรสสามารถออกกฎหมายเพื่อล้มเลิกคำสั่งประธานาธิบดีได้ (Override) แต่เมื่อออกกฎหมายมาล้มเลิกแล้ว ทางประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ยังมีสิทธิ์จะคัดค้านกฎหมายได้ (Veto)และสุดท้ายเรื่องก็คงจะไปจบที่ศาลสูงสุดอยู่ดี
และในกรณีหากคำสั่งหนึ่งใดผิดกฎหมาย ขาดความชอบธรรมอย่างเกินเลย สภาคองเกรสยังมีอำนาจที่จะดำเนินการลงมติไม่ไว้วางใจ และถอดถอนประธานาธิบดีได้ (Impeachment)
บางคนสงสัยต่อไปว่า บรรดาประธานาธิบดีคนก่อนๆ ของสหรัฐฯ ได้ใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา II กันบ้างหรือไม่? ก็ตอบว่า ใช้กันเป็นธรรมดาสามัญ ย้อนดูสถิติ จะเห็นว่าเฉลี่ย 100 กว่าฉบับต่อช่วงครองอำนาจ 4 ปี ถ้าอยู่ 2 เทอม เช่น บุชออกไป 297 ฉบับ โอบามาออกมา 271 ฉบับ(ประธานาธิบดีรูสเวลท์อยู่ในตำแหน่ง 12 ปี 3 เทอม ช่วงสงครามโลกครั้งที่ II ก็ออกคำสั่งไปกว่า 3,000 ฉบับ)
แต่โดยทั่วๆ ไปแล้ว การที่ประธานาธิบดีจะออกคำสั่งโดยความชอบธรรมทางกฎหมายและประเพณีปฏิบัติ ก็มักจะเป็นด้วยประเทศมีสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ภัยพิบัติ ปัญหาประท้วงใช้ความรุนแรง สภาวะสงคราม หรือเพราะการออกกฎหมายของสภาคองเกรสชะงักงันหรือเชื่องช้า ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะเปิดทางให้ประธานาธิบดีได้สามารถบริหารประเทศได้คล่องตัว และทันต่อเหตุการณ์
แต่การออกคำสั่งประธานาธิบดีชุดแรกดังกล่าวของโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สะท้อนให้เห็นว่า ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐฯนั้น มีความเป็นนักปฏิบัติมากกว่านักวิเคราะห์ นักพูด นักสร้างสัญญาปากเปล่า ดังนั้น อะไรที่เขาได้หาเสียงเอาไว้ ชาวสหรัฐฯและชาวโลก ก็คงจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจที่จะได้พบกันได้เลย จะมาก จะน้อย อย่างไรไม่ใช่ปัญหา แต่ว่าจะทำอย่างแน่นอน ซึ่งก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกสหรัฐอเมริกา และคงจะนำไปสู่การสร้างระเบียบโลกใหม่ก็ได้ (New World Order)
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี