ไม่มีใครปฏิเสธว่าสังคมไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจดำรงอยู่มาช้านานแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่าปัญหานี้
มิได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น เพราะหลายประเทศทั่วโลกต่างก็ประสบปัญหาเดียวกัน
มูลเหตุสำคัญที่ทำให้ต้องนำเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมาพูด เพื่อชวนคุณคิดและชวนคุณคุยในวันนี้ก็เพราะมีผู้ชอบอ้างว่าความเหลื่อมล้ำคือต้นเหตุสำคัญประการหนึ่งของวิกฤติการเมืองของไทย
อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าถึงแม้ผู้เขียนจะไม่ได้เชื่อเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยหรือวิกฤตการณ์ทางการเมืองของไทยจะเกิดมาจากปัจจัยด้านความเหลื่อมล้ำทางสังคม และทางเศรษฐกิจเพียงปัจจัยเดียวก็ตาม เพราะผู้เขียนมีหลักฐานยืนยันว่าวิกฤตการณ์การเมืองไทยเกิดมาจากปัจจัยอื่นๆ อาทิ การแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตายกันทางการเมืองระหว่างกลุ่มอิทธิพล แต่ถึงกระนั้นก็มิได้มองข้ามเรื่องความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมไทย
Credit Suisse’s Global Wealth Report 2016 รายงานความมั่งคั่งของโลก ในปี ค.ศ. 2016 โดยระบุว่า ประเทศซึ่งมีช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนสูงที่สุดในโลกคือรัสเซีย โดยระบุว่าความมั่งคั่งของประเทศมากกว่า 74.5 เปอร์เซ็นต์ กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนผู้มีฐานะร่ำรวยที่สุด ซึ่งมีจำนวนเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยอินเดีย และไทย โดยระบุว่าในอินเดียนั้นความมั่งคั่ง 58.4 เปอร์เซ็นต์กระจุกอยู่ที่คนเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ส่วนไทย ความมั่นคง 58 เปอร์เซ็นต์กระจุกตัวอยู่ในคน 1 เปอร์เซ็นต์
ส่วนประเทศที่ติดอันดับมีช่องว่างรายได้ตามมาคือ อินโดนีเซีย, บราซิล, จีน, สหรัฐอเมริกา, แอฟริกาใต้ และเม็กซิโก
Credit Suisse รายงานด้วยว่า ประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจในหมู่ประชาชนคือปัญหาใหญ่ในทุกประเทศบนโลกนี้ และรายงานว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกมีรายได้น้อยมาก จนเกือบจะไม่สามารถเข้าถึงความมั่งคั่งของโลกใบนี้ได้แม้แต่น้อย หรือได้ไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ในขณะที่คนผู้ร่ำรวยที่สุดของโลกซึ่งมีเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ กลับสามารถครอบครองความมั่งคั่งทั้งหมดได้กว่า 89 เปอร์เซ็นต์ และพบอีกว่า คนที่รวยที่สุดเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ คือผู้ครอบครอง
ความมั่งคั่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกใบนี้ไว้ในกำมือ
ช่องว่างของรายได้คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม และความเหลื่อมล้ำก็นำไปสู่การขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติของคนในสังคม การขาดสิทธิในการได้รับบริการสาธารณะโดยเท่าเทียมกันจากภาครัฐ และการขาดโอกาสในการศึกษาหาความรู้ที่มีคุณภาพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต
แต่หากจะถามว่าแล้วอะไรทำให้คนเกิดความเหลื่อมล้ำ (ขอเน้นเฉพาะคนไทยเท่านั้น) ก็มักจะได้คำตอบว่า เพราะบุญทำกรรมแต่ง เพราะโชควาสนา เพราะความอัปโชค หรือเพราะพรหมลิขิต แต่มักไม่มีใครยอมรับว่า พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน และทัศนคติในการใช้ชีวิตของตนเอง คือมูลเหตุสำคัญของความเหลื่อมล้ำ
คนบางคนก็หนักหนาจนเกินจะเยียวยา เพราะอ้างว่า เมื่อเกิดมาจนแล้วก็ต้องจนไปตลอดชีวิต ไม่มีทางดีไปกว่าเดิมได้ แต่คนที่เชื่อเช่นนี้จำนวนไม่น้อยก็ยังคงใช้ชีวิตแบบเดิมๆ คือ ไม่ประหยัด ไม่อดออม ไม่ขวนขวาย และบางรายยิ่งหนักกว่าคือ เน้นการดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดตามแต่จะมีเงินซื้อหามาได้ แถมยังสูบบุหรี่จัด และดื่มเครื่องดื่มจำพวกที่อ้างว่าชูกำลังอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง บางรายกู้หนี้ยืมสินแบบไม่รู้จักบันยะบันยัง
ผู้เขียนเคยถามผู้ที่อ้างว่าตนเองยากจนว่า ทำไมจึงต้องซื้อน้ำดื่มจากตู้กรองน้ำประปาแบบหยอดเหรียญ เหตุใดไม่ดื่มน้ำประปาต้ม คำตอบที่ได้คือ ไม่มีเวลา และต้มน้ำก็สิ้นเปลืองค่าไฟฟ้า ครั้นถามต่อไปว่า ทราบไหมว่าน้ำประปาที่มาจากตู้กรองน้ำก็ไม่สะอาดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ที่หนักกว่าคือแพงมากถึงลิตรละ 1 บาท เขาก็ยืนยันว่าจำเป็นต้องทำ เพราะไม่สะดวกที่จะต้มน้ำประปาดื่ม
ผู้เขียนจึงแนะนำเขาว่า ลองไปเอาใบเสร็จค่าน้ำประปาของการประปานครหลวงมาดู แล้วจะพบข้อเท็จจริง เขาหยิบใบเสร็จ
มาให้ดู ผู้เขียนจึงชี้ให้เขาเห็นว่า ในแต่ละเดือนบ้านเขาใช้น้ำ 11 หน่วย ค่าน้ำดิบตกประมาณ 1.65 บาท ค่าน้ำประปา 93.50 บาท ค่าบริการรายเดือน 25 บาท ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 8.41 บาท รวมเงิน 128.56 บาท เท่านั้น แต่กับการที่เขาต้องซื้อน้ำประปาจากตู้กรองหยอดเหรียญ โดยต้องจ่ายค่าน้ำลิตรละ 1 บาท ถือว่าเหมาะสมหรือไม่ เมื่อเขารู้เช่นนี้แล้ว เขาจึงบอกว่า ลืมคิดไป แล้วต่อไปจะต้มน้ำดื่ม เพราะประหยัดเงินมากกว่า
ผู้เขียนคิดเสมอว่า ตนเองไม่บังอาจไปสั่งสอนให้ใครประหยัดหรืออดออมได้ แต่สามารถทำได้แค่เพียงชี้ให้เขาเห็นความจริง แล้วตัดสินใจเลือกด้วยตัวของเขาเองว่าเขาเหมาะสมกับหนทางเช่นไร
ขอกลับไปที่ประเด็นความเหลื่อมล้ำในสังคมอีกครั้ง และขอบอกว่าความเหลื่อมล้ำถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมที่เกิด
มาจากปัจจัยสำคัญคือ การมีอำนาจ และสถานะทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นปัญหาที่ภาครัฐจำเป็นต้องเข้าไปมีส่วนแก้ไขอย่างจริงจัง ด้วยการใช้มาตรการด้านภาษี และเร่งปฏิรูปการศึกษา รวมถึงการจัดสวัสดิการสังคมให้กับผู้ที่จำเป็นต้องได้รับ และเร่งสร้างความเท่าเทียมทางโอกาสให้กับคนทุกคนในสังคม
แต่ขณะเดียวกัน สำหรับผู้ที่รู้ตัวเองว่าตนเองอยู่ในสถานะที่ตกเป็นผู้ด้อยกว่าก็จำเป็นต้องมองตัวเองให้ทะลุปรุโปร่งว่าอะไรคือปัจจัยหลักที่ทำให้ตนกลายเป็นผู้ที่ด้อยกว่าในเชิงเปรียบเทียบ แล้วต้องเร่งพัฒนาตัวเอง แต่ถ้าหากผู้ซึ่งรู้ว่าตนเองตกอยู่ในสภาพด้อยกว่า แต่กลับไม่พยายามพัฒนาตัวเอง แถมยังอ้างแบบไร้ความรับผิดชอบต่อชีวิตของตนว่า มันเป็นเรื่องของบุญของกรรม หรือตามแต่พรหมลิขิต แล้วก็งอมืองอเท้าต่อไป ถ้าเป็นแบบนี้ก็คงไม่สามารถนำพาให้ชีวิตของตนเองและคนในครอบครัวดีขึ้นไปกว่าเดิมได้
ขอยืนยันว่ารัฐบาลมีหน้าที่ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างความเป็นธรรม เพื่อลดเงื่อนไขและปัจจัยการเกิดปัญหาความขัดแย้งในสังคม เช่นจะต้องปฏิรูปการจัดเก็บภาษีให้เป็นธรรม ผู้มีรายได้มากและมีทรัพย์สินมากก็ต้องเสียภาษีให้กับรัฐมากกว่าคนที่มีเศรษฐสถานะต่ำกว่าตน
ดังนั้นจึงมีคำถามว่า รัฐบาลทำหน้าที่จัดเก็บภาษีโดยเป็นธรรมแล้วหรือยัง และคำถามต่อมาคือรัฐบาลใช้เงินภาษีที่ได้คุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์หรือไม่ มีการทุจริตการนำเงินภาษีอากรไปใช้หรือไม่
แต่ในส่วนของประชาชนก็ต้องพัฒนาตัวเองด้วยเช่นกัน ไม่ควรรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว และไม่ควรอ้างความจนในการทำผิดกฎกติกาของสังคม
ผู้เขียนเคยคุยกับผู้ขายของบนทางเท้า (เฉพาะคนที่คุ้นเคยด้วยเท่านั้น) ว่า ทำไมจึงตั้งร้านขายของบนทางเท้า เขาบอกว่า
เพราะเขายากจน ไม่มีเงินไปเช่าร้านหรือห้องแถวเพื่อทำกิจการ ผู้เขียนถามต่อว่า แล้วรู้ไหมว่าการทำเช่นนี้มันผิดกฎหมาย
เขาตอบว่า เขาจ่ายเงินรายเดือนให้กับผู้ดูแลสถานที่แล้ว ผู้เขียนถามต่อว่า จ่ายเงินให้กับผู้ดูแลได้อย่างไร ใครดูแล ใครเป็นเจ้าของทางเท้าสาธารณะ เขาตอบว่า ไม่รู้หรอกว่าคนเก็บเงินมาจากไหน แต่เขามาเก็บตลอด ทั้งแบบรายวันและรายเดือน ถ้าไม่ให้เขาก็ขายไม่ได้ แล้วคนขายของก็บอกอีกว่า หากไม่ได้ขายของที่นี่ก็คงต้องไปปล้นเขากินแล้ว เพราะไม่มีความรู้ที่จะไปทำงานอื่นๆ
ขอเน้นคำพูดที่ว่า “หากไม่ได้ขายของที่นี่ก็คงต้องไปปล้นเขากินแล้ว เพราะไม่มีความรู้ที่จะไปทำงานอื่นๆ”
ขอถามคุณผู้อ่านว่า เมื่อคุณอ่านข้อความนี้แล้วรู้สึกเช่นไร เห็นด้วยหรือไม่ ผู้เขียนขอถามด้วย เหมาะสมหรือไม่กับการอ้างว่าจนแล้วต้องทำผิดกฎหมาย
เป็นความจริงหรือว่า คนที่อ้างว่ายากจนต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการทำผิดกฎหมาย คนยากจนไม่มีอาชีพอื่นให้ทำ นอกจากต้องปล้นเขากินจริงๆ หรือ แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว ไม่เคยเชื่อ แล้วก็ไม่เชื่อด้วยว่าคนที่รวยจนล้นฟ้าจะไม่ทำผิดกฎหมาย และไม่ฉ้อฉลโกงบ้านโกงเมือง
ขอฝากคำถามนี้ไปถึงคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะจนหรือรวยก็ตาม และขอฝากเรื่องนี้ไปยังรัฐบาลไทยว่า จะมีนโยบายหรือแนวทางขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้ลดลงอย่างเป็นรูปธรรมด้วยกรรมวิธีใด
เฉลิมชัย ยอดมาลัย
คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี