SLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participation) แปลแบบยาวๆ อย่างวิชาการได้ว่า“การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน” แต่เรียกอย่างบ้านๆ ง่ายๆ ว่า “ฟ้องปิดปาก” ซึ่งเป็นการพ้องเสียงกันพอดีในภาษาอังกฤษ SLAPP อ่านว่า “สแล็ป” เหมือนกับคำว่า “Slap” ที่แปลว่า “ตบ” หรือก็คือการ “ตบปาก” ให้หยุดพูด “หยุดวิพากษ์วิจารณ์” ความไม่ชอบมาพากล โดยเฉพาะจากการใช้อำนาจไม่ว่ารัฐหรือทุน
เมื่อ 30 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจัดเวทีเสวนาวิชาการ “การพัฒนากฎหมายและกลไกป้องกันการฟ้องคดีปิดปากเพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ” ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการยกตัวอย่างหลายกรณี เช่น ยิ่งชีพอัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์-iLaw) กล่าวถึงเรื่องที่ แอนดี้ ฮอลล์ (Andy Hall) นักวิชาการชาวอังกฤษ ถูกบริษัทเอกชนฟ้องฐานนำเสนอข้อมูลการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติในกิจการโรงงานผลไม้กระป๋องในไทย
หรือกรณี เหมืองทองเมืองเลย ที่บริษัททำเหมืองฟ้องทั้งข้อหาหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในลักษณะตั้งทีมงานขึ้นมาดูว่าวันวันหนึ่งนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชุมชนโพสต์ข้อความอะไรบนโลกออนไลน์บ้าง หากพาดพิงก็ตั้งเรื่องฟ้องทันที จนทุกวันนี้ก็ยังต่อสู้คดีกันอยู่ รวมถึงรายงานข้อมูลฝ่ายความมั่นคงทรมานผู้ต้องสงสัยในคดีก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่หน่วยงานรัฐโดยฟ้อง 3 นักเคลื่อนไหวที่นำข้อมูลมาเปิดเผย
ยิ่งชีพมองเรื่องนี้ว่า “บางคนหรือบางกลุ่มไม่ชอบการถูกวิพากษ์วิจารณ์” ซึ่งมีจำนวนน้อย แต่คนจำนวนน้อยนี่เองที่สร้างคดีจำนวนมาก หรือบางทีก็เป็นกรณีที่น่าอึดอัดใจ เช่น ชาวบ้านไปร้องเรียนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ถูกตำรวจคู่กรณีฟ้องฐานแจ้งความเท็จ โดยตำรวจที่ฟ้องชาวบ้านก็ทำงานในสถานีตำรวจที่ชาวบ้านไปแจ้งความนั่นเอง คำถามคือแล้วชาวบ้านจะสู้คดีได้หรือไม่?
โดยสรุปแล้วการฟ้องปิดปาก ซึ่งนอกจาก SLAPPยังมีอีกคำหนึ่งคือ Judicial Harassment ที่แปลว่า“การยืมมือกระบวนการยุติธรรมเพื่อทำบางอย่างให้ตนเองบรรลุผล เช่น ทำให้คนที่พูดเลิกพูด” เป็นการสร้างบรรยากาศความกลัว ทำให้คนที่เคลื่อนไหวด้านสังคมมีภาระยุ่งยากอยู่กับการไปศาลจนไม่อาจเคลื่อนไหวได้อีก หรือประเภท “ฟ้องไปเยอะๆ ไว้ก่อน”เพื่อเอาไป “ต่อรอง” กับคู่กรณีให้หยุดเคลื่อนไหวเสีย
“เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมหลายท่านก็เข้าใจนะ ตำรวจ อัยการ มีการเดินมาให้กำลังใจ บอกว่าไม่อยากทำหรอกคดีแบบนี้ ศาลหลายท่านก็เข้าใจตั้งแต่ก่อนขึ้นบัลลังก์ อยากจะยกฟ้องอยู่แล้ว แต่ยกฟ้องทันทีไม่ได้ ก็ต้องสืบพยานไปตามกระบวนการให้เสร็จซึ่งขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมเหล่านี้กำลังถูกหยิบยืมใช้โดยคนบางกลุ่ม เพื่อผลประโยชน์ที่ไม่ใช่ต้องการผลคดี หลายคนก็รู้ว่าฟ้องไปก็แพ้แต่ก็ต้องฟ้องเพื่อหวังผลประโยชน์อย่างอื่น ผมคิดว่าบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมคงจะเห็นอยู่แล้วว่ามันเกิดขึ้นและไม่อยากให้เกิดขึ้น” ผจก.ไอลอว์ กล่าว
จากปัญหาที่เกิดขึ้น ต้องบอกว่าคนในแวดวงกระบวนการยุติธรรมก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ อาทิ ก่อนหน้านี้ที่มีการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (มาตรา 14) หลังพบปัญหากฎหมายปี 2550 ว่าด้วยการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จถูกนำไป“ฟ้องพ่วง” กับข้อหาหมิ่นประมาทในประมวลกฎหมายอาญา กลายเป็นภาระของจำเลยเพราะข้อหาหมิ่นประมาทยอมความได้แต่ข้อหาใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ยอมความไม่ได้
จนต่อมาในกฎหมายใหม่ปี 2560 ได้ระบุถ้อยคำลงไปว่ามาตรา 14 ไม่ใช้ฟ้องคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อาญา เป็นต้น หรือกรณีล่าสุดที่พรภัทร์ ตันติกุลานันท์ ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรมเปิดเผยในงานเสวนาครั้งนี้ว่า ทางสำนักงานศาลยุติธรรมได้เสนอขอแก้ไข ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) โดยให้ระบุไว้ในมาตรา 161/1 ว่า
“มาตรา 161/1 ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ ก่อนไต่สวนมูลฟ้อง หากความปรากฏต่อศาลว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้ง หรือเอาเปรียบจำเลยหรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ ศาลจะมีคำสั่งไม่ประทับฟ้องนั้นก็ได้ และห้ามโจทก์ยื่นฟ้องคดีนั้นอีก คำสั่งเช่นว่านี้ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่”
ผู้แทนศาล อธิบายต่อไปว่า พฤติกรรมที่เข้าข่ายข้อกฎหมายข้างต้น อาทิ การฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา มีการไปฟ้องในที่ไกลๆ โดยอ้างว่ารับทราบเรื่องที่นั่น ลักษณะนี้อาจเข้าข่ายฟ้องเพื่อกลั่นแกล้ง ไม่ได้ฟ้องเพราะมุ่งหวังชนะคดี แต่ต้องการให้คู่กรณีรู้สึกกลัวเพื่อทำการต่อรองบางอย่าง อย่างไรก็ตาม การแก้กฎหมายครั้งนี้เน้นไปที่ “เอกชนใช้สิทธิฟ้องเอง” เพราะการฟ้องปิดปากจำนวนมากมักทำโดยภาคเอกชน ส่วนการฟ้องโดยอัยการเชื่อว่าได้ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วจากกระบวนการในชั้นสอบสวน จึงยังให้สิทธิอัยการฟ้องได้
แต่ในมุมภาคประชาชน ส. รัตนมณี พลกล้า ผู้แทนมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน มองว่า อยากให้ปรับแก้เพิ่มเติมว่า “แม้จะเป็นการยื่นฟ้องโดยอัยการ แต่ศาลก็ควรมีอำนาจตรวจสอบและสั่งไม่ฟ้องได้เช่นเดียวกับกรณีบุคคลยื่นฟ้องเอง” เพราะต้องยอมรับว่าในบางเรื่องอัยการก็มีเวลาตรวจสอบสำนวนน้อย เช่น มีเวลาเพียง 1 วัน ในการสั่งฟ้อง อัยการก็ต้องรีบสั่งฟ้องไปก่อน ศาลก็จะได้ช่วยตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนออื่นๆ เช่น อยากให้แก้ไขครอบคลุมไปถึงการฟ้องคดีแพ่งด้วย รวมทั้งใน พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 (มาตรา 21) ที่ให้อำนาจอัยการสามารถสั่งไม่ฟ้องได้ในกรณีฟ้องแล้วไม่เป็นประโยชน์กับสาธารณะ ซึ่งสามารถใช้ดุลยพินิจตีความได้กว้างมาก แม้ทางอัยการจะมีแนวปฏิบัติว่าคดีแบบใดที่ไม่เป็นประโยชน์กับสาธารณะ แต่บุคคลภายนอกมักไม่ค่อยได้รับรู้ หรือแม้แต่ ทนายความ ควรได้รับการให้ความรู้ด้านการเคารพสิทธิมนุษยชน จะได้แนะนำลูกความที่เป็นภาคธุรกิจเอกชนว่าหลายเรื่องไม่จำเป็นต้องฟ้องให้เป็นคดี
เช่นเดียวกับ สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ที่เสนอแนะว่า “คดีหมิ่นประมาทไม่ใช่อาชญากรรมร้ายแรง การพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันได้หรือไม่?” เพราะคดีหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา (ป.อาญา มาตรา 328) มีโทษเพียงจำคุกไม่เกิน 2 ปี เพื่อลดภาระในการต่อสู้คดี เช่นเดียวกับ กองทุนยุติธรรม น่าจะเข้ามาช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายและเรื่องการจัดหาทนายความ ทั้งนี้ย้ำว่า การที่ชาวบ้านถูกปิดปากจนไม่กล้าร้องทุกข์ หรือนักวิชาการไม่กล้าเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ
นี่คือ “ความสูญเสียของสังคม” เสียโอกาสรับรู้ข้อเท็จจริงต้นสายปลายเหตุของเรื่องที่เกิดขึ้น!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี