การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในบ้านเรา นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 จนถึงขณะนี้ ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในวงจรเดิมๆ คือ มีการเลือกตั้ง มีการตั้งรัฐบาล มีการปฏิวัติรัฐประหาร แล้วก็มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเป็นวงจรอย่างนี้มาโดยตลอด
ถึงเวลาที่จะต้องช่วยกันออกจากวงจรนี้ให้ได้
เดินไปสู่การเมืองใหม่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ใช่มีอำนาจเพียงแค่ไปเลือกตั้งเท่านั้น แล้วก็ปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างหลังการเลือกตั้งอยู่ในมือของคนอื่น ที่จะทำอะไรตามชอบใจ ทั้งในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งทั้งสองฝ่ายที่ว่านี้ต้องระลึกถึงตลอดเวลาว่าตนเองนั้นเป็นเสมือนต้นน้ำ ถ้าต้นน้ำไม่สะอาด ปลายน้ำก็สกปรก ชาวบ้านต้องกินน้ำและใช้น้ำที่สกปรกตลอดเวลา
บ้านเมืองที่ผ่านมายังไม่ดีขึ้นเพราะเรื่องอย่างนี้
ต้องรู้จักซักใจของตนให้สะอาด มีหน้าที่การงานที่ต้องทำ ก็ต้องทำด้วยใจที่สะอาดเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของบ้านเมือง ให้สมกับที่ประชาชนเลือกเข้ามา
ตราบใดที่ใจสะอาด งานของส่วนรวมก็ยังเกิดผลไม่ตกอยู่ในความอยาก ความลุ่มหลง ความมัวเมา ความฟุ้งซ่าน จิตใจก็จะปลอดโปร่ง เข้มแข็ง มีจิตใจในความรับผิดชอบชั่วดี ดึงดูดใจผู้คนให้เกิดความรัก ประสบความสำเร็จในการทำงาน
ประชาชนต้องเจ็บปวดมากแล้วจากการทำงานของคนที่เลือกเข้าไปทำงานให้กับพวกเขา ที่ไปทำงานเพื่อประโยชน์ตนและพรรคพวกตลอดเวลา จนบ้านเมืองโดยรวมต้องเสียหาย ไม่เดินไปข้างหน้า แม้กระทั่งเอาอำนาจของประชาชนไปใช้ทำมาหากินให้กับตนเอง
ออกกฎหมายเพื่อคนส่วนน้อยที่มีอำนาจ เป็นต้น
หรือบริหารบ้านเมืองเพื่อให้ตนได้ประโยชน์
ยังทำงานทำการกันแบบเดิมๆไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งในที่สุดแล้วประชาชนที่เลือกตนเข้ามาทำงานก็สิ้นหวัง พึ่งพาอะไรไม่ได้อย่างที่สัญญาไว้ หรือพูดไว้ระหว่างการหาเสียง
ขณะนี้ถึงเวลาแล้วจริงๆที่ทุกคนในบ้านเมือง ที่มีอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงในการเลือกตั้ง ต้องตั้งตัวเสียใหม่ในการใช้อำนาจอธิปไตยของตนในการช่วยกันจัดการสร้างกระบวนการใหม่ในการเลือกตั้ง สร้างการเมืองใหม่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้เกิดขึ้นให้ได้ โดยปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในการบริหารประเทศ ที่มีแนวคิดในการขับเคลื่อนประเทศด้วยการทำให้สภานิติบัญญัติเป็น “สภาประชาชน” จริงๆ ในการขับเคลื่อนบ้านเมืองไปข้างหน้า
สภาประชาชนที่เปลี่ยนชื่อมาจากสภานิติบัญญัติ
มีจำนวนไม่เกิน 300 คนก็พอ จะทุ่นเงินงบประมาณแผ่นดินไปได้เกือบครึ่งหนึ่งจากที่เคยมี 500 คน ในชื่อสภานิติบัญญัติ โดยคัดเลือกมาจากประชาชนในกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่สำคัญในประเทศ ในสัดส่วนดังต่อไปนี้
1. กลุ่มเกษตรกร 20% ประกอบด้วย ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ และ ประมง เป็นอาชีพ
2. ผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้าง 15% (ประกอบด้วย กรรมกร ผู้รับจ้างทั่วไปของเอกชน)
3. ข้าราชการ 10% ประกอบด้วย ตัวแทนแต่ละกระทรวง
4. ตุลาการ อัยการ ทนายความ 6% ประกอบด้วย ตัวแทนของแต่ละฝ่าย 4.1.1%
5. ฝ่ายความมั่นคง 5% ประกอบด้วย ตัวแทนจาก 3 เหล่าทัพ ( ทัพบก ทัพเรือ และทัพอากาศ )
6. รัฐวิสาหกิจ 5% ประกอบด้วย ตัวแทนของแต่ละแห่ง
7. นักวิชาการอิสระ 5% ประกอบด้วย ตัวแทนแต่ละสาขา
8. องค์กรครู อาจารย์ 5% ประกอบด้วย ตัวแทนทั้งภาครัฐและเอกชน
9. องค์กรแพทย์และพยาบาล 5% ประกอบด้วยตัวแทนทั้งภาครัฐและเอกชน
10.ผู้ค้าปลีกรายย่อย 4% ประกอบด้วย ตัวแทนจากผู้ประกอบการรายย่อยและรายเล็ก
11.ผู้ประกอบการภาคการผลิตและส่งออก 3% ประกอบด้วย ตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรม
12.ผู้ประกอบการจัดจำหน่ายค้าส่ง 2% ประกอบด้วย ตัวแทนจากหอการค้า
13.หน่วยงานอื่นๆ 15% หน่วยงานละไม่เกิน 2%
นี่คือกรอบและโครงสร้างใหม่ที่มาเป็นสภาประชาชน
ที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของประชาชน เพื่อประชาชน
จะเป็นการเมืองใหม่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในการเป็นผู้ร่วมกันพิจารณาจัดตั้งผู้มีหน้าที่ในการบริหารบ้านเมือง ซึ่งมีที่มาจากประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เป็นทางเลือกหนึ่งที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจริงๆ ที่ไม่ใช่เป็นเพียงตัวหนังสือ
น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี