อันที่จริง สัปดาห์นี้ผู้เขียนตั้งใจจะเขียนเรื่องราวเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 แต่เมื่อนึกไปนึกมา ก็คงจะได้แค่เพียงเขียนการตั้งคำถามเหมือนเดิมที่ซ้ำๆ กันทุกปี เพราะจนถึงวันนี้แล้ว ผ่านไป 43 ปี ก็ยังไม่มีความกระจ่างกับเหตุการณ์มิคสัญญีในครั้งนั้น แล้วคนในสังคมไทยที่สนใจเรื่องราว 6 ตุลาฯ 2519 ก็ยังคงต้องค้นหาความจริงกันต่อไป
เมื่อคิดได้เช่นนี้แล้ว ก็จึงเปลี่ยนใจ โดยขอชวนคุณๆ ไปค้นหาเรื่องราวสุดประหลาดมหัศจรรย์ภายในการบินไทย สายการบินแห่งชาติของไทยด้วยกัน เพราะยิ่งค้นก็ยิ่งพบความประหลาดมหัศจรรย์จนเกินบรรยาย
ความมหัศจรรย์อันดับแรกที่สร้างความฉงนให้กับสังคมไทยและธุรกิจสายการบินระดับโลกก็คือ การบินไทยมีผู้ดำรงตำแหน่งรักษาการในหน่วยงานสำคัญ ทั้งๆ ที่หน่วยงานสำคัญนั้นจำเป็นต้องมีผู้บริหารตัวจริง เพื่อให้สามารถดำเนินงานของบริษัทให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และนำมาซึ่งผลประโยชน์สูงสุดขององค์กร
ลองไปดูกันว่าตำแหน่งรักษาการในการบินไทยมีอะไรบ้าง เริ่มต้นจากการที่ DD หรือกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ นายสุเมธดำรงชัยธรรม เข้ารับตำแหน่งรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายช่าง (DT) โดยผู้ลงนามแต่งตั้งให้รักษาการตำแหน่งนี้คือ DD
เมื่อมีคำสั่งเช่นนี้ออกมา จึงทำให้ผู้คนในประชาคมการบินไทยตั้งคำถามพร้อมๆ กันว่า นายสุเมธมีความรู้ความเชี่ยวชาญและความชำนาญในเรื่องฝ่ายช่างหรือ แล้วเหตุใดการบินไทยจึงไม่สามารถหาผู้ดำรงตำแหน่งนี้ที่เป็นตัวจริง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญชำนาญงานด้านช่างเข้ารับหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม
นางสุวิมล บัวเลิศ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายทรัพยากรบุคคล (DB) ยังควบตำแหน่งรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายบริหารงานกฎหมายและบริหารทั่วไป (AI) แล้วยังควบตำแหน่งรักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล (A9)
นายวิวัฒน์ ปิยะวิโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการพาณิชย์ ควบตำแหน่งรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่หน่วยธุรกิจบริการการบิน (DI)
(อ้างอิงข้อมูลจาก กระทรวงคมนาคม gphone.prd.go.th ส่วนข้อมูลเรื่อง DD ควบตำแหน่ง DT มาจากข้อมูลที่ผู้เขียนทราบจากประชาคมชาวการบินไทย)
นับเป็นเรื่องที่ต้องย้ำว่ามหัศจรรย์มาก กับการที่การบินไทยมีตำแหน่งรักษาการมากมาย คำถามต่อไปก็คือ ทำไมต้องรักษาการทำไมไม่มีบุคลากรที่ทำหน้าที่นี้ในฐานะตัวจริง แล้วคนหนึ่งคนจะสามารถทำหน้าที่สำคัญๆ ในตำแหน่งรักษาการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดได้จริงหรือ หรือว่านี้คือการประหยัดงบประมาณการดำเนินการของการบินไทย เพราะผู้ทำหน้าที่รักษาการไม่ต้องรับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนในตำแหน่งรักษาการ เนื่องจากรับเงินในตำแหน่งที่ทำหน้าที่โดยตรงเพียงตำแหน่งเดียว แต่ถ้าหากผู้นั้นรับเงินเดือนในทุกตำแหน่ง ทั้งตำแหน่งจริงและตำแหน่งรักษาการ ก็ต้องนับว่าน่าจะเข้าข่ายประพฤติมิชอบหรือไม่ เพราะรับเงินและค่าตอบแทนหลายทางในขณะเดียวกัน
กลับไปที่ประเด็นที่น่าสนใจเป็นอย่างมากคือ ทำไมและเหตุใดฝ่ายช่างการบินไทยไม่สามารถสรรหาบุคคลที่เหมาะสมเข้ารับตำแหน่งDT ตัวจริงได้ ทั้งๆ ที่ฝ่ายช่างนับเป็นหน่วยงานที่ถือได้ว่าเป็นหัวใจของการบินไทย แล้วเหตุใดคนในฝ่ายช่างจึงไม่สามารถก้าวขึ้นไปเป็น DTตัวจริงได้ ทั้งๆ ที่ในฝ่ายช่างมีบุคลากรที่ทำงานในสายนี้มาอย่างยาวนาน หรือการบินไทยจะให้คำตอบว่า ไม่สามารถหาตัวจริงของผู้ที่จะเข้าดำรงตำแหน่งนี้ได้ เพราะบุคลากรในสายงานโดยตรงไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพียงพอ จึงต้องให้ DD ซึ่งหลายคนก็ยังสงสัยว่ามีความรู้ด้านธุรกิจการบินแท้จริงหรือ เข้าควบตำแหน่งดังกล่าว
นี่เป็นหนึ่งในคำถามสำคัญที่สังคมตั้งคำถามกับการบินไทย แล้วก็เฝ้ารอว่าการบินไทยจะตอบคำถามเรื่องนี้ให้กระจ่างอย่างไร
ส่วนคำถามตามมาคือ เหตุใดนางสุวิมล บัวเลิศ จึงต้องทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งสำคัญๆ ภายในการบินไทยหลายตำแหน่ง เป็นเพราะว่า นางสุวิมลมีความเชี่ยวชาญในหลายด้านจนการบินไทยต้องยอมให้ทำหน้าที่รักษาการพร้อมๆ กันหลายตำแหน่ง หรือเป็นเพราะว่ามีเหตุผลอื่น คนในการบินไทยวิพากษ์ว่า หากนางสุวิมลมีความรู้ความสามารถหลายด้านอย่างแท้จริงแล้ว ก็น่าจะดำรงตำแหน่งDD การบินไทยด้วยหรือไม่ (แน่นอนว่าคำถามนี้มาจากฝ่ายที่อาจจะสงสัยในความสามารถที่แท้จริงของนางสุวิมล)
ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าการบินไทยเป็นองค์กรธุรกิจระดับนานาชาติ เป็นองค์กรธุรกิจข้ามชาติ (Multi-National Corporation)ดังนั้นภาพลักษณ์ขององค์กรจึงเป็นเรื่องสำคัญในสายตาของประชาคมโลก แต่ที่มากกว่านั้นคือ ความรู้ความเชี่ยวชาญชำนาญการของผู้บริหารระดับสูงก็ย่อมเป็นเรื่องสำคัญที่ประชาคมโลกเฝ้าติดตามสังเกตอย่างใกล้ชิดเช่นกัน
ดังนั้นประเด็นที่การบินไทยมีผู้รักษาการในตำแหน่งสำคัญขององค์กรจึงทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมองค์กรขนาดใหญ่ของประเทศไทยที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเช่นนี้จึงไม่มีการวางตัวของผู้บริหารให้ชัดเจนมีหลายคนที่ติดตามการทำงานของการบินไทย นำการบินไทยไปเปรียบเทียบกับ SCG หรือชื่อที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกจนติดปากคือ บริษัทปูนซิเมนต์ไทยแล้วตั้งคำถามว่า ทำไมการบินไทยไม่สามารถวางตัวทายาทที่จะขึ้นรับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงขององค์กรได้เหมือนกับปูนซิเมนต์ไทยได้กระทำต่อเนื่องกันมาหลายสิบปี เป็นเพราะว่าการบินไทยถูกแทรกแซงโดยกลุ่มอิทธิพลการเมืองใช่หรือไม่ หรือเป็นเพราะว่าความไม่เป็นโล้เป็นพายภายในบริษัทการบินไทยเอง หรือเป็นเพราะว่าการบินไทยไม่มีทายาทขององค์กรที่มีความสามารถเพียงพอที่จะขึ้นรับตำแหน่งสำคัญสูงสุดขององค์กรได้ และมีอีกสารพัดคำถามที่ถาโถมไปที่การบินไทย ซึ่งสังคมถามไปแล้วหลายร้อยหลายพันครั้ง แต่ก็ไม่มีคำตอบใดๆ จากการบินไทย
อันที่จริงยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าติดตามค้นหาอย่างมากภายในการบินไทยคือ เรื่องการสรรหาบุคคลภายนอกเพื่อเข้ารับหน้าที่ในตำแหน่งสำคัญ เช่น ตำแหน่ง DB (รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายทรัพยากรบุคคล), DN (รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการพาณิชย์) และ DY (รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน) เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจว่าตำแหน่งนี้มีเงินเดือนและค่าตอบแทนสูงมาก (ประมาณ 7 แสนบาทต่อเดือน) แต่เมื่อพยายามสรรหาจากบุคคลภายนอกแล้ว กลับกลายว่าหาบุคคลภายนอกที่เหมาะสมไม่ได้ ก็จึงต้องอนุโลมให้บุคคลภายในเข้ารับตำแหน่งนี้ แต่ที่อัศจรรย์ยิ่งกว่าคือ เมื่อนำบุคคลภายในขึ้นรับตำแหน่งดังกล่าว ทำให้ผู้ที่เคยเป็นบุคคลภายในซึ่งได้รับตำแหน่งได้รับค่าตอบแทนมากกว่าเดิมถึง 6-7 เท่า คือจากเดิมประมาณ1 แสนบาทเพิ่มเป็น 7 แสนบาท เป็นต้น นี่คือความอัศจรรย์ของการบินไทยที่หลายคนเมื่อได้รับทราบก็จะเกิดอาการอึ้งจนตอบอะไรไม่ถูก
เรื่องค่าตอบแทนของผู้บริหารระดับสูงของการบินไทยเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจและติดตามอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอดเช่นกัน ตัวอย่างเช่น DD การบินไทยได้รับเงินค่าตอบแทนแต่ละเดือนตกประมาณ 1 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่รวมสิทธิพิเศษอื่นๆ แต่คำถามคือ แล้วผลกำไรของการบินไทยในแต่ละเดือน แต่ละปีมีมากน้อยเพียงใด เมื่อเทียบกับรายได้ตอบแทนที่ผู้บริหารการบินไทยได้รับในแต่ละเดือน ถ้าถามแบบตรงๆ คือ ทำงานได้คุ้มค่ากับผลประโยชน์โดยรวมของบริษัทการบินไทยหรือไม่
จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 บริษัทการบินไทยประกาศให้สาธารณชนรับทราบว่า ขาดทุนกว่า6 พันล้านบาท ดังนั้น สาธารณชนก็คาดการณ์ต่อไปว่า ในไตรมาสที่ 3จะขาดทุนเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน คำถามคือ ผู้บริหารระดับสูงของการบินไทยจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไรกับผลการขาดทุนซ้ำๆ ซากๆ เช่นนี้ หรือจะอ้างว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจโลกไม่ดีหากอ้างเช่นนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมีผู้บริหารองค์กรก็ได้ เพราะใครๆ ก็ย่อมอ้างได้เช่นกัน
มีข่าวว่าการบินไทยพยายามจะลดต้นทุนต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจ แต่มีคำถามว่า แล้วผู้บริหารระดับสูงการบินไทยเคยมีแนวคิดจะลดเงินเดือน และค่าตอบแทนของตนเองลงบ้างหรือไม่ เพราะการลดค่าตอบแทนของผู้บริหารระดับสูงคือกลไกตัวหนึ่งที่จะช่วยลดต้นทุนของการบินไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม
ได้ยินข่าวมาว่า การบินไทยพยายามจะลดต้นทุนด้วยการขอให้ผู้โดยสารลดการใช้แก้วพลาสติกบนเครื่องบิน ซึ่งผู้เขียนมั่นใจว่าผู้โดยสารที่มีสำนึกรักษาสิ่งแวดล้อมต้องยินดีสนับสนุนแนวคิดนี้แต่การบินไทยก็ต้องอย่าลืมว่า positioning ของการบินไทยคือ premium airline ไม่ใช่ low cost airline หากการบินไทยกล้าประกาศว่าผู้โดยสารที่ไม่รับประทานอาหาร และเครื่องดื่มของการบินไทยบนเครื่องบิน และไม่ใช้ผ้าห่มบนเครื่องบิน จะสามารถจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินในราคาที่ถูกกว่าผู้ใช้บริการเต็มรูปแบบ การบินไทยกล้าประกาศแบบนี้หรือไม่ หากการบินไทยกล้าประกาศ ผู้เขียนเชื่อว่าผู้โดยสารก็กล้ารับเงื่อนไข หรือมิฉะนั้น ก็เลิกใช้บริการของการบินไทยไปเลย
แต่ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ผู้บริหารการบินไทยต้องยอมรับความจริง เพราะความจริงจะช่วยให้การบินไทยรอดพ้นจากอุปสรรคและสิ่งกีดขวางทั้งปวงได้ แต่ถ้าหากผู้บริหารการบินไทยยังหลงคารมของผู้สื่อข่าวอาวุโส หรือจำพวกชมเพื่อกินฟรี และจำพวกสอพลอเพราะหวังจะได้ไปเที่ยวทริปต่างๆ แบบเลิศหรูฟู่ฟ่ากับการบินไทยเป็นประจำ รับรองว่าการบินไทยจะไม่สามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ นานาไปได้ เพราะผู้ไม่ยอมรับความจริง คือผู้โกหกตัวเองผู้โกหกตัวเองย่อมไม่มีวันรู้จุดอ่อนของตัวเอง เมื่อไม่รู้จุดอ่อนของตัวเองก็ย่อมแก้ปัญหาที่ตนเองประสบอยู่ไม่ได้ การบินไทยต้องลดการพาผู้สื่อข่าวจำพวกนี้ไปเที่ยวไปกินเพื่อปิดปากได้แล้ว เพราะการลดงบประมาณตรงนี้ สามารถช่วยลดการขาดทุนของการบินไทยได้อย่างแน่นอน แม้จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ก็ลดตัวเลขการขาดทุนลงได้
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี