ล่าสุด มีการเผยแพร่ภาพอาคารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่ถูกทุบทำลาย รื้อถอน
สร้างกระแสความสนใจในหมู่ประชาชนวงกว้าง
ความจริง เบื้องลึกปูมหลัง และประเด็นที่น่าสนใจ มีดังนี้
1. บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด เป็นเอกชนคู่สัญญากรมธนารักษ์ ทำหน้าที่บริหารจัดการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งปิดมาตั้งแต่ 10 เม.ย. 2562 เพื่อปรับปรุงใหญ่ ตามสัญญาที่แก้ไขใหม่
คาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินงานราว 3 ปี ใช้งบประมาณราว 6,000 ล้านบาท (งบเอกชน)
จะเพิ่มพื้นที่จัดงานจากปัจจุบัน 6.5 หมื่นตารางเมตร เป็นไม่น้อยกว่า 1.8 แสนตารางเมตร
คาดว่า จะเปิดให้บริการอีกครั้งปลายปี 2565
2. ตามแผนงานที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่จะยังคงเก็บผลงานศิลปะของศูนย์การประชุมฯแห่งเดิมเอาไว้โดยเฉพาะผลงานศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ อาทิ
“โลกุตระ” ที่ตั้งอยู่หน้าศูนย์ประชุม (คล้ายๆ รูปมือพนมไหว้)
“ศาลาไทย” (สถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณีภาคกลางตามธรรมเนียมช่างหลวง)
“พระราชพิธีอินทราภิเษก” ประติมากรรมไม้จำหลักนูนตํ่านูนสูงและกึ่งลอยตัวขนาดใหญ่ที่สุดภาพหนึ่งในศูนย์ฯสิริกิติ์
ทั้งหมดจะนำกลับมาเป็นองค์ประกอบสำคัญของศูนย์การประชุมใหม่
3. การเจรจาแก้ไขปัญหาสัญญาบริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในระยะที่ 3 ระหว่างกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังกับบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2538
กระทั่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2560 ได้มีการอนุมัติแก้ไขสัญญาการบริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
มีการแก้ไขสัญญาเดิม เนื่องจากติดปัญหาข้อกฎหมาย ไม่สามารถก่อสร้างโรงแรม 4-5 ดาว รวม 400 ห้อง (ติดปัญหาข้อกฎหมายจากการถูกจำกัดความสูงของอาคารไม่เกิน 23 เมตร ตามผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร)
ปรับอายุสัญญาเป็น 50 ปี จากเดิม 25 ปี
และให้ปรับปรุงดัดแปลงอาคารศูนย์การประชุมฯเดิมให้มีพื้นที่มากขึ้นเพิ่มพื้นที่ใช้เพื่อการพาณิชย์และที่จอดรถรวมไม่น้อยกว่า 1.8 แสนตารางเมตร มูลค่าลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท
คิดง่ายๆ ว่า จะกลายเป็นศูนย์การประชุมที่มีจัดงานใหญ่ที่สุด ในทำเลใจกลางเมือง เชื่อมต่อรถไฟฟ้าใต้ดิน
4. ประเด็นข้อสงสัยว่า รัฐได้ประโยชน์คุ้มหรือไม่? เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดหรือยัง?
ยังเป็นประเด็นที่คาใจกันอยู่ไม่น้อย
กรมธนารักษ์ ได้จ้างสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์ผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐควรได้รับ ได้ข้อสรุปว่า ผลตอบแทนที่รัฐจะได้รับสำหรับการประเมินมูลค่าผลตอบแทน50 ปี คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (PV) เท่ากับ 5,083 ล้านบาท ไม่น้อยกว่าสัญญาเดิม
คณะกรรมการประสานงานบริหารศูนย์การประชุมฯ ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 พ.ย.2556 และวันที่ 30 ม.ค.2557 เห็นชอบให้บริษัทเอ็น.ซี.ซี.ฯ แก้ไขสัญญา โดยปรับปรุงดัดแปลงอาคารศูนย์การประชุม เดิม ให้มีพื้นที่ศูนย์การประชุม พื้นที่ใช้เพื่อการพาณิชย์ และที่จอดรถยนต์ โดยมีพื้นที่รวมไม่น้อยกว่า 180,000 ตารางเมตร
มูลค่าก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท
ผลประโยชน์ตอบแทนคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (PV) 5,100.55 ล้านบาท
มูลค่าในอนาคต (FV) 18,998.60 ล้านบาท
โดยระยะเวลาการเช่า 50 ปี
วันที่ 28 มี.ค.2557 คณะกรรมการที่ราชพัสดุ ได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ เช่าที่ราชพัสดุเพื่อบริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุม โดยมีระยะเวลาการเช่า 50 ปี ตามที่กรมธนารักษ์เสนอ
เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2559 คณะกรรมการกำกับดูแลบริหารศูนย์การประชุม ได้มีมติให้บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ได้รับสิทธิในการบริหารศูนย์การประชุมเป็นเวลา 50 ปี โดยรวมระยะเวลาเตรียมการรื้อถอน และก่อสร้าง 3 ปี โดยมีมูลค่าการก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท ผลประโยชน์ตอบแทนคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน(PV) 5,100.55 ล้านบาท (มูลค่าในอนาคต (FV) 18,998.60 ล้านบาท) มากกว่าผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาเดิม
กระทั่งกระทรวงการคลัง นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2560 เห็นชอบ
แน่นอนว่า เมื่ออายุสัญญายาวขึ้นเป็น 50 ปี มูลค่าผลตอบแทนที่รัฐจะได้รับต้องมากกว่าเดิมอยู่แล้ว
แล้วมันเป็นข้อเสนอผลประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับประเทศชาติหรือยัง?
เพราะถ้าหมดสัญญาเดิม 25 ปี (ไม่เกินปี 2563) กรมธนารักษ์ก็จะสามารถเปิดประมูลใหม่ รับข้อเสนอจากเอกชนทุกรายที่สนใจ ซึ่งอาจจะมีข้อเสนอที่ดีกว่า หรือรายเดิมเองก็อาจจะเสนอเงื่อนไขที่มากกว่านี้ หรือไม่?
แต่สุดท้าย เมื่อเวลางวดเข้ามา ก็ตกลงแก้สัญญากับเอกชนและดำเนินการตามที่ปรากฏนั่นเอง
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี