ในเดือนพฤศจิกายน 2563 จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกากันอีกครั้งระหว่างนี้ภายในพรรคเดโมแครตก็กำลังสาละวนหาตัวแทนที่จะขึ้นไปท้าชิงกับ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้เป็นตัวแทนของฝ่ายพรรครีพับลิกัน ซึ่งตามกฎเกณฑ์กติกาของสหรัฐอเมริกาแล้ว สามารถจะเป็นประธานาธิบดีได้อีกครั้งหนึ่ง (รวมเป็น 2 ครั้งเท่านั้น) ซึ่งจริงๆ แล้วทางฝ่ายพรรครีพับลิกันก็ยังสามารถหาผู้สมัครมาท้าชิงกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นการภายในพรรคก่อนได้ แต่โดยธรรมเนียมแล้วก็จะไม่ทำกัน นอกจากนั้นยังดูแล้ว โอกาสที่จะหาใครในพรรคมาเอาชนะประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ นี้ ช่างดูริบหรี่ จึงเป็นที่เข้าใจและยอมรับกันว่า ทางด้านพรรครีพับลิกันไม่ต้องไปหาใครมาสมัครอีกแล้ว เนื่องจากประธานาธิบดี โดนัลด์ทรัมป์ เป็นตัวยืนในการแข่งขันหนนี้กับทางฝ่ายพรรคเดโมแครต
ฉะนั้น ในที่สุดประธานาธิบดี โดนัลด์ทรัมป์ ก็จะมีผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครตอยู่ดีซึ่งพรรคเดโมแครตนั้นไม่ชอบสไตล์การบริหารราชการแบบชนดะ และ “เปิดไพ่” เล่นกันของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แต่ปัญหาก็คือ จะไปหาผู้สมัครแบบใดมาเป็นตัวแทนพรรค ถึงจะพอมีลู่ทางที่จะคว่ำประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ลงได้
นักวิเคราะห์วิจารณ์ เกจิอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญชำนาญการ และคอการเมืองทั้งภายในและภายนอกสหรัฐอเมริกา ต่างพากันออกมาวิพากษ์วิจารณ์กัน อีกทั้งผู้คนทั่วโลกก็ให้ความสนใจการเมืองสหรัฐอเมริกามากกว่าการเมืองของประเทศอื่นๆ เพราะความเป็นเจ้าโลกของสหรัฐอเมริกาที่กระทำการใดๆ มีผลกระทบต่อโลกโดยกว้างทั้งเป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์
ในหมู่เหล่าคนอเมริกันโดยเฉพาะในพรรคเดโมแครต ก็มีส่วนหนึ่งที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Change) อย่างใหญ่หลวง คือต้องการให้สังคมอเมริกันมีความเอื้ออาทรต่อกัน และมีความเที่ยงธรรมและทัดเทียมมากยิ่งขึ้น โดยการให้รัฐเข้ามามีบทบาทมาก และกว้างขวางยิ่งขึ้นในเรื่องการเล่าเรียน การรักษาพยาบาล ที่อยู่อาศัย การเก็บภาษีผู้มีรายได้สูงมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำเป็นต้น คนอเมริกันกลุ่มนี้ก็เชียร์วุฒิสมาชิกเบอร์นี แซนเดอร์ส จากมลรัฐเวอร์มอนต์ และวุฒิสมาชิก เอลิซาเบธ วอร์เรน จากมลรัฐแมสซาชูเซตส์
กลุ่มนี้จัดได้ว่าเป็นพวกให้รัฐบาลต้องมีบทบาทเข้มแข็งต่อทุกข์สุขของประชาชนพลเมืองโดยทั่วไป และฉะนั้น วุฒิสมาชิก แซนเดอร์ส จึงถูกตั้งฉายาว่าเป็น “นักประชาธิปไตยแบบสังคมนิยม” หรือเป็นนักปฏิวัติสังคม แต่ถ้ามองในเชิงบวกก็ต้องบอกว่าทั้ง 2 วุฒิสมาชิกดังกล่าว ต่างเป็นฝ่ายหัวก้าวหน้า (Progressive) หรือฝ่ายความคิดไปทางเสรีนิยมเพื่อสังคม (Social Liberalism)
ส่วนคนอเมริกันอีกกลุ่มหนึ่งในพรรคเดโมแครตเห็นว่า ทั้ง 2 วุฒิสมาชิกดังกล่าวดูเป็น “ซ้าย” เกินไป (Too-leftist) ไม่ประสงค์ให้ฝ่ายรัฐเข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตมากมายแต่ให้แค่พอสมควร กลุ่มนี้เป็นพวกทางสายกลาง (Moderates) คือใช้เหตุใช้ผล ดูความเหมาะสมและปฏิบัติกันได้แบบสังคมไม่ต้องถูกพลิกแผ่นดิน แต่ในขณะเดียวกันก็ต่อต้านสไตล์ชนดะของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และใช้การปรึกษาหารือ หาข้อยุติร่วมกันเป็นวิถีทาง
อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 กลุ่มในแวดวงพรรคเดโมแครตดังกล่าวนั้นมีจุดร่วมกัน โดยไม่ปฏิเสธที่สหรัฐอเมริกาจะข้องแวะกับโลกภายนอก และมุ่งมั่นที่จะไม่ใช้วิถีทางแบบของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ คือ “ข้าไปคนเดียว” หรือ อเมริกันต้องมาก่อน คนอื่นช่างหัวมัน (American First) หากแต่จะมุ่งรักษาทะนุถนอมความสัมพันธ์ เพื่อก้าวไปด้วยกันกับประเทศพันธมิตรทั่วโลก รวมทั้งต่อต้านลัทธิเผด็จการทุกรูปแบบ หรือส่งเสริมสังคมประชาธิปไตย มิใช่สไตล์ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ไม่คำนึงถึงว่า ผู้นำประเทศใดๆ จะกดขี่ประชาชนของตนเองอย่างไร สหรัฐฯ จะคบหาสมาคมด้วย ตราบใดที่ผู้นำประเทศนั้นๆ เออออห่อหมกกับตัวประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ด้วย ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการละทิ้งความเป็นประเทศที่คำนึงถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพ และการเป็นผู้นำทางค่านิยมแห่งศีลธรรม (Moral Value)
อีกไม่ถึง 2-3 เดือน ก็จะรู้ว่าใครจะเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครต ที่จะขึ้นต่อกรกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งพรรครีพับลิกัน เมื่อนั้น เราถึงจะได้เห็นความต่างของอุดมการณ์ และนโยบายของผู้ท้าชิง กับผู้เป็นแชมป์อยู่ขณะนี้แน่ชัดขึ้น และก็คงจะพอคาดคะเนกันได้ว่าทิศทางของสหรัฐอเมริกาจะเป็นไปอย่างไรและประเทศไทยของเราควรจะเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไรบ้าง ในการดำรงความสัมพันธ์กับต่างประเทศ และรักษาผลประโยชน์ของไทยเรา
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี