ในการประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2563 ที่ประชุมได้รับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ
นายคำนูณ สิทธิสมาน สว. ได้เสนอแนวคิดให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการสร้างความปรองดอง เร่งผลักดัน “กฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน” จากความผิดที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา (ไม่เกี่ยวกับคดีโกงของนักการเมือง) โดยอาจเสนอเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาโดยตรง
หลังจากนั้น ก็ปรากฏปฏิกิริยาและท่าทีจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ
1. นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ระบุว่า ณ เวลานี้ ทุกฝ่ายต้องยอมรับความจริงว่า ทุกฝ่ายก็เห็นความเดือดร้อนของชาติบ้านเมือง จากภาวะเศรษฐกิจที่สืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้น หากไม่ร่วมมือสมัครสมานกันทุกฝ่าย ก็ยากที่จะนำพาชาติให้พ้นภัยได้ ดังนั้น จะเห็นว่าทุกฝ่ายต่างก็ได้นำเสนอเรื่องนิรโทษกรรม ซึ่งตนก็พูดมาตั้งแต่ต้นว่า ในฐานะที่ตนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก็ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่ แต่ขอบคุณสังคมไทยที่เห็นว่าประเทศไทยจะอยู่ท่ามกลางความเห็นขัดแย้งอย่างนี้ต่อไปไม่ได้
2. นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน สส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย แสดงท่าทีสนับสนุน บอกว่า เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ควรจะทำนานแล้ว แต่หากทำวันนี้ก็ยังไม่สาย เพราะทุกคนต่างก็สรุปบทเรียนและลดบทบาทของตัวเองลงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสีใดก็ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ และได้ยกคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า “เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร” ถ้าคิดนิรโทษกรรม แต่ยังมีเงื่อนไข จิตไม่อภัยจริงๆ การนิรโทษกรรมก็จะไม่เกิด ดังนั้น การนิรโทษกรรมต้องไม่มีความเหลื่อมล้ำ ไม่มีเลศนัย ต้องอภัยกันจริงๆ ซึ่งตนคิดว่าสังคมจำเป็นต้องอภัยกัน
“รัฐบาลควรเป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้ เพราะทุกคนมองว่ารัฐบาลไม่จริงใจกับเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นคู่กรณี หากรัฐบาลเป็นคนเริ่มและองค์กรอื่นรับและสนับสนุน เรื่องนิรโทษก็จะไปได้ ซึ่งฝ่ายค้านยินดีสนับสนุน ไม่ว่าจะเหลืองหรือแดงก็ขอให้ลืมเรื่องที่ผ่านมาเพราะเราเป็นคนไทยด้วยกัน” นายสุทินกล่าว
3. คุณยุทธนา มุกดาสนิท ผู้กำกับหนังชื่อดัง ระบุว่า “ไม่เห็นด้วยครับ ใครทำผิดกฎหมายต้องรับโทษ งั้นต่อไปกม.ก็จะเสื่อมความหมาย”
คุณประสาร มฤคพิทักษ์ สนับสนุนแนวคิดของ สว.คำนูณ ระบุว่า “ตรงประเด็น แจ่มชัด และมีพลังอย่างยิ่ง สังคมไทยไม่ควรมี“แค้นฝังหุ่น”ไม่ควรจมปลักอยู่กับความเกลียดชังเพียงเพราะเห็นต่างทางการเมือง ผู้ที่ก่อความรุนแรงต่างเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมกันหมดแล้ว มีทั้งที่ติดคุกแล้วพ้นโทษออกมา มีทั้งยังอยู่ในคุก มีทั้งยังอยู่ในกระบวนพิจารณาของศาล มีทั้งที่เสียชีวิตไปแล้ว ส่วนคนที่หนีไปต่างประเทศก็พึงต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเหมือนแกนนำทุกสีเสื้อที่เผชิญการพิจารณาคดีอยู่ในเวลานี้ บรรดาผู้ต้องคดีทั้งหลายไม่ได้แบกทุกข์อยู่เพียงลำพังเท่านั้น แต่ครอบครัวญาติสนิทของเขา ล้วนต้องลำบากลำบนกับชะตากรรมที่เกิดขึ้น คนวงนอกควรให้ความเห็นใจ ในยามนี้ ต้องใช้“เมตตาธรรม”นำครับ” ฯลฯ
4. นายบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตรองประธานกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ระบุว่า เห็นด้วยกับแนวคิดในเชิงหลักการของ สว.คำนูณ ที่ให้เสนอเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปเพื่อให้รัฐสภาพิจารณา ไม่ต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎรจะทำให้เกิดความปรองดอง และเพื่อให้การสร้างความเป็นหนึ่งเดียวในหมู่คนไทยเกิดสัมฤทธิ์ผล ขอเสนอหลักคิด 5 ประการ ดังนี้
4.1 สส.ฝ่ายรัฐบาลและสส.ฝ่ายค้าน รวมทั้งสว. แสดงเจตจำนงร่วมกันเป็นองค์กรนำในการขับเคลื่อนเสนอแนะ เรียกร้องต่อรัฐบาล โดยประกาศสัตยาบันว่าจะร่วมกันผ่านร่างกฎหมายสร้างความปรองดองโดยเร็วไม่ทำเหมือนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สภาผู้แทนตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา 120 วันแล้วปรากฏว่า ปล่อยทิ้งขว้าง ไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร
4.2 สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาลสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะหน่วยงานอิสระทางวิชาการในกำกับของรัฐสภาเป็นแกนกลางหรือเจ้าภาพประสานงานและหาแนวทางในการกำหนดกรอบขอบเขตการนิรโทษกรรมพร้อมกับด้านกระบวนการให้ทุกฝ่ายทุกภาคส่วนทุกสีเสื้อมาพูดคุยกันเพื่อหาจุดร่วมและข้อเสนอแนะอันจะนำไปสู่การสร้างฉันทามติทางร่วมในการสร้างความปรองดอง
4.3 ทุกฝ่ายให้อภัยต่อกัน ไม่คิดเล็กคิดน้อย ไม่คิดว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบหรือเสียเปรียบ ไม่ควรติดยึดอยู่กับข้ออ้างว่ากระทำผิดกฎหมาย เพราะแท้จริงแล้วแรงจูงใจทางการเมืองไม่มีฝ่ายใดไม่ผิดกฎหมาย
4.4 ผู้ที่ไม่ได้เข้ารายงานตัวตามคำสั่งเรียกของหัวหน้าคสช. และเดินทางไปต่างประเทศควรได้รับโอกาสให้กลับมาประเทศโดยไม่มีความผิดเพื่ออยู่ร่วมกับครอบครัวญาติพี่น้อง
4.5 ให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก้ปัญหาความเดือดร้อนทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง มีทั้งพิการ ตาบอด แขนขาขาด นอนอยู่บนเตียงเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น
“ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาล พรรคการเมือง และสว. จะได้หันหน้าเข้าหากันร่วมมือกันทำเรื่องปรองดองให้สำเร็จโดยเร็ว ก่อนที่ปัญหาใหม่ๆ จะประดังเข้ามาจนเกิดวิกฤตการณ์ซ้ำซ้อนที่หนักหน่วงมากยิ่งขึ้นจนยากต่อการแก้ไข” นายบุญเลิศกล่าว
5.หากย้อนกลับไปพิจารณารายละเอียดสำคัญ ในคำอภิปรายอันเป็นข้อเสนอของนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ในการประชุมวุฒิสภา เมื่อบ่ายวันอังคารที่14 กรกฎาคม 2563 นั้น สาระสำคัญบางส่วน เช่น
“..ถึงเวลาแล้วครับ ที่รัฐบาลจะต้องเร่งตรากฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนจากความผิดที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาวันนี้เกือบจะครบ 15 ปีเต็มแล้วครับ 2548 จนถึง 2563 ความขัดแย้งที่ผ่านมาทำให้สังคมไทยแบ่งแยกออกเป็นอย่างน้อย 2 ขั้วแล้ว 2 ขั้วนี้ ก็แบ่งแยกย่อยกันไปอีกมากขึ้นทุกที สังคมไทยร้าวลึกแม้กระทั่งในระดับครอบครัว พ่อกับแม่ แม่กับลูก ลูกกับพ่อ มีผู้คนในขณะนี้ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วอยู่ในคดีนับร้อยคนบางคนตายไปแล้วครับ
... วิสัยทัศน์ของเราในหน้าต้นๆ ของรายงานนี้บอกว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังท่านนายกเวลาแถลงข่าวติดป้ายที่หน้าโพเดียมว่ารวมไทยสร้างชาติ แต่เราจะรวมไทยสร้างชาติได้อย่างไรเมื่อคนกลุ่มหนึ่งถูกทิ้งให้ขึ้นศาลทุกสัปดาห์ทุกเดือน จะไปต่างประเทศทีหนึ่ง ต้องรายงานต่อศาล หลายคนถูกยึดทรัพย์ หลายคนที่ดินที่บรรพบุรุษมอบให้ต้องถูกยึดไป เพราะแพ้คดีแพ่งครับ
...ผมเห็นว่า บัดนี้ถึงเวลาแล้วครับที่จะต้องมีกฎหมายนิรโทษกรรม แน่นอนครับทุกคนทำผิดกฎหมาย การทำผิดกฎหมายของคนที่มาชุมนุมทางการเมือง การกระทำความผิดทางอาญาที่มีเหตุเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองนั้น เขาไม่ได้มีเถยจิตเป็นอาชญากรโดยแท้ เขาต้องการสังคมที่ดีกว่า เขามีความรักชาติ เขาต้องการการเมืองใหม่ เขาต้องการการปฏิรูปประเทศอย่างที่เรากำลังพูดกันอยู่นี่นะครับเป็นวันที่ 6 คนเหล่านี้ ไม่ควรจะต้องสูญเสียอนาคต และที่สำคัญก็คือคนเหล่านี้ยังเชื่อมโยงไปอีกคนนับล้านทั่วประเทศ การกระทำทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น เป็นไปไม่ได้ครับที่จะไม่ทำผิดกฎหมาย เมื่อถึงกาลเวลา ณ จุดหนึ่ง เช่นเดียวกับการปฏิรูปประเทศ มันก็ต้องทำผิดแผกแตกต่างไปจากที่เคยทำมา
...กระผมขอกราบเรียนเสนอผ่านท่านประธานผ่านไปยังท่านนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลว่า อย่าลังเลเลยครับ ถึงเวลาแล้ว แม้ว่ากฎหมายนิรโทษกรรมครั้งนี้จะต้องมีลักษณะแตกต่างจากกฎหมายนิรโทษกรรมที่เคยมีมาหลายครั้ง เนื่องจากเหตุการณ์ผ่านมายาวนาน ถ้าจะมีคำถามว่า อ้าว แล้วคนที่หนีคดีจะทำยังไง กระผมเชื่อว่าในหลักการเราสามารถจะอภิปรายในรายละเอียดได้ อาทิ เป็นต้นว่า
หนึ่ง - เรานิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดที่เกิดขึ้น หรือเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองโดยตรง
สอง - นิรโทษกรรมในเบื้องต้นเฉพาะผู้ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว
สาม - ผู้ที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหรือหนีคดีไปนั้น ถ้ากลับเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม และเมื่อผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาซึ่งจะต้องออกแบบตั้งขึ้นมา ก็สามารถจะได้สิทธิ์นี้
สุดท้ายครับ - อาจจะต้องมีปัญหาการตีความว่าอะไรที่ “เกี่ยวกับ...” หรือจะนิยามว่า “เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการชุมนุมทางการเมือง...” ก็อาจจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการที่จะต้องออกแบบเป็นขึ้นมา
ผมเห็นว่า 15 ปีผ่านไป และท่านนายกรัฐมนตรีเดินหน้ามาสู่วันนี้เป็นปีที่ 6 ของการขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านต้องการรวมไทยสร้างชาติ และเรากำลังอยู่ในช่วงของการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ชาติ ปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศ ถ้าท่านนายกมนตรีแสดงเจตจำนงทางการเมือง ด้วยการเป็นผู้นำเสนอราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชนในครั้งนี้ อาจจะเป็นร่างข้อบัญญัติที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 270 ที่จะพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็จะเป็นการสร้างบารมีให้กับตัวนะท่านนายกรัฐมนตรีเอง ในการที่จะดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ในฐานะนายกรัฐมนตรีและในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ได้โปรดพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง...”
ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แค่ไหน อย่างไร เรื่องนี้ก็จะกลายเป็นประเด็นร้อนอย่างแน่นอน
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี