ใครหนอที่กล่าวไว้อย่างสวยหรูว่า การเมืองเป็นเรื่องสนุก อาจจะกล่าวเพื่อปลอบใจผู้อ่าน เพราะตามความเป็นจริงดังที่ประสบในทุกเมื่อเชื่อวัน การเมืองช่างโหดร้าย มิตรภาพที่หยิบยื่นให้แก่กันและกัน ก็อาจจะพลิกผันเป็นยาพิษที่ทำร้ายกันถึงชีวิต จึงเกิดเป็นคำกล่าวว่า ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรในเวทีการเมือง ช่างน่าเศร้าเสียนี่กระไร!
ไม่มี “มิตรแท้” เฉกเช่นตำนานเรื่องคำสาบานในสวนดอกท้อกระนั้นหรือ? ไม่มีเรื่องราวอันเป็นอมตะของชาวฝรั่งเศสที่เรียกว่า “สี่ทหารเสือพระราชินี (The Four
Musketeers)” และยังนำมาใช้เรียก “สามทหารเสือ” สมัยการปฏิวัติครั้งแรกในแผ่นดินไทย พ.ศ. 2475 เพียงแต่ในตำนานของไทย “สามทหารเสือ” หาได้ดำรงอยู่ชั่วข้ามปี แต่กลับมีเรื่องราวของการทรยศหักหลัง ที่นักประพันธ์ผู้เรืองนาม บัญชร ชวาลศิลป์ ได้บันทึกไว้ในหนังสือ “เส้นทางคนแพ้” อย่างตื่นตาตื่นใจ
เรื่องราวของ “การเมืองในระบบรัฐสภา” ในสังคมไทยซึ่งเรากำลังเผชิญอยู่ อาจมิใช่เป็นเรื่องการทรยศหักหลังกันเช่นนั้น แต่ก็สะท้อนให้เราเข้าใจธาตุแท้ของการเมืองที่ “อำนาจ” เป็นเป้าหมายโดยแท้ของการเมือง ส่วน “อุดมการณ์” ก็อาจจะเป็นเพียงองค์ประกอบ ฉะนั้น เป้าหมายของการสอนเรื่องการเมือง ก็เพื่อให้ประชาชนได้ตื่นรู้ถึง “ปัญหา” ของการใช้อำนาจ และวิธีการที่จะลดทอน การใช้อำนาจเกินขอบเขต ตลอดจนสร้างกลไกเพื่อ “คาน” อำนาจ ของแต่ละสถาบันที่มีอำนาจ หรือกลุ่มพลังต่างๆ ในสังคม มิให้มีอำนาจเกินขอบเขตเช่นกัน ขณะเดียวกัน อุดมการณ์เรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ก็อุบัติขึ้นเพื่อป้องกันมิให้ประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แอบอ้างว่าเป็นเจ้าของอำนาจนั้นซึ่งยังคงเป็นข้อถกเถียงกันจนทุกวันนี้
ขณะที่เขียนบทความนี้ “กลุ่มสี่กุมาร” ได้ลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ และต่อมาก็ยังอำลาจากตำแหน่งรัฐมนตรีและรองเลขาธิการท่านนายกฯ รวมทั้งรองนายกฯ สมคิด ก็ลาออก อ้างปัญหาสุขภาพ เหตุการณ์เหล่านี้ย่อมสะเทือนต่อสถานะทางการเมืองของท่านนายกรัฐมนตรีอย่างรุนแรง ทำให้การจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (หรือซ่อมเสริมคณะรัฐมนตรี) ยุ่งยากขึ้นไปอีก
ท่านนายกรัฐมนตรี “อาจ” ต้องการแต่งตั้งเฉพาะบางตำแหน่ง แต่เมื่อลาออกกันทั้งแผง ท่านนายกฯ ก็มีการบ้านเพิ่มขึ้น ซึ่งปกติก็ไม่น่าจะเป็นภารกิจที่ยากแต่ประการใด เพราะย่อมมีเทคโนแครต ที่ช่ำชองการบริหารองค์กรหลายๆ ท่านที่พร้อมจะรับภาระดังกล่าว แต่ในช่วงวิกฤติโควิดนี้ สถานการณ์กลับตาลปัตร หลายๆ ท่านผู้มีชื่อเสียงและฝีไม้ลายมือกลับปฏิเสธ สร้างความลำบากใจให้แก่ท่านนายกฯ ซึ่งต้องการ “เทคโนแครต” มาช่วยเสริมดุลในคณะรัฐมนตรี ซึ่งมักจะมี “นักการเมืองอาชีพ” จำนวนมากอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ในวิกฤติปัจจุบัน ท่านนายกรัฐมนตรีคงต้องการนักเทคโนแครตที่รอบรู้ทางเศรษฐกิจ เพื่อมากู้สถานการณ์ใกล้วิกฤติของประเทศ ฉะนั้นตำแหน่งรองนายกฯ ทางเศรษฐกิจ จึงมีความสำคัญเพื่อดูแลภาพรวมของเศรษฐกิจ และท่านรองนายกฯ สมคิด ก็เกิดขอลาออกในจังหวะนี้จึงกลายเป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญ ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทวงการคลัง เพื่อดูแลการเงินการคลังของประเทศ ทราบว่าได้ ดร.ปรีดี ดาวฉาย (ประธานสมาคมธนาคารไทย) จะเข้ามาช่วยในตำแหน่งนี้ แต่ยังมีปัญหาของตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งคณะบริหารรุ่นใหม่ของพรรคพลังประชารัฐต้องการจะให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ มาดูแล ขณะที่แนวคิดของนักวิชาการ (และท่านนายกฯ) ต้องการจะให้เทคโนแครตมาดูแลมากกว่า “นักการเมือง” เพื่อหลีกเลี่ยงประเด็นเรื่องผลประโยชน์ และประการสุดท้าย พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งพลเอกประวิตร ได้เข้ามาดูแลแทนนายอุตตม สาวนายน ยังเสนอขอแลกเปลี่ยนกระทรวงแรงงาน กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งพรรครวมพลังประชาชาติไทย อาจไม่ยอมเปลี่ยน เพื่อให้ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ได้เข้าไปดูแลตามโผเดิม ส่วนนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ก็อาจจะต้องดูแลกระทรวงเดิม คือ กระทรวงอุตสาหกรรม
โอกาสที่จะบรรลุข้อตกลงคงจะมีความเป็นไปได้สูง โดยเฉพาะเมื่อนายกฯ อาจจะต้องเจรจากับพลเอกประวิตร ซึ่งคงจะเทใจให้ท่านนายกฯ ในนาทีสุดท้ายตามสัญญาใจจากอดีต
ฉะนั้น เส้นทางที่ปลอดภัยที่สุดในปัจจุบัน ก็คือการพบกันครึ่งทางระหว่างท่านนายกรัฐมนตรีกับกลุ่มอำนาจใหม่ในพรรคพลังประชารัฐ และเป็นบทเรียนซ้ำซาก จากนิทานเรื่องชาวนากับงูเห่า ตลอดจนบทเรียนจากตำราของนักรัฐศาสตร์จากดึกดำบรรพ์ที่กล่าวซ้ำเตือนอยู่เสมอว่า อำนาจทำให้คนเหลิง อำนาจมากยิ่งเหลิงมาก อำนาจจึงต้องมีระบบการคานอำนาจอยู่เสมอ (แม้ในครอบครัว) ต่อให้เป็นเทวดาหรือนางฟ้าใจดีอย่างไร ก็เหลิงอำนาจได้ทั้งสิ้น เราจึงต้องสอนเรื่องการเมือง และวินัยทางการเมืองให้เยาวชนของเราได้เรียนรู้ตั้งแต่เยาว์วัย จะได้มีวุฒิภาวะสูงในเรื่องการบริหารและการเมือง ตลอดจนในชีวิตประจำวันในสังคมทั่วไป ความล้มเหลวทางการบริหารบ้านเมืองเป็นบันไดขั้นต้นไปสู่ปัญหาต่างๆ ในสังคม การสอนทั้งทางตรงหรือทางอ้อมให้ผู้คนอิจฉาริษยากัน แข่งขันกันอย่างผิดศีลธรรมจรรยา และเห็นแก่ตัว ก็เป็นบาปขั้นต้นของการนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ในสังคมโดยแท้ การแสดงออกซึ่งความยุติธรรมให้เยาวชนได้เห็นเป็นตัวอย่างตั้งแต่เยาว์วัย จึงเป็นบทเรียนที่ครูอาจารย์ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องใส่ใจอยู่เสมอ อย่าสอนให้ลูกหลานเห่อเหิมลาภยศ ทรัพย์สินเงินทองตั้งแต่เยาว์วัย จะเป็นการสร้างบุคลิกนิสัยที่บั่นทอนชีวิตของเขาในที่สุด
การจัดตั้งพรรคการเมืองก็เช่นกัน เมื่อจัดตั้งขึ้นแล้ว ต้องแสวงหาทางให้อยู่ร่วมกันได้ด้วยความยุติธรรม และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ปราศจากน้ำใจไมตรีเมื่อไหร่ พรรคการเมืองก็จะกลายเป็นบริษัทห้างร้านที่สมาชิกคิดจะเอาเปรียบและอิจฉาริษยากัน ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง มองจากภายนอกก็เห็นแต่เรื่องฉาวโฉ่ของการใช้เงินเพื่อซื้อเสียง แต่หากลองศึกษาอย่างใกล้ชิดว่าทำไมนาย “ก” จึงชนะเขตนี้ได้หลายๆ สมัยติดต่อกัน ก็อาจจะพบปัจจัยอื่นๆ เช่น ความผูกพันฉันมิตรมายาวนาน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อย่างสม่ำเสมอ (ซึ่งไม่ได้วัดเป็นตัวเงิน แต่วัดด้วยใจ) และคุณธรรมความดีที่ สส. ผู้นั้นกระทำอยู่ตลอดเวลา “ผู้แทนราษฎร”สมัยแรกๆ จาก พ.ศ. 2475-2476 จนกระทั่งเข้ายุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่าที่งานวิจัยของผู้เขียนเคยสัมผัส ไม่ได้มีเรื่องราวการแจกเงินแจกทองในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง แต่ประชาชนเลือกเพราะศรัทธาในตัวผู้แทนราษฎรที่เป็นคนดี มีคุณธรรม มีเกียรติมีความรู้ ช่วยเชิดชูให้เขตเลือกตั้งของเขาไม่น้อยหน้าใคร ส่วนยุคสมัย “กินจอบ กินเสียม” และ “ผู้แทนปลาทู” นั้นเกิดขึ้นสมัยหลัง เมื่อ “วัตถุนิยม” เริ่มเป็นกระแส หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และกลายเป็น “กระสุน” ในยุคต่อๆ มา
ผู้นำที่ควรค่าแก่สมญานามดังกล่าว ก็ควรจะพลิกฟื้นแผ่นดินให้เป็นแผ่นดินธรรม ในเบื้องต้น เพื่อจะเป็นแผ่นดินทองในบั้นปลาย
ดร.วิชัย ตันศิริ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี