นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการ กกต. และอดีตผู้สมัคร สส.พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งประเด็นที่เกี่ยวกับการ “แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” เป็นประเด็นร้อน ที่ต้องถามทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, พรรคพลังประชารัฐ และ พรรคประชาธิปัตย์ ว่า
“...พลเอกประยุทธ์ แถลงนโยบายต่อสภา ครบหนึ่งปีแล้ว จากการแถลงนโยบายของครม.ต่อรัฐสภา มีนโยบายหลัก 12 ข้อ และนโยบายเร่งด่วน 12 ข้อ นโยบายเร่งด่วน ข้อ 12 ในหน้า 33 เขียนไว้ว่าการสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน และการดำเนินการให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
...นโยบายเร่งด่วนคือ สมควรทำเสร็จในหนึ่งปี วันนี้ครบหนึ่งปีแล้ว คืบหน้าแค่ไหนเพียงไร นายกรัฐมนตรีเคยพูดสักคำไหมว่า มาตรา 256 ที่ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องมีการแก้ไข
...พรรคประชาธิปัตย์เองก็พูดเรื่องว่าต้องแก้ มาตรา 256 เป็นเงื่อนไขของการเข้าร่วมรัฐบาล วันนี้ จึงต้องถามจุดยืนพรรคประชาธิปัตย์ว่า ถ้าพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรคหลักที่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ เป็นนายก ยังไม่แสดงท่าทีใดๆ ที่จะร่วมลงชื่อเพื่อเสนอญัตติให้มีการแก้ไข มาตรา 256 ถึงเวลาที่จะยื่นคำขาดถอนตัวจากรัฐบาลหรือยัง
...สัจจังเว อมตาวาจา การกล่าววาจาจริงเป็นสิ่งไม่ตาย”
ผมเข้าใจว่า มูลเหตุของการตั้งประเด็นนี้ เพราะมีข่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เตรียมเคลื่อนไหว ขอรายชื่อจากพรรคภูมิใจไทยให้ได้เกิน 100 รายชื่อ เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ จากข่าวที่เผยแพร่ออกมาว่า
นายเทพไท เสนพงศ์ สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึง ความเคลื่อนไหวของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งเป็นจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์มาตั้งแต่ต้น และตนในฐานะเจ้าของญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ จะเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามแนวทางผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ซึ่งตนจะเสนอร่างแก้ไขใน 3 ประเด็น คือ
1.แก้ไขมาตรา 256 เพื่อปลดล็อกให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ โดยใช้เสียงข้างมากของรัฐสภาตามมาตรฐานสากล และมีการลงประชามติจากประชาชนด้วย
2.ให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากตัวแทนประชาชนทุกสาขาอาชีพ ตัวแทนนักวิชาการทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในทุกจังหวัด
3.มีการกำหนดความชัดเจนเรื่องแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยกเว้นการแก้ไขที่ไม่ให้มีการแตะต้องหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อไม่ให้เกิดเงื่อนไขการปลุกระดม ในช่วงการทำประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้น
“แต่หลักเกณฑ์การเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256 (2) จะต้องใช้เสียงของ สส.จำนวนหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มีอยู่คือประมาณ 100 คน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ที่มี สส.อยู่ 52 คน จำเป็นต้องขอเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองอื่น เพื่อลงชื่อในญัตติให้ครบ 100 คน ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องแสวงหาแนวร่วมจากพรรคการเมืองอื่นๆ อีกด้วย ในเบื้องต้นส่วนตัวได้ประสานงานเป็นการภายในกับ สส.พรรคภูมิใจไทยไว้บ้างแล้ว และหวังว่ามีเสียงสนับสนุนครบ 100 คน สามารถยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ได้อย่างแน่นอน” นายเทพไท กล่าว
ก็ด้วยมูลเหตุนี้แหละ ที่อ.สมชัย เสนอว่า ทำไมไม่ขอจาก “พรรคพลังประชารัฐ” ล่ะ (ฮา...)
เพราะพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคที่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ต่อรองการเข้าร่วมรัฐบาลไว้ว่า ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วพรรคพลังประชารัฐตกลง (ซึ่งจริงๆ คณะเจรจาของ คสช.เดิม เป็นคนตกลง-ฮา..) พล.อ.ประยุทธ์ใส่ไว้ในถ้อยแถลงนโยบาย ทั้งฉบับลายลักษณ์อักษร และการแถลงด้วยวาจาในที่ประชุมรัฐสภา ทั้งหมดคือ “ข้อตกลง” ที่ถึงเวลา“วัดใจ” แล้ว ว่าเพื่อนมันจริงใจกับเรื่องนี้ไหม หรือแค่รับปากไปเพื่อจะเร่งตั้งรัฐบาลในตอนนั้น รวมถึงประชาธิปัตย์เอง ก็ตั้งเป็นเงื่อนไข ให้ตัวเองเข้าร่วมรัฐบาลได้สวยๆ แค่นั้นหรือเปล่า
แหม...แก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญนี้ มันกลายเป็นเครื่องมือ “วัดใจ-วัดอุดมการณ์-วัดสัจจะ” ของคนไปได้ในคราวเดียวกันด้วย
ล่าสุด นายกรัฐมนตรีแสดงท่าทีต่อเรื่องนี้แล้วนะครับ โดย “แนวหน้าออนไลน์” รายงานว่า...
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ถึงจุดยืนในแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่า จุดยืนของตนให้การสนับสนุนอยู่แล้ว ในเรื่องของการทำงาน วันนี้เป็นการพิจารณาระดับ กมธ. แล้วจะมีการเสนอญัตติของฝ่ายค้านเข้ามา ส่วนฝ่ายรัฐบาลก็พร้อมที่จะร่วมมือ ในกลไกต่างๆ เหล่านี้ ในสภาฯ รัฐบาล ก็มีส่วนร่วมในตรงนี้
ในฐานะฝ่ายบริหาร หากมีการเสนอร่างเข้ามา รัฐบาลก็จะเสนอควบคู่ไปด้วย เพื่อพิจารณาต่อกันไป ประเด็นสำคัญคือ วาระการเปิดสภาฯ เหลือเพียงจำกัด คงต้องหารือเรื่องนี้ต่อไปว่าจะเข้าใจตรงกันหรือไม่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรจะแก้ไขตรงไหนอย่างไร ก็ต้องรอทาง กมธ.เสนอมา เชื่อว่าการเปิดประชุมสภาสมัยหน้า รัฐสภาจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ในเรื่องเหล่านี้ การแก้ไขต่างๆ รัฐบาลยืนยันให้ความร่วมมือทุกประการ” นายกฯกล่าว
เช่นเดียวกับ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ (นายกฯ เป็นประมุขฝ่ายบริหาร) ก็กล่าวถึงกรณีข้อเสนอการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 และการตั้ง ส.ส.ร.ว่า ต้องรอข้อเสนอจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2560 ตนยังไม่ทราบว่าการศึกษาตอนนี้ไปถึงไหนแต่น่าจะได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเดือนหน้าก่อนปิดสมัยประชุม แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นแบบไหน ซึ่งเท่าที่สอบถามความเห็นของกรรมาธิการส่วนใหญ่ก็เห็นสอดคล้องกันให้แก้ไข ซึ่งส่วนตัวก็เห็นว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาและตอนลงประชามติ พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และตนเคยให้ความเห็นว่าปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมของคนที่ชอบละเมิดกฎหมายจึงทำให้บ้านเมืองมีปัญหาไม่ใช่ปัญหาจากรัฐธรรมนูญ
ส่วนที่ท่าทีของ สว.ไม่เห็นด้วยกับการแก้มาตรา 256 และตั้ง ส.ส.ร.นั้น นายชวนกล่าวว่า อย่าเพิ่งคาดเดา ตนได้เสนอตั้งแต่ต้นว่าให้มีการเชิญ สว.เข้ามามีส่วนร่วมประชุมแสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ส่วนตัวพร้อมเป็นตัวกลางในการพูดคุยหากมีการประสานมา
ด้าน นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า พรรคประชาธิปัตย์สรุปชัดเจนตั้งแต่ต้นแล้ว ว่า พรรคเห็นด้วยในการแก้ มาตรา 256 เพื่อต้องการเปิดประตูในการไปแก้ไขในประเด็นต่างๆให้ประชาธิปไตยยิ่งขึ้น สำหรับการยื่นญัตติพรรคก็จะมีการนัดประชุมสส.ในวันที่ 5 สิงหาคม นี้ เพื่อที่จะได้รวบรวมประเด็นและขับเคลื่อนไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อย่างแท้จริง
ดังนั้นการจะแก้มาตรา 256 ก็ต้องมี
1.แสวงหาความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้เห็นพ้องต้องกัน และถ้ามีประเด็นใดที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดินหรือทำให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น
2.สามารถแก้ไปพร้อมกับการแก้ไขมาตรา 256 ได้
และ3. หากมีแนวความคิดที่จะให้บุคคลภายนอกมาร่วมเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ก็ต้องมีคำถามตามมาว่าจะมีกระบวนการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีส.ส.ร.อย่างไร มีองค์ประกอบอย่างไร ซึ่งจะต้องเป็นกระบวนการที่มีความชัดเจน อย่างน้อยที่สุดยืนยันได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมที่จะเสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 แน่นอน
เอาเป็นว่า เท่าที่ไล่เลียงมา ประชาธิปัตย์เอาแน่เรื่องเสนอแก้รัฐธรรมนูญ แต่เสียงไม่พอต้องไปหาเสียงสนับสนุน เบื้องต้นคงจะคุยกับภูมิใจไทยก่อน ยังไม่ไปถามพลังประชารัฐแบบที่ อ.สมชัยยุ (ฮา...) แต่ผมเห็นด้วยกับ อ.สมชัยนะครับ เพราะพรรคพลังประชารัฐแสดงจุดยืนน้อยสุดในเรื่องนี้
แต่เชื่อว่า ในท้ายที่สุด พลังประชารัฐคงเห็นด้วย โดยเฉพาะแกนนำที่ “พลาดเก้าอี้รัฐมนตรี” คงจะใช้เรื่องนี้“งัด” กับแกนนำฝ่าย คสช. ที่ยังคงยึดเก้าอี้สำคัญๆ ในคณะรัฐมนตรีไว้ต่อได้ ให้รู้เสียบ้างว่าไผเป็นไผ ขณะเดียวกัน ภายใต้เงื่อนไขเดิม พรรคพลังประชารัฐซึ่งจะกลายเป็น “พรรคใหญ่” ในการเลือกตั้งครั้งหน้า
หากใช้กติกาเดิม เงื่อนไขเดิม คำนวณคะแนนแบบเดิม ชะตากรรมของพลังประชารัฐ ย่อมไม่ต่างจากพรรคเพื่อไทย คือได้ สส.เขต แต่ไม่ได้ ปาร์ตี้ลิสต์เลยซึ่งเอาเข้าจริง “นักเลือกตั้ง” มุ้งต่างๆ ในพรรคพลังประชารัฐไม่สะเทือนนะครับ เพราะพวกเขากุมพื้นที่ กุมเขตได้แต่พวกบัญชีรายชื่อ ละครับ ชะตากรรมจะเป็นยังไง และคนในบัญชีรายชื่อนั้น เป็น “คนของใคร”
อะไรๆ ก็สนุก ว่าด้วยเรื่องแก้ไม่แก้รัฐธรรมนูญ!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี