ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ได้กำหนดให้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการตีความกฎหมายมหาชน ของพระองค์เองโดยเฉพาะ แยกพิจารณาการออกเป็น 2 ลักษณะคือ การใช้พระราชอำนาจของพระองค์เองเป็นไปตามพระราชอัธยาศัยกับการใช้พระราชอำนาจของพระองค์เองแต่มิได้เป็นไปตามลำพังพระราชตามอัธยาศัย ดังนี้
1.1 การใช้พระราชอำนาจการตีความกฎหมายมหาชนของพระองค์เองเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
การใช้พระราชอำนาจการตีความกฎหมายมหาชนของพระองค์เองเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย จะมี 2 ลักษณะ คือ
ลักษณะที่ 1 การใช้พระราชอำนาจการตีความกฎหมายมหาชนของพระองค์เองเป็นไปตามพระราชอัธยาศัยที่ไม่เป็นไปตามลำพังพระองค์เอง มีดังต่อไปนี้
1) พระราชอำนาจการตีความกฎหมายมหาชนในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ในกรณีที่ไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือทรงประชวร ทรงผนวช ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ มาตรา 16
2) พระราชอำนาจการตีความกฎหมายมหาชนในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 โดยให้คณะองคมนตรีจัดทำร่างกฎมณเฑียรบาลแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลเดิมตามพระราชดำริ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วแจ้งไปยังประธานรัฐสภาเพื่อให้นำแจ้งรัฐสภาทราบ ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป มาตรา 20
3) พระราชอำนาจการตีความกฎหมายมหาชนในการแต่งตั้งพระรัชทายาท ซึ่งเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 แล้วแจ้งรัฐสภาทราบ มาตรา 20
4) พระราชอำนาจการตีความกฎหมายมหาชนในการถอดถอนฐานันดรศักดิ์และเรียกคืนเครื่องราชอิสรยาภรณ์ มาตรา 9
ลักษณะที่ 2 การใช้พระราชอำนาจการตีความกฎหมายมหาชนของพระองค์เองเป็นไปตามพระราชอัธยาศัยเพียงลำพังพระองค์เอง เช่น
1) พระราชอำนาจการตีความกฎหมายมหาชนในการเลือก แต่งตั้ง ถอดถอนองคมนตรี อันเป็นมรดกตกทอดมาจากในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินเป็น The Privy Council แบบของอังกฤษ เป็นองค์กรที่ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ ทำหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่ทรงปรึกษาและหน้าที่อื่น ๆ มาตรา 11
2) การใช้พระราชอำนาจการตีความกฎหมายมหาชนของพระมหากษัตริย์ การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย มาตรา 15
3) การใช้พระราชอำนาจการตีความกฎหมายมหาชนในอันที่จะยับยั้ง (veto) ร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว มาตรา 81 เมื่อรัฐสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภามีมติให้ความเห็นชอบในร่างกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งแล้ว ประธานรัฐสภาจะต้องส่งร่างกฎหมายนั้นให้แก่นายกรัฐมนตรีเพื่อให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมาย ภายใน 20 วัน และเมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชวินิจฉัยได้ 3 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 ทรงเห็นชอบภายใน 90 วัน พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายในราชกิจจานุเบกษา
กรณีที่ 2 ทรงไม่เห็นชอบด้วยในร่างกฎหมายฉบับนั้นและพระราชทานคืนมายังรัฐสภาภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯถวาย อันถือว่าทรงยับยั้ง (veto) โดยชัดแจ้ง
กรณีที่ 3 คือพระมหากษัตริย์ไม่ทรงผ่านพระราชทานร่างกฎหมายที่นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ และส่งมายังรัฐสภาภายใน 90 วัน ซึ่งเมื่อเวลา 90 วันล่วงพ้นไปก็ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรง ยับยั้ง (veto) ร่างกฎหมายนั้นโดยปริยายซึ่งเมื่อพระมหากษัตริย์จะทรง ยับยั้ง (veto) ร่างกฎหมายโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายก็ตาม รัฐสภา (ฝ่ายนิติบัญญัติ) จะต้องพิจารณาทบทวนร่างพระราชบัญญัติฉบับนั้นอีกครั้งหนึ่ง และหากรัฐสภาลงมติร่างกฎหมายนั้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา นายกรัฐมนตรีจะต้องนำร่างกฎหมายฉบับนั้นทูลเกล้าฯถวายอีกครั้งหนึ่ง และหากพระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยภายใน 30 วัน นายกรัฐมนตรีจึงนำร่างกฎหมายฉบับนั้นไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับ เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ทรงได้ลงพระปรมาภิไธยแต่ถ้ารัฐสภา (ฝ่ายนิติบัญญัติ) มีมติยืนยันร่างกฎหมาย ที่พระมหากษัตริย์ทรงยับยั้ง (veto) โดยชัดแจ้งหรือปริยายด้วยคะแนนเสียงไม่ถึง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ 2 สภา ร่างกฎหมายฉบับนั้นก็ตกไปนำไปประกาศใช้ไม่ได้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในอันที่จะยับยั้ง (veto) ร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา (ฝ่ายนิติบัญญัติ) แล้วไม่จำเป็นต้องมีองค์กรใดถวายคำแนะนำและไม่จำเป็นต้องมีองค์กรใดลงนามรับรองพระบรมราชโองการซึ่งถือเป็นข้อยกเว้นว่า พระมหากษัตริย์จะทรงใช้พระราชอำนาจที่ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับองค์กรอื่น
ข้อสังเกต การตีความกฎหมายมหาชนในกรณีพระราชอำนาจเฉพาะที่ใช้โดยพระองค์เป็นไปตามพระราชอำนาจตามอัธยาศัยเพียงลำพังในการยับยั้งร่างกฎหมายที่ไม่เด็ดขาด คือ แม้พระมหากษัตริย์ทรงไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายใด จึงไม่ลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมา รัฐสภาก็ยังสามารถลงคะแนนเสียงเพื่อยืนยันการประกาศใช้ร่างกฎหมายที่ถูกยับยั้งได้โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการลงพระปรมาภิไธย พระราชอำนาจยับยั้งร่างกฎหมายนี้จึงเป็นเพียงการยับยั้งเพื่อการถ่วงเวลาเท่านั้น
4) การใช้พระราชอำนาจตีความตามรัฐธรรมนูญ ที่เป็นจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 5 วรรค (ยังมีต่อ)
รองศาสตราจารย์สิทธิกร ศักดิ์แสง
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี