ในสังคมที่มีความซับซ้อนทั้งด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมืองและเทคโนโลยี
คำว่า “ความผิด” ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในระบบยุติธรรม แต่แทรกซึมอยู่ในทุกมิติของชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะในสองเสาหลักที่ควบคุมพฤติกรรมของผู้คนในแต่ละสังคม คือ “กฎหมาย” และ “จริยธรรม”
ความผิดทางจริยธรรม (ethic wrong) คือการกระทำที่ขัดต่อหลักความดี ความถูกต้อง หรือบรรทัดฐานทางศีลธรรมของสังคม ไม่ว่าการกระทำนั้นจะถูกลงโทษโดยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม เช่น การนอกใจคู่สมรส การโกหก การไม่ช่วยเหลือผู้ที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก แม้การกระทำเหล่านี้จะไม่ถือเป็นอาชญากรรมตามกฎหมายในหลายประเทศ แต่สังคมมักมองว่าเป็น พฤติกรรมที่ไม่ชอบธรรม ไม่ควรยอมรับ และอาจส่งผลต่อชื่อเสียงหรือความสัมพันธ์ส่วนตัว แนวคิดเรื่องความผิดทางจริยธรรมมักยึดหลักจากศาสนา ปรัชญา หรือบรรทัดฐานทางวัฒนธรรม เช่น ศีลห้าในพุทธศาสนา คำสอนของขงจื๊อ หรือปรัชญาของอริสโตเติลเรื่องความดีงามของปัจเจก
ความผิดทางกฎหมาย (legal wrong) คือการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมายที่รัฐบัญญัติไว้ เช่น การลักทรัพย์ ฆาตกรรม ขับรถเร็วเกินกำหนด ไม่เสียภาษีโดยผู้กระทำจะถูกลงโทษตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ เช่น จำคุก ปรับ หรือบริการสังคม ตามที่กฎหมายแต่ละประเทศกำหนดไว้ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายพิเศษต่างๆ
กฎหมายมีลักษณะเป็นระบบ มีโครงสร้างชัดเจน ใช้บังคับกับประชาชนทุกคน และมีอำนาจรัฐหนุนหลัง ซึ่งต่างจากจริยธรรมที่พึ่งพาสามัญสำนึก ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป หรือแรงกดดันทางสังคม
ผิดทางจริยธรรม คือการละเมิดมาตรฐานด้านศีลธรรมคุณธรรม
ผิดทางกฎหมาย คือการฝ่าฝืนองค์ประกอบทางกฎหมายที่ชัดเจน
ในระบอบประชาธิปไตย การมีนักการเมืองที่ยึดมั่นในจริยธรรมถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการธำรงความเชื่อมั่นของประชาชนและสร้างเสถียรภาพทางการเมือง เพราะจริยธรรมทางการเมือง (Political Ethics) คือหลักความประพฤติที่เหมาะสมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์สาธารณะมากกว่าประโยชน์ส่วนตน จริยธรรมดังกล่าวครอบคลุมเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบ ความโปร่งใส การไม่ใช้อำนาจโดยมิชอบ หรือการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ของชาติ เพราะถ้ารักษาจริยธรรมไม่ได้ ความเชื่อถือและการนำของคนเป็นผู้นำก็จะถูกลดคุณค่าในความรู้สึกของประชาชน
สังคมประชาธิปไตยต้องอาศัยนักการเมืองที่มีจริยธรรม เนื่องจากนักการเมืองเป็นผู้ใช้อำนาจทางนโยบาย ซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง หากปราศจากจริยธรรมแล้ว จะนำไปสู่ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน การลำเอียง การใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์พวกพ้อง และการทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนในระบบการเมือง
อย่างไรก็ดี การรักษาจริยธรรมของนักการเมืองไม่อาจพึ่งพาเพียงความคาดหวังจากสังคมได้เพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องมี “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือควบคุม ตรวจสอบ และจัดการกับพฤติกรรมที่อาจขัดต่อหลักนิติธรรมและจริยธรรมทางการเมือง เพราะกฎหมายทำหน้าที่กำหนดกรอบพฤติกรรมที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพึงปฏิบัติ กำหนดคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และกลไกการตรวจสอบ เช่น การยื่นบัญชีทรัพย์สิน การป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน หรือการกำหนดบทลงโทษในกรณีที่มีการละเมิดหลักจริยธรรม
ในประเทศไทย กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมนักการเมืองมีหลายฉบับ ได้แก่:
l รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐
l พระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ.๒๕๖๒
l พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑
l ประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.๒๕๖๔
กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง
องค์กรอิสระ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. และ กกต. ต่างมีบทบาทในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ภายใต้กรอบจริยธรรมที่ถูกต้อง
เช่น กรณีนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก ๕ ต่อ ๔ วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง (๔) เนื่องจากไม่มีความชื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐ (๔) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐ (๕) มีพฤติการณ์ที่เข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
กรณีล่าสุดของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยคนปัจจุบัน ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวด้วยมติ ๗ ต่อ ๒ จากเรื่องคลิปเสียงบทสนทนากับนายฮุนเซน โดยถูกร้องเรียนว่าอาจมีลักษณะพฤติกรรมที่เข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับนายเศรษฐา ทวีสิน โดยก่อนหน้านั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยอีกคน ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินด้วยมติ ๙ ต่อ ๐ ให้พ้นจากความเป็นนายกรัฐมนตรี กรณีใช้ตำแหน่งหน้าที่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย เพื่อเอื้อประโยชน์ให้เครือญาติ
ในระบบการเมืองไทย ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทเป็น “ผู้พิทักษ์กติกาสูงสุดของประเทศ” ซึ่งมีหน้าที่ตีความ ตรวจสอบ และชี้ขาดการกระทำของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมนักการเมือง ดังที่กล่าวมาข้างต้น
การที่ศาลมีคำสั่งให้ “นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว” ไม่ได้ถือเป็นการตัดสินว่าผิดหรือถูก หากแต่เป็นมาตรการป้องกัน เพื่อไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหายังคงใช้อำนาจในขณะที่กระบวนการวินิจฉัยยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งเป็นการคุ้มครองทั้งตัวบุคคลและผลประโยชน์ของสาธารณะ สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ “กฎหมาย” ในการเข้ามาทำหน้าที่เป็น “ดุลยภาพ” ทางการเมือง เพื่อรักษาความถูกต้องและชอบธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในสายตาประชาชน
แม้กฎหมายจะมีลักษณะแข็งตัวและเน้นความเป็นรูปธรรม แต่ในหลายกรณีก็สะท้อน “หลักจริยธรรม” ในเชิงระบบ เช่น การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การบัญญัติเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน การห้ามแทรกแซงข้าราชการ หรือการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน สิ่งเหล่านี้เป็นเสมือน “ขอบเขตของพฤติกรรมที่ชอบธรรม”
กรณีของนายกรัฐมนตรีทั้งสามคนที่มาจากพรรคเพื่อไทยจึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า แม้นักการเมืองจะได้รับฉันทามติจากประชาชนผ่านการเลือกตั้งก็ยังต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบตามกฎหมาย เพื่อยืนยันว่าการดำรงตำแหน่งนั้นเป็นไปโดยสุจริต โปร่งใส และไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ดังนั้น การสร้าง “ความสมดุล” ระหว่างเจตจำนงของประชาชนกับหลักนิติธรรม จึงเป็นความท้าทายของสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี การใช้กฎหมายโดยเฉพาะจากองค์กรอิสระหรือศาลรัฐธรรมนูญในการ “หยุดยั้ง” หรือ “จำกัด” อำนาจของนักการเมืองซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ย่อมต้องกระทำอย่างรอบคอบ โปร่งใส และเป็นธรรมที่สุด เพราะหากการใช้กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือเลือกปฏิบัติ ก็จะบั่นทอนความชอบธรรมของทั้งระบบกฎหมาย กระบวนการประชาธิปไตย และความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญเอง เพราะความไว้วางใจต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นขึ้นอยู่กับความโปร่งใสและเหตุผลของคำวินิจฉัย หากประชาชนเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญใช้ดุลพินิจอย่างเป็นกลางมีมาตรฐาน ก็จะยิ่งช่วยเสริมความศรัทธาต่อกฎหมายในฐานะเครื่องมือจริยธรรมทางการเมือง
กรณีของนายกฯ แพทองธาร ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนชัดถึงบทบาทของกฎหมายในฐานะเครื่องมือจัดการจริยธรรมนักการเมือง อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายจะมีพลังในการตรวจสอบและควบคุม แต่การใช้กฎหมายต้องตั้งอยู่บนหลักนิติธรรมไม่เลือกปฏิบัติ และมุ่งหวังผลประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง เพื่อรักษาความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม และส่งเสริมวัฒนธรรมทางการเมืองที่มีจริยธรรม
ดร.ธิติ สุวรรณทัต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี