ในรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๕๐ และ ๒๕๔๐ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในทางการเมืองตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ลงมารวมทั้งอีกบางตำแหน่งที่สำคัญเช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษา ตุลาการ หรือคณะกรรมการเลือกตั้ง อาจถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้ เพียงมีพฤติกรรมแค่ “ส่อ” ว่ากระทำผิดตามรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน (๒๕๖๐) ไม่ได้บัญญัติเรื่องการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง ดังที่รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มาตรา ๒๗๐ ได้บัญญัติไว้ตามหลักการอิมพีชเมนต์
(Impeachment) ที่มีข้อความว่า….
“ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด หรืออัยการสูงสุด ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่งได้
บทบัญญัติวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ด้วย คือ
(๑) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน และกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
(๒) ผู้พิพากษาหรือตุลาการ พนักงานอัยการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ทั้งนี้ ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต”
ขอให้สังเกตคำว่า “ส่อ” (เน้นโดยผู้เขียน)
จะเห็นได้ชัดเจนว่าพฤติกรรมต่างๆ ที่จะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง มีเพียงพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติอย่างเดียวที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ใช้คำว่า“ส่อ” แต่พฤติกรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้จะใช้คำว่า “ส่อ” ทั้งสิ้น
“ส่อ” ไปทางทุจริตต่อหน้าที่
“ส่อ” กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
“ส่อ” ว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
“ส่อ” ว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
“ส่อ” ว่าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ทั้งห้าพฤติกรรมจะเริ่มต้นด้วยคำว่า “ส่อ” ก่อนทั้งสิ้น
แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและถ้อยคำตามตัวอักษรของรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับก่อนหน้านั้นว่า เพียงแค่มีพฤติกรรม “ส่อ” เท่านั้นก็เข่าข่ายที่จะถูกถอดถอนได้แล้ว มิพักต้องพิจารณาว่าผู้นี้มิได้กระทำความผิดในเรื่องนั้นสำเร็จแล้วหรือยัง
เพราะความผิดสำเร็จหรือการพยายามกระทำความผิดเป็นกรณีที่จะลงโทษทางอาญา
แต่ความผิดตามมาตรา ๒๗๐ ของรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ หรือ มาตรา ๓๐๓ ของรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ เป็นการลงโทษทางการเมือง หรือเป็นความผิดทางการเมือง
ปัญหาสำคัญมีว่า พฤติกรรมอย่างไร แค่ไหนจึงเป็นการ “ส่อ” มีตัวอย่างให้ดูหรือไม่
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน ได้ให้ความหมายคำว่า “ส่อ” ไว้ดังว่า “..แสดงให้รู้เป็นนัยๆ…” (ส่วนมากใช้ไปในทางที่ไม่ดี)
ฉะนั้นเพียงมีพฤติการณ์เป็น “นัยๆ”ก็เข้าข่ายที่จะถูกถอดถอนได้แล้ว
อย่างไรเป็นการกระทำที่มีพฤติการณ์เป็น “นัยๆ” เพราะความผิดทั้งหลายที่กฎหมายบัญญัติไว้นั้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ หรือความผิดตามกฎหมายอื่นๆ ก็ตาม จะเกิดขึ้นได้ก็โดยบุคคลกระทำ และกรรมหรือการกระทำซึ่งเป็นความผิด ต้องแสดงออกมาภายนอก เพียงแต่คิดอยู่ในใจ จะชั่วร้ายเพียงใด ก็ไม่อาจเป็นความผิดได้ จนกว่าจะมีการกระทำเกิดขึ้นตามที่คิดนั้น
เพราะการคิดอยู่ในใจ อาจจะเป็น “จิตใต้สำนึก” ของผู้นั้น เพราะอยู่ในส่วนลึกของจิตใจเขา
ตามหลักธรรมศาสตร์ นักนิติศาสตร์ได้อธิบายไว้ว่า การกระทำเป็นเหตุการณ์อันอยู่ภายใต้บังคับของ “จิตใต้สำนึก” ของมนุษย์ อาจแยกออกได้เป็นสามส่วนคือ
๑. อิริยาบถ (Original Movement) คืออาการที่ร่างกายอยู่ในท่าใดท่าหนึ่ง เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน พูด กิน เป็นต้น
๒. พฤติการณ์ประกอบอิริยาบถ (Circumstances) ซึ่งดูจากการเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวอิริยาบถนั่นเอง
๓. ผลจากอิริยาบถและพฤติการณ์ประกอบอิริยาบถ (Consequence) คือการกระทำความผิดจะสำเร็จลงหรือที่เรียกว่าความผิดสำเร็จที่เป็นผลจากการเคลื่อนไหวอิริยาบถตามที่กล่าวมาใน ๑. และ ๒.
ฉะนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ และ ๒๕๔๐ ใช้คำว่า “ส่อ” จึงแสดงให้เห็นว่า พฤติการณ์ที่เข้าข่ายจะถูกถอดถอนไม่จำเป็นต้องมีการกระทำความผิดจนเป็นความผิดสำเร็จ เพียงแค่ “ส่อ” จากอิริยาบถและพฤติการณ์ประกอบอิริยาบถที่แสดงออกมาก็เป็นการ “ส่อ” ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแล้ว
ตัวอย่างของคำว่า “ส่อ” มีให้เห็นชัดเจนแล้วเมื่อเดือนที่แล้ว กรณีคลิปเสียงบทสนทนาระหว่างของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร กับนายฮุนเซน
นี่คือการ “ส่อ” อย่างตรงไปตรงมา
อย่างไรก็ตาม เรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ได้ตัดคำว่า “ส่อ” ออกไป และไม่ได้บัญญัติเรื่องการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง ดังที่รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ และ ๒๕๔๐ ได้บัญญัติไว้ตามหลักการอิมพีชเมนต์
แต่ยังคงบัญญัติให้องค์กรที่ทำหน้าที่ในการดำเนินการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดังบทบัญญัติมาตรา ๒๓๔ ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ที่เขียนว่า
“....คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้.....ไต่สวนและมีความเห็นกรณีกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตหรือจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพื่อดำเนินการต่อไปตามรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต...”
โดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มาตรา ๒๓๔ ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมืองอื่นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ปรีชา สุวรรณทัต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี