ผู้เขียนและพี่น้องลูกหลานหลายคนได้เคยอุปสมบทบวชเรียนพระธรรมวินัยที่วัดสามพระยา เพราะมีความศรัทธาท่านอดีตเจ้าอาวาส คือ ท่านสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร) ในตอนที่บวชนั้นท่านมีสมณศักดิ์ “พระธรรมปัญญาบดี” ภายหลังเมื่อมีเรื่องเงินทอนวัดเกิดขึ้นที่วัดสามพระยาและวัดอื่นบางวัด ทำให้ผู้เขียนมีความเศร้าใจมาก เพราะถ้าได้ยึด “ธรรมานุธรรมปฏิบัติ” ของท่านสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ในเรื่องทรัพย์สินที่มีผู้นำมาถวายให้ท่านและให้วัด ท่านจะมอบทรัพย์สินทั้งหมดให้ท่านรองเจ้าอาวาส ที่เรียกกันว่า “ท่านเจ้าคุณเล็ก” (พระราชวิริยาลังการ) เข้าบัญชีเก็บรักษาไว้เป็นของวัดทั้งหมด
ถ้าทุกวัดได้ปฏิบัติดังกล่าวนี้อย่างเคร่งครัด ปัญหาเรื่องทรัพย์สินเงินทอนของวัด ก็คงจะไม่เกิดมัวหมองและเศร้าหมองแก่พุทธศาสนิกชน ดังที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้
การได้อุปสมบทที่วัดสามพระยากับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้มีโอกาสมาอ่านคำเทศนาของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) แสดงธรรมแนะนำการทำความเข้าใจเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการคณะสงฆ์ในปัจจุบันและวิธีการแก้ปัญหาด้วยปัญญาที่ต้อง
๑.ดูสภาพตัวเองอย่างที่ว่า และ
๒.สืบสาวเหตุปัจจัยการแก้ด้วยปัญญา
จากพระธรรมเทศนาดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนนึกถึงการที่ได้เคยไปถวายความรู้“กฎหมายทั่วไปที่พระสงฆ์ควรทราบ”ที่สถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานบัญชีและกฎหมาย จัดขึ้นมานานแล้ว เพื่อไปถวายผ้าพระกฐินที่วัดตามต่างจังหวัดในทุกๆ ปี รวมทั้งที่จัดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ด้วย นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้มีโอกาสไปถวายความรู้หลักสูตรเดียวกันที่วัดคลองวาฬ อำภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อยู่เป็นประจำทุกปี
แม้ที่วัดสามพระยา ก็ได้เคยให้ผู้เขียนไปถวายความรู้อยู่หลายครั้ง เพราะผู้เขียนมีความผูกพันกับวัดสามพระยามานานมากแล้ว อย่างไรก็ดี ภายหลังวัดสามพระยาไม่ได้เชิญให้ผู้เขียนไปถวายความรู้อีก อาจจะเป็นเพราะผู้เขียนเคยไปบรรยายไม่เห็นด้วยที่จะให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ” และเรื่องเหตุ “ปาราชิก” ของธัมมชโย รวมไปถึง เรื่องการแก้ไขยกเลิกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ยอมให้พระภิกษุมีทรัพย์สินได้ และทำพินัยกรรมหรือจำหน่ายจ่ายโอนให้ผู้อื่นในระหว่างมีชีวิตได้ โดยเสนอให้ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างอยู่ในสมณเพศต้องตกเป็นทรัพย์สมบัติของวัดทันที แทนมาตรา ๑๖๒๓ ที่บัญญัติความนี้ไว้นานแล้วว่า
“ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพ ให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างมีชีวิตหรือโดยพินัยกรรม”
ผู้เขียนเห็นว่าการที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๒๓ รับรองการมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของภิกษุไว้ดังกล่าวนี้ขัดต่อพระธรรมวินัยในสิกขาบทที่ ๘, ๙ “โกสิยวรรค” ใน “นิสสัคคิยกัณฑ์”(ห้ามรับทองเงิน, ห้ามทำการซื้อขายด้วยรูปิยะ ) กล่าวคือ “พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุรับเอง ใช้ให้รับทอง เงิน หรือยินดี ทอง เงิน ที่เขาเก็บไว้เพื่อตน”
และได้ทรงปรับ อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิดที่อยู่ในพระวินัยสงฆ์ ๒๒๗ ข้อ และมีพุทธานุญาติให้สวดในที่ประชุมสงฆ์ทุกวันลงอุโบสถที่ต้องสวด “ปาติโมกข์” เมื่อท่านต้องสวดอย่างนี้แล้ว การที่ท่านจะละเว้นไม่ปฏิบัติตามนั้นจะถูกต้องตามพระธรรมวินัย หรือครับ
แต่ภายหลังทรงอนุญาตให้ยินดีปัจจัย ๔ ได้ คือการยกมอบเงินไว้แก่ ไวยาวัจกร เพื่อให้จัดหาปัจจัย ๔ คือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่นอนที่นั่ง และยารักษาโรค ภิกษุต้องการอะไร ก็บอกให้เขาจัดหามาให้ จึงมีประเพณีถวายใบปวารณาปัจจัย ๔
พระธรรมวินัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติขึ้นเป็นอกาลิโก จึงมีศักดิ์สูงกว่ากฎหมายของบ้านเมืองที่เกิดขึ้นจากการบัญญัติของปุถุชนที่ยังมีกิเลส จึงไม่อาจจะขัดหรือแย้งต่อพระธรรมวินัยได้
ฉะนั้น มาตรา ๑๖๒๓ นี้ ควรจะต้องถูกยกเลิกไป หรือบัญญัติความใหม่ไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ หรือกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สิน รวมทั้งการทำบัญชีธรรม
โดยมีความใหม่ในสาระสำคัญ ดังนี้
“ทรัพย์สินที่พระภิกษุได้มาระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ ให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้นและนำเข้า “บัญชีธรรม” ทั้งหมด ถ้าพระภิกษุมีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายให้ไวยาวัจกรเป็นผู้จัดถวายให้” ตามความจำเป็น
“บัญชีธรรม” ให้เป็นไปตามรูปแบบที่มหาเถรสมาคมกำหนด และผู้ที่จะมีหน้าที่ทำบัญชีและจัดการดูแลรักษาผลประโยชน์ของวัดได้แก่ “ไวยาวัจกร” ที่ตามกฎหมายคณะสงฆ์ให้มีฐานะเป็น “เจ้าพนักงานตามกฎหมายอาญา” ที่จะต้องมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งที่สำคัญนี้ ตามที่คณะกรรมการมหาเถรสมาคมกำหนดไว้ เช่น มีความรู้ทางพระธรรมวินัย กฎหมาย และการบัญชีระดับหนึ่งและไม่ใช่อยู่ในตำแหน่งนี้จนตลอดชีวิตเหมือนในปัจจุบัน
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ปรีชา สุวรรณทัต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี