สังคมยุค 4.0 ตามความเข้าใจทั่วๆ ไปนั้นหมายถึง เศรษฐกิจที่พึ่งพาเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่เป็นหลัก และหมายถึงสภาพชีวิตที่มีระดับ มีความทัดเทียมกันยิ่งขึ้น และมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน ซึ่งหมายถึงการกระจายความเจริญเติบโตทั้งทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตให้ทั่วถึง และยังมุ่งลดความเหลื่อมล้ำให้มากที่สุด โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารสมัยใหม่ได้
แต่การที่สังคมจะเดินหน้าไปเป็นสังคมยุค 4.0 ได้ ก็ต้องอาศัยการบริหารราชการบ้านเมืองที่พร้อมด้วย ซึ่งภาครัฐจะต้องมีการตระเตรียมบุคลากร การปรับปรุงและประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในแวดวงราชการ รวมทั้งวิสาหกิจรัฐ เนื่องจากเป็นกลไกหลักในการอำนวยความสะดวกในการบริการต่อสาธารณชน และดำรงตนเป็นผู้กำกับดูแลกฎเกณฑ์ กติกา ให้เป็นไปด้วยความโปร่งใสและยุติธรรมอย่างทั่วถึง รวมทั้งไม่มีการเลือกปฏิบัติ
ดังนั้นการจัดการภายในระบบราชการไทยที่กำลังจะก้าวไปยังยุค 4.0 นั้น จะต้องดำเนินการบนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาล ซึ่งกอปรด้วยความชำนิชำนาญ ความสามารถ ความพร้อมทางด้านจริยธรรมและคุณธรรม เพราะเมื่อระบบราชการมีคุณภาพทางด้านฝีไม้ลายมือ และสภาวะจิตใจแล้ว ก็จะเกิดความเข้มแข็งและความน่าเชื่อถือ ควรแก่ความเคารพนับถือและไว้วางใจ
แต่ในวันนี้ เมื่อประชาชนทอดสายตามองออกไปในชีวิตจริง ก็ยังคงเห็นกันว่าในแวดวงราชการต่างๆ นั้นยังมีหลักการปฏิบัติทั้งที่เป็นกฎเกณฑ์และขนบธรรมเนียมประเพณี ที่อาจจัดได้ว่ายังไม่ถูกต้องเที่ยงธรรมนัก เป็นเสมือนหนึ่งว่า ในระบบราชการนั้นมีระบบวรรณะแฝงอยู่ในที
ซึ่งก็มีปรากฏการณ์หลายประการที่บ่งบอกความไม่เที่ยงธรรม ที่พอจะเอามาเล่าสู่กันฟัง เช่น
1.ในแวดวงชาวมีสี ก็เป็นที่รู้ๆ กันว่าตำแหน่งสำคัญๆ ทั้งหลายนั้น ต้องรักษาและกันไว้ให้ผู้ที่จบมาจากสถาบัน “โรงเรียนนาย....” เป็นการเฉพาะ แทนที่จะกระจายยศตำแหน่งในระดับเดียวกันไปให้กับผู้ที่จบจาก “โรงเรียนนอก” ก็เลยทำให้หลายๆ คนจากโรงเรียนนาย.... ครองหลายๆ ตำแหน่งพร้อมๆ กันและรับเงินเพิ่มพิเศษอีกมากมาย
2.ข้าราชการทหารระดับนายพล ดูมี “วรรณะ” เหนือกว่าข้าราชการพลเรือนในระนาบเดียวกัน ในกรณีการมีบ้านพักหลังเกษียณอายุแล้ว จะด้วยเหตุผล จะชักแม่น้ำทั้งห้า ก็อ้างได้ แต่ในที่สุดก็เป็นเรื่องศักดิ์ศรี และความรู้สึกควรมิควรส่วนบุคคลมากกว่า ก็อย่าเอาเปรียบคนอื่นและอย่าเป็นภาระสังคม (ภาษี) อีกเลย
3.ผู้ใดที่ทำงานราชการ ก็ควรเป็นข้าราชการประเภทเดียว ด้วยกฎเกณฑ์เดียวกันหมด แต่การแบ่งออกเป็น ข้าราชการประจำ กับลูกจ้างและพนักงาน ก็ดูกระไรอยู่ เป็นการแบ่งชั้นวรรณะโดยปริยาย ไม่ยุติธรรม ไม่เที่ยงธรรม การอ้างว่าต้องเป็นเช่นนี้เพราะงบประมาณจำกัดนั้น ฟังไม่ขึ้น อยู่ที่ว่าจะวางระบบและบริหารจัดการบุคลากรให้กระชับชัดเจนอย่างไรมากกว่า และเป็นเรื่องที่ต้องเริ่มจากการมีจิตใจที่เที่ยงธรรม อีกทั้งในภาพใหญ่ประเทศไทยควรลดจำนวนหน่วยงาน และลดความซ้ำซ้อนของงาน และลดแม้กระทั่งรางวัลนำจับ (ให้กับข้าราชการ) และเบี้ยประชุม และลดการนั่งควบหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะในคณะกรรมการต่างๆ รวมไปถึงงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ (ไม่ได้แสดงผลงาน แต่โฆษณาองค์กรมากกว่า) ก็จะมีงบคงเหลือเพื่อนำไปสร้างระบบราชการระบบเดียวและล้มเลิกการมีวรรณะใดๆ ทั้งสิ้น
4.หลายๆ หน่วยราชการมีการว่าจ้างบริษัทจัดหางาน แล้วบริษัทจัดหางานไปจัดหาพนักงานและกินหัวคิวในราคาสูง อีกทั้งไม่รับผิดชอบเรื่องสวัสดิการ และหน่วยงานผู้ว่าจ้างก็ไม่ต้องรับผิดชอบด้วย ก็เท่ากับว่า หน่วยราชการส่งเสริมระบบการกินหัวคิว ปล่อยปละละเลยเรื่องสวัสดิการเท่ากับไม่เหลียวแลในเรื่องสิทธิมนุษยชน แรงงานเหล่านี้ขาดการคุ้มครอง ชีวิตต้องเสี่ยง แบบหาเช้ากินค่ำ ก็เป็นบุคคลที่มีวรรณะต่ำ ด้วยฝีมือของระบบราชการบ้านเมืองต่ำนั่นเอง
ก็ขอยกเรื่องเหล่านี้มาเป็นตัวอย่าง เพื่อจะได้เริ่มดำเนินการแก้ไขกันอย่างจริงจังเสียที
ไหนๆ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็อยู่ในตำแหน่งมา 7 ปีแล้ว เป็นนายกฯ มาจากทั้งการปฏิวัติ และจากทั้งระบบการเมืองครึ่งทหารครึ่งพลเรือน ซึ่งทั้ง 2 ระบบ ไม่ว่าอย่างใดอำนาจบริหารก็ล้นมือล้นฟ้า ก็อย่าให้เสียโอกาสที่มีอำนาจเต็มในมือนี้ ที่จะใช้ขจัดระบบวรรณะที่ไม่เป็นธรรมต่อสังคมไทย ทั้งในหน่วยงานราชการ และชาวบ้านประชาชนให้จงได้
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี