กระแส Call Out ซึ่งจะแปลว่า “เป็นปากเป็นเสียง” หรือ “แสดงจุดยืน” ก็ได้ กำลังเป็นของยอดฮิตในโลกออนไลน์
แต่สิ่งที่คนในโลก “ตามอำเภอใจ” อย่างโลกออนไลน์อาจยัง “พร่อง” ไป คือ สติ ความสุขุมรอบคอบ
ใช้ถ้อยคำเมามันจนอาจจะเข้าขั้น “ล่วงเกิน” คนอื่น หรืออาจเป็นเพียงการระบายอารมณ์ บอกความรู้สึกพร่ำบ่นก่นด่า แล้วคิดเอาเองว่า นั่นคือ Call Out
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา กล่าวถึงการดำเนินคดีกับศิลปินดาราที่ออกมา Call Out การบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาลว่า
“ต้องดูแต่ละกรณี เราปกครองด้วยกฎหมาย ถ้าไม่ทำผิดกฎหมายก็ไม่ต้องกังวล ถ้าหากใช้สิทธิภายใต้รัฐธรรมนูญก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเกินกว่าขอบเขตกฎหมายกำหนดไว้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ความจริงประเทศไทยถือว่าการใช้สิทธิเสรีภาพสูง แต่เราจะใช้ตามอำเภอใจไม่ได้
ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็สามารถใช้กฎหมายภายใต้ขอบเขต ไม่มีสิทธิใช้กฎหมายเกินขอบเขตเช่นเดียวกัน
เขาไม่ผิดแล้วไปกล่าวหาเขา ถือว่าคนกล่าวหาผิด ดังนั้น หากใช้สิทธิโดยชอบก็ทำได้ อย่ากังวล แต่ถ้าล่วงเกินจนกระทบสิทธิของผู้อื่น ผู้อื่นก็มีสิทธิ หากไปแจ้งความคนที่ไม่ได้ทำผิด ผู้ไปแจ้งความถือว่าแจ้งความเท็จ ต่างฝ่ายต่างมีกฎหมายคุ้มครอง” นายชวนกล่าว
สำหรับผมแล้ว มนุษย์ทุกคนมีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็น แต่ควรแสดงความคิดเห็นเชิงคุณภาพและคุณธรรม ไม่ใช่เพียงเพื่อ “บำบัด” ย้อมใจตัวเอง (ซึ่งก็ทำได้) หรือ “หาความนิยม” จากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจนละเลย “ความเปราะบาง” ของสังคมส่วนรวม
ในสถานการณ์โรคระบาด คนกำลังจมจ่อมอยู่กับ “ความทุกข์” แทบไม่เหลือชีวิตสักด้านที่น่าพึงพอใจ ไม่ว่าจะเป็น ทำมาหากินยาก เศรษฐกิจแย่ ตกงาน ลูกเรียนออนไลน์ วัคซีนไม่มี ที่มีก็ไม่เชื่อ เกลียดผู้มีอำนาจที่เข้าสู่อำนาจด้วยวิธีพิเศษกว่าคนอื่น เห็นคนเสียชีวิต ฯลฯ
ใน “ห้วงทุกข์” เช่นนี้ การได้บ่น ได้ระบาย ได้ต่อว่า คือ “การเยียวยา” อย่างหนึ่ง ซึ่งควรรับฟังกันอย่างสุขุมและมีวุฒิภาวะ มากกว่ามุ่ง “เอาชนะ” กันไปทีละคำสองคำ หรือยกพวก “วิวาทะ” กัน แทนการมุ่งหา “ทางออก”
ต้องไม่ลืมว่า การแสดงความรู้สึก การแสดงความคิดเห็น ควรมาควบคู่กับการแสดงความจริงและความรู้ด้วย
พูดในสิ่งที่จริง พูดในสิ่งที่รู้ เสนอแนะ ติติง วิพากษ์วิจารณ์เพื่อให้เรื่องนั้นๆ ได้รับการแก้ไข ด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ และนำเสนออย่างระมัดระวัง
คำพูด เป็นอาวุธชนิดหนึ่ง ที่ผู้ผลิตต้องใช้ทั้งสติ คือ ความรู้ตัวว่ากำลังจะพูดอะไรออกไป และปัญญา คือ ควรจะพูดอย่างไรให้เกิดคุณค่า
แต่การคอลเอาท์ที่ฮิตๆ กันอยู่ตอนนี้ มันยังไปไม่ถึงจุดนั้นทั้งหมด มันหนักไปทางต่อว่ากันเสียมากกว่าซึ่งคนที่ถูกต่อว่าก็ต้องมีวุฒิภาวะที่จะได้ยิน อย่างน้อย จงได้ยิน “ความทุกข์” ในสุ้มเสียงนั้น และดูว่า ตนเองจะทำอย่างไร เพื่อบรรเทาทุกข์นั้นได้บ้าง
การส่งคนไปแจ้งความดำเนินคดี มองได้ 2 มุม มุมหนึ่งเป็นการ “ต่อความยาวสาวความยืด” ไม่ทน ไม่อภัย และใช้กฎหมายต่อผู้ละเมิด ซึ่งก็ไม่ผิด
แต่ “ผิดใจ” อีกมุมหนึ่งถือเป็นการ “ให้บทเรียน” หรือ “ให้สติ” เพื่อให้ผู้พูด “เลือกใช้คำพูด” ที่ดีกว่าเดิม ซึ่งทำได้ ทำไมไม่ทำ ก็เพราะการคอลเอาท์นั้นๆ เน้นการ “ระบาย” เข้าไปด้วย จนบางทีเป็นการ “ถ่าย” มากกว่า “ถ่ายทอด” เรื่องที่อยากเห็นการแก้ไข
ผมอยากให้ทุกคน “ตั้งหลัก” สดับ “หลัก” บางประการที่อยู่ใน “พระโอวาท” 3 ครั้ง ของเจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ดังต่อไปนี้
1) เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันอาสาฬหบูชา วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม 2564 ความว่า
“...ดิถีอาสาฬหบูชาได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้วสาธุชนทั้งหลาย ต่างร่วมกันบำเพ็ญกุศลเป็นพิเศษเพื่อรำลึกถึงวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงปฐมเทศนา โปรดปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน อันเป็นการเริ่มประกาศพระศาสนา กระทั่งบังเกิดมีพระอริยสงฆ์ ครบถ้วนพร้อมเป็น “พระรัตนตรัย” นับเป็นนักขัตฤกษ์สำคัญ และยังสรรสร้างเกียรติประวัติสำหรับราชอาณาจักรไทย ด้วยเป็นประเทศแรกในโลกที่ดำริริเริ่มให้มีการบูชาพิเศษในดิถีเพ็ญอาสาฬหะ เมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประกาศความเป็นเมืองแห่งพระพุทธธรรม ซึ่งช่วยค้ำชูจิตใจของชนในชาติให้ร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา
...ปฐมเทศนาที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้นั้น คือ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ทรงชี้บอก วิถีทางแห่งการดับเพลิงกิเลสให้สูญไปโดยสิ้นเชิง
ด้วยมรรคมีองค์ 8 เรียกอีกอย่างว่า “ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา” หรือ การลงมือปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากทุกข์
...ทั้งนี้ ท่ามกลางภาวการณ์ในโลกปัจจุบัน ขอพุทธบริษัทพึงหันมาพิจารณาทบทวนมรรควิธีประการสำคัญประการหนึ่งในองค์ 8 นั้น ได้แก่ “สัมมาวาจา” ซึ่งหมายถึง การดำรงคำสัตย์ กล่าวแต่คำประสานน้ำใจซึ่งกันและกัน มีวาจาไพเราะจับใจ และกล่าวแต่สิ่งที่เปี่ยมด้วยสารัตถะ หากจงช่วยกันใช้ฉันทวาจา ให้สมาชิกในสังคมตั้งแต่ระดับครอบครัว ไปจนถึงชุมชน และประเทศชาติ เต็มไปด้วยสารประโยชน์ในกาลทั้งปวง ชวนกันเจริญ “เมตตาวจีกรรม” ซึ่งจะชักพาให้ตนและสังคมส่วนรวมมีความวัฒนาสถาพร
...วันอาสาฬหบูชา นอกจากจะเตือนใจให้รำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย อันเป็นสรณะสูงสุดของพุทธบริษัทแล้ว ยังนำพาให้เราทั้งหลายมั่นคงแน่วแน่ด้วยปณิธานแห่ง “สัมมาวาจา” เพราะฉะนั้น หากท่านประสงค์ให้สังคมไทยไพบูลย์ด้วยสันติสุข ขอจงเร่งเจริญรอยตามพระยุคลบาทของพระพุทธองค์ ผู้ทรงพระมหากรุณาประทานอริยอัฏฐังคิกมรรคไว้เป็นหนทาง พร้อมเพรียงกันบำเพ็ญคุณประโยชน์ โดยเริ่มที่ตนเอง จากการมี “สัมมาวาจา” อยู่ทุกขณะ ซึ่งจะช่วยเกื้อกูลให้เพื่อนร่วมชาติ ร่วมสังคม สามารถก้าวข้ามพ้นจากความทุกขโทมนัส แปรเปลี่ยนเป็นความเกษมสวัสดิ์ของสรรพชีวิตบนโลกนี้ได้สืบไป ตลอดกาลนาน.”
2) ต้นเดือนเมษายน 2564 ในเวลาที่ผู้คนกำลังวิตกกังวล เป็นทุกข์กับโรคระบาดโควิด-19 เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราชฯ ประทานพระโอวาท ความว่า...
“...ไม่มีชีวิตใดประสบแต่ความเกษมสุข ปราศจากทุกข์ภัยไปได้ตลอด เมื่อเกิดมาแล้ว จึงจำเป็นต้องขวนขวายสั่งสม “สติ” และ “ปัญญา” สำหรับเป็นอุปกรณ์บำบัดความทุกข์อยู่ทุกเมื่อ เพื่อให้สมกับที่ดำรงอัตภาพแห่งมนุษย์ผู้มีศักยภาพต่อการพัฒนา
ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดซึ่งก่อให้เกิดความหวาดหวั่นครั่นคร้ามกันทั่วหน้า ทุกคนมีหน้าที่แสวงหาหนทางเพิ่มพูน “สติ” และ “ปัญญา” พร้อมทั้ง
แบ่งปันหยิบยื่นให้แก่เพื่อนร่วมสังคม อย่าปล่อยให้ความกลัวภัยและความหดหู่ท้อถอย คุกคามเข้าบั่นทอนความเข้มแข็งของจิตใจ ในอันที่จะอดทน พากเพียร
เสียสละ และสามัคคี
มีธรรมภาษิตบทหนึ่งในพระพุทธศาสนา พึงน้อมนำมาเตือนใจในยามนี้ ว่า “เมื่อถึงยามคับขันประชาชนต้องการผู้กล้าหาญ, เมื่อถึงคราวปรึกษางาน ต้องการผู้ที่ไม่พูดพล่าม, ยามมีข้าวน้ำ ต้องการผู้เป็นที่รัก, ยามเกิดปัญหา ต้องการบัณฑิต”
ขอทุกท่านจงเป็น “ผู้กล้าหาญ” ที่จะละความดื้อด้านเห็นแก่ตัว ความเคยตัว และความไม่ระมัดระวังตัวขอจงเป็น “ผู้ที่ไม่พูดพล่าม” โดยปราศจากสาระ ก่อความร้าวฉานชิงชัง ในยามที่สังคมต้องการสาระ คำปรึกษาหารือ และกำลังใจ แต่จงประพฤติตนเป็น “บัณฑิต” ผู้รู้รักษากายใจของตัวให้ปลอดจากโรคกายโรคใจ เป็นผู้ฉลาดศึกษา ค้นคว้า วางแผน ชี้แนะ และลงมือทำ
ทั้งนี้ ถ้าแต่ละคนแม้เพียงตั้งจิตไว้ในธรรมฝ่ายสุจริต ไม่ถลำลงสู่ความคิดชั่ว อันนำไปสู่การพูดชั่วและทำชั่วซ้ำเติม ก็นับว่าได้ช่วยบรรเทาปัญหาของโลกแล้ว
และยิ่งหากท่านมีดวงจิตผ่องแผ้วด้วยเมตตาการุณยธรรมนำความปรารถนาดีเผื่อแผ่ไปสู่ทุกชีวิตอย่างเสมอหน้า ความทุกข์ยากที่เราทั้งหลายต่างเผชิญ ย่อมจะคลี่คลายได้ในไม่ช้า
3) เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันมาฆบูชา วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 ความว่า
“...ดิถีมาฆบูชาได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว ดิถีเช่นนี้ชวนให้พุทธบริษัททุกหมู่เหล่า ได้น้อมรำลึกถึงเหตุการณ์ในดิถีเพ็ญเดือน 3 ภายหลังจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ 9 เดือนขณะประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร พระองค์ได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ประทานแก่พระสาวก 1,250 รูป ซึ่งล้วนอุปสมบทโดยวิธีเอหิภิกขุ และเป็นพระอรหันต์ โดยมีหลักการสำคัญที่ทรงพระมหากรุณาประทานไว้เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ 1.การไม่ทำบาปทั้งปวง 2.การบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม และ 3.การชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์จากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง
...สารัตถะแห่งโอวาทปาติโมกข์นั้น นอกจากเป็นการประทานหัวใจของพระพุทธศาสนา ยังทรงสั่งสอนหลักสำหรับการเผยแผ่พระศาสนาไว้ด้วย มีหลัก 2 ประการแรกว่า การไม่กล่าวร้าย และ การไม่ทำร้าย เป็นต้น
...ทั้งนี้ แม้ผู้สดับพระธรรมเทศนาเมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีก่อน ล้วนเป็นพระภิกษุบริษัท หากแต่พระธรรมย่อมเป็นของสาธารณะสำหรับทุกชีวิตที่ควรน้อมนำเข้ามาสู่ตน ไม่จำกัดว่าเป็นบรรพชิต หรือคฤหัสถ์
...เพราะฉะนั้น พุทธศาสนิกชนทุกคนจึงพึงน้อมนำหลักการ “ไม่กล่าวร้าย ไม่ทำร้าย” มาเป็นพื้นฐานของการครองตน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยกระแสข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ บิดเบือน หรือยุยง ซึ่งอาจนำไปสู่ความร้าวฉานถึงขั้นประหัตประหารกัน
หากทุกท่านยึดมั่นอุดมการณ์ที่จะไม่กล่าวร้าย และไม่ทำร้ายใครๆ ไม่ว่าในกาลไหนๆ ตามหลักการของโอวาทปาติโมกข์ ถ้าท่านได้รับข้อมูลข่าวสารใดๆ ที่อาจกระทบกระเทือนจิตใจ ก่อให้เกิดความโกรธเคือง หรือขุ่นข้องหมองใจ ท่านย่อมสามารถระงับการกระทำทางกาย และทางวาจาที่เกรี้ยวกราด หยาบช้าหรือรุนแรงไว้ได้ ก่อให้เกิดสันติภาพในหมู่คณะรอบตัวท่าน อันจักขยายผลไปสู่ชาติบ้านเมือง และสังคมโลกได้ในที่สุด
ขอพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงดำรงมั่นคงอยู่ในโลกนี้ตลอดกาลนาน และขอพุทธบริษัททั้งหลายจงพร้อมเพรียงกันศึกษาพระสัทธรรมนั้น เพื่อบรรลุถึงความงอกงามไพบูลย์ยิ่งๆ ขึ้นสืบไป เทอญ”
สรุป : ผมเป็นคนหนึ่ง ที่เห็นว่ายุทธศาสตร์และการรับมือกับปัญหาโรคระบาดของ พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความบกพร่อง ผิดพลาดและล่าช้ากว่าสถานการณ์อยู่
แต่ก็เห็นด้วยว่า ภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม พยายามลงมือ “อุดช่องโหว่” ของปัญหานั้นๆ พร้อมๆกับท้วงติง เสนอแนะ ด้วยความมุ่งหมายให้ปัญหาได้รับการแก้ไขโดยไวเป็นสำคัญ เพราะเดิมพันมันคือ“ชีวิตของประชาชน” และชีวิตของประเทศ
การต่อว่าด่าทอ ผมก็เห็นความทุกข์ในนั้นเช่นกัน แต่มันก็ต้องตั้งอยู่บนความรับผิดชอบทางกฎหมายอย่างเลี่ยงมิได้ เพราะสิ่งที่เลี่ยงและเลือกได้ก่อนหน้านั้น คือ การเลือกใช้ถ้อยคำด้วยความรับผิดชอบ
ครั้นยอมให้ท้ายปรนเปรออารมณ์จนลืม “ขอบเขต”แสดงความหยาบคาย เกลียดชัง เพื่อเยียวยาทุกข์
ก็อยู่ที่คนที่ถูกละเมิด จะมีวุฒิภาวะเพียงใดในการรับมือ ตอบโต้ หรือไม่ตอบโต้
คนรอบตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเลิก“เพิ่มศัตรู” และหันมา “สร้างมิตร” สร้างความร่วมไม้ร่วมมือให้มาก โดยเฉพาะเริ่มจากสมัครพรรคพวกของตัวเองให้เป็นตัวอย่าง
อย่าสับสนระหว่าง “การเมือง” กับ “บ้านเมือง”
อย่าไล่ล่ากันทางการเมืองเสียจนบ้านเมืองฉิบหายไปก่อน เพื่อแลกกับชัยชนะทางการเมืองที่ว่า!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี