สัญญาสัมปทานกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ระหว่างกระทรวงคมนาคม และบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ลงนามตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2534 อายุสัมปทาน 30 ปี สิ้นสุดสัญญาเมื่อ 10 กันยายนที่ผ่านมา
ในช่วงรัฐบาลก่อนหน้านี้ (โดยเฉพาะยุคทักษิณและยิ่งลักษณ์) ได้เกิดกรณีเอื้อประโยชน์แก่บริษัทเอกชนคู่สัญญากลายกรณี รวมถึงการถ่ายโอนทรัพย์สินกิจการดาวเทียม
ข้างต้นมาเป็นของรัฐหลังหมดสัญญาในยุครัฐบาลปัจจุบัน ก็ถูกจับตาว่าจะดำเนินการอย่างครบถ้วน หรือจะเอื้อประโยชน์แก่เจ้าของกิจการดาวเทียมคนใหม่หรือไม่ (ปัจจุบัน มีการขายหุ้นอินทัชไปให้คนอื่นแล้ว)
1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ
ชุดที่มี พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานกรรมการ มีบุคคลที่น่าเชื่อถือระดับอธิบดีกรมสรรพากร นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ และเลขาธิการ ก.ล.ต. นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล ร่วมเป็นกรรมการ ฯลฯ โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาฯ
ขอบเขตอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบ ตามคำสั่งนายกฯ ระบุว่า
“...เพื่อให้การตรวจสอบการดำเนินการต่างๆ ตามสัญญา และการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนในการรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ ประกอบกับได้มีข้อร้องเรียนหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2553 และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติเสนอแนะคณะรัฐมนตรีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว...
...ให้คณะกรรมการตามข้อ 1 มีอำนาจในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ความเป็นมา และการดำเนินการต่างๆ ตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ระหว่างกระทรวงคมนาคมและบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด รวมถึงนิติสัมพันธ์อื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาดังกล่าวในสมัยรัฐบาลต่างๆ ตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เสนอมายังคณะรัฐมนตรีในเรื่องนี้ตลอดจนให้คำแนะนำแก่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการเจรจาและดำเนินการในเรื่องดังกล่าว และการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 การหาผู้ต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่รัฐและประชาชนได้รับ และการแก้ไขปัญหาการดำเนินการภายหลังสัญญาสิ้นสุดโดยกำหนดกรอบในการเจรจาระหว่างคู่สัญญาให้ได้ข้อยุติที่เป็นธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยให้รับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากบุคคลภายนอกได้...”
เท่ากับว่า สามารถตรวจสอบได้ครอบคลุมทั้งหมด เพียงแต่ไม่มีอำนาจลงโทษใคร มีหน้าที่รายงานนายกฯ และแนะนำกระทรวงดีอีเอส ล่าสุด ทราบว่า นัดประชุมกันวันจันทร์ที่ 13 ก.ย.นี้
2. กรณีดาวเทียมไอพีสตาร์ (ไทยคม4)
ปัจจุบัน ดาวเทียมไอพีสตาร์ยังใช้งานอยู่ (แม้จะเกินอายุใช้งานตามการออกแบบมาแล้ว)
แต่ปมสำคัญ คือ การที่รัฐบาลทักษิณปล่อยให้บริษัทเอกชนดำเนินกิจการดาวเทียมไอพีสตาร์ โดยไม่ต้องประมูลเป็นโครงการใหม่ ด้วยการสวมรอยเป็นไทยคม 4 (อ้างเป็นดาวเทียมสำรอง) อ้างเป็นดาวเทียมภายใต้สัญญาสัมปทานดาวเทียมสื่อสารในประเทศ ทั้งๆ ที่ ไอพีสตาร์ใช้ทำมาหากินกับลูกค้าต่างประเทศเป็นหลัก และมีเทคนิคแตกต่างจากดาวเทียมไทยคม 3
ลองคิดง่ายๆ สมมุติว่า บริษัทของนายก อบต.ได้สัมปทานเรือข้ามฟาก แต่ดันไปทำเรือโดยสารขนส่งคนตามลำน้ำ โดยอ้างว่าเป็นเรือสำรองของเรือข้ามฟาก อ้างเป็นส่วนหนึ่งของสัมปทานกิจการเรือข้ามฟาก ได้หรือไม่? แล้วการที่ไม่มีเรือข้ามฟากสำรองจริงๆ ก็ทำให้เกิดความเสียหายด้วย
ลองคิดดู... ในเมื่อไอพีสตาร์มีเทคโนโลยีแตกต่างจากดาวเทียมไทยคม 3 อย่างสิ้นเชิง แถมใช้แสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจในต่างประเทศเป็นหลัก ไม่สามารถอ้างว่าเป็นดาวเทียมสำรองของไทยคม 3 ซึ่งเป็นดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ
คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีทักษิณร่ำรวยผิดปกติ ชี้ชัดว่า ไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมนอกสัญญาสัมปทาน เพราะเป็นดาวเทียมหลักดวงใหม่ ไม่ใช่ดาวเทียมสำรองของไทยคม 3
น่าคิดว่า ในเมื่อเป็นดาวเทียมคนละประเภท อยู่นอกกรอบสัญญาสัมปทานดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศที่บริษัทของทักษิณได้สัมปทานมาในยุครัฐบาล รสช.ปี 2534 ดังนั้น ก่อนจะประกอบกิจการ ภาครัฐย่อมจะต้องเปิดให้มีการประมูลแข่งขันตามกฎหมาย เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนเสนอโครงการใหม่อย่างเสรีและเป็นธรรม ทั้งในด้านการบริหารงาน และอัตราการจ่าย
ผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐ
เท่ากับว่า ประเทศชาติเสียหาย เพราะขาดดาวเทียมสำรองของไทยคม 3 ไปหนึ่งดวง จากการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทของทักษิณในขณะนั้นได้ยิงดาวเทียม “ไอพีสตาร์” ได้ประกอบธุรกิจดาวเทียมสื่อสารระหว่างประเทศไปโดยไม่ต้องมีการประมูล
ยิ่งกว่านั้น ในการไต่สวนพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ พบพฤติกรรมการกระทำอย่างอุกอาจ ทั้งใช้วิธีกระทำการลัดขั้นตอนในการปฏิบัติราชการ ในลักษณะที่รวบรัดและรีบเร่ง ผิดปกติวิสัย รัฐมนตรีคมนาคมขณะนั้นถึงกับอนุมัติคุณสมบัติดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมสำรองไปก่อน แล้วจึงมีการจัดทำหนังสือเวียนให้คณะกรรมการรับรองรายงานการประชุมภายหลัง เป็นต้น ศาลฎีกาฯ ชี้ว่า เป็นการกระทำที่เป็นการลัดขั้นตอนในการปฏิบัติราชการในลักษณะรวบรัด และรีบเร่ง เป็นการกระทำที่ผิดปกติวิสัย
ปัจจุบัน ยังไม่ปรากฏว่า ฝ่ายนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐรวมถึงเอกชนที่เกี่ยวข้องกับสัมปทานดาวเทียมพ่วงไอพีสตาร์ จะได้มีการชดใช้ ชดเชยผลประโยชน์แก่แผ่นดิน หรือถูกลงโทษจากกรณีนี้
3. ประเด็นเรื่องดาวเทียมไอพีสตาร์ ในมุมของบริษัทไทยคม
บริษัทไทยคมฯ ได้ยืนยันไว้ในรายงานประจำปีว่า ตนได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
“อีกทั้ง ในการดำเนินโครงการดาวเทียมไทยคม 4 บริษัทได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของวิธีปฏิบัติในทางสัญญาและกฎหมาย และได้รับอนุมัติจากกระทรวงฯ แล้ว ในภายหลังกระทรวงฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งบริษัทได้มีการประสานงานกับกระทรวงฯ และคณะกรรมการฯ เพื่อดำเนินการต่างๆ ต่อไป”
4. การส่งมอบทรัพย์สินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ
ตามสัญญาสัมปทานข้อ 15 เรื่อง การโอนกรรมสิทธิ์ การส่งมอบ และรับมอบทรัพย์สิน
กำหนดไว้ชัดเจน สรุป คือ
บริษัทจะต้องยกกรรมสิทธิ์ของดาวเทียมทุกดวงให้เป็นของกระทรวงฯ หลังจากส่งดาวเทียมเข้าสู่ตำแหน่งวงโคจรและผ่านการทดสอบการใช้งานเรียบร้อยแล้ว
ส่วนสถานีควบคุมดาวเทียมและอุปกรณ์ต่างๆ ตกเป็นของกระทรวงฯ ทันทีหลังการจัดตั้ง และทดสอบประสิทธิภาพ โดยกระทรวงฯ จะมอบทรัพย์สินดังกล่าวให้บริษัทครอบครองเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการต่อไป
เมื่อสัญญาสิ้นสุดลง บริษัทต้องส่งมอบทรัพย์สิน สถานีควบคุมดาวเทียม และอุปกรณ์ต่างๆ ต้องอยู่ในสภาพใช้งานได้ดีส่วนดาวเทียมต้องอยู่ในสภาพใช้งานได้ ณ ตำแหน่งวงโคจร และบริษัทต้องส่งมอบสัญญาและเอกสารหลักฐานหรือเอกสารใดๆ ที่เกี่ยวกับการตกลงใช้บริการวงจรดาวเทียมของผู้ใช้วงจรดาวเทียมทุกรายให้แก่กระทรวงโดยทันทีด้วย
อย่าอ้อยอิ่ง อย่าปล่อยให้ใครอมของหลวง
อย่าปล่อยให้ใครครอบครองแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของหลวงโดยมิชอบ อย่างไม่เป็นธรรม
มิฉะนั้น รัฐบาลปัจจุบันเอง ก็จะต้องรับผิดชอบ
5. ปมอื่นๆ ซุกใต้พรมกิจการดาวเทียม
สำหรับดาวเทียมไทยคม 1-6 บริษัทไทยคมยืนยันว่าเป็นดาวเทียมในสัญญาสัมปทานดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ เพราะฉะนั้น ก็ควรจะต้องส่งมอบทรัพย์สินให้ครบถ้วนตามสัญญา
ส่วนดาวเทียมไทยคม 7-8 อีกสองดวง บริษัทยืนยันว่าเป็นดาวเทียมนอกสัญญาสัมปทาน แต่ดำเนินการตามใบอนุญาตที่ได้มาในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2560 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เคยแจ้งไปยังบริษัทแล้วว่า ดาวเทียมไทยคม 7 และดาวเทียมไทยคม 8 เป็นดาวเทียมภายใต้สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ลงนามเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2534 ทั้งนี้ หนังสือจากกระทรวงดิจิทัลฯ ระบุให้ปฏิบัติตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารฯ ให้ครบถ้วนโดยด่วน อาทิ การโอนกรรมสิทธ์ิและส่งมอบทรัพย์สิน การจัดสร้างดาวเทียมสำรอง การชำระเงินผลประโยชน์ตอบแทน และการประกันภัยทรัพย์สิน
ขณะนี้ บริษัทไทยคมยื่นข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาชี้ขาด เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำ ที่ 97/2560 ขณะนี้ข้อพิพาทดังกล่าวอยู่ในกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการ
กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้วินิจฉัยว่า คณะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจพิจารณาข้อเรียกร้องของบริษัทในข้อพิพาทดังกล่าวด้วย
ยิ่งกว่านั้น ล่าสุด นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ได้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปราบโกง เอาผิดกับบุคคลในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วย
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี