คุณถนอม อ่อนเกตุพล พิธีกรรายการข่าว ช่อง NBT ได้โพสต์ข้อความเตือนผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า
“ด่วน! คนถูกรางวัลใหญ่อาจจะซวย โดยไม่รู้ตัว
ผมได้รับแจ้งจาก สำนักงานสลากฯ และกรมสรรพากรว่า คนที่ถูกรางวัลใหญ่ลอตเตอรี่ที่ท่านไม่ได้ไปขึ้นเงินกับสำนักงานสลากเอง แต่ให้บริษัทที่ท่านซื้อและถูกไปขึ้นเงินให้ โดยไม่หักค่าใช้จ่ายอะไรจากท่าน โดยบริษัทอ้างว่า จ่ายภาษีให้แทนนั้น
ระวังนะ! การไปขึ้นเงินแบบนั้น เขาเอาบัตร ปชช.ของคนขายไปขึ้นรางวัลเอง ไม่ใช่คนซื้อแบบนี้ จะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้
ถ้าถูกรางวัล ตั้งแต่ 6 ล้านบาท ขึ้นไป ท่านจะต้องถูกสรรพากรประเมินภาษีเงินได้สูงถึง 35%ของเงินรางวัล เช่น รางวัลที่ 1 รับ 6 ล้าน ต้องเสียภาษี 2.1 ล้านบาท ทั้งนี้ เพราะกฎหมายยกเว้นให้เฉพาะคนที่ขึ้นเงินกับสำนักงานสลากเท่านั้น ส่วนคนที่ไปรับเงินจากบริษัทที่ขายไม่ได้รับการยกเว้น (นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร) ตอบครับ
ยกเว้นท่านไปขึ้นเงินเองกับสำนักงานสลากฯ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ทั้งหมด เสียเพียงค่าอากรแสตมป์ 0.5% หรือ 6 ล้าน เสีย 30,000 บาท เท่านั้น
ทราบแล้ว ใครที่ถูกรางวัล และไม่ได้นำสลากไปขึ้นเงินรางวัลด้วยตนเอง เตรียมตัวพบสรรพากรได้นะครับ ...ผมเตือนแล้วนะ”
1.นอท พันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ ซีอีโอกองสลากพลัส ชี้แจงว่า “ผมเป็นตัวแทนขึ้นเงินรางวัล สามารถทำการแทนผู้ถูกรางวัลได้ครับ”
พูดง่ายๆ อ้างว่า มีการทำหนังสือให้ความยินยอมจ่ายเงินรางวัลให้กับนายนอทในฐานะผู้รับซื้อรางวัล
น่าสนใจว่า การกระทำเช่นนี้ ทำได้จริงหรือไม่? ถูกต้องหรือไม่? ตรงไปตรงมาตามเจตนารมณ์แห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่?
2.ประเด็นปัญหาที่นายถนอมนำเสนอข้างต้นนั้น น่าสนใจ
และเป็นปมที่ธุรกิจแพลตฟอร์มขายสลากออนไลน์นำมาใช้โหมทำการตลาดและประชาสัมพันธ์อย่างหนักหน่วง
แหล่งข่าวจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า การที่แพลตฟอร์มออนไลน์ของบริษัทเอกชน ได้โหมทำการประชาสัมพันธ์ กรณีถูกรางวัลจะมีการนำเงินสดไปมอบให้แล้วนำมาเผยแพร่ทางสื่อโซเชียล โดยไม่มีสื่อสารถึงการหักค่าอากรแสตมป์ หรือ ค่าธรรมเนียมใดๆ มีข้อเท็จจริงที่ต้องรับรู้ว่าในช่วงสิ้นปี บุคคลผู้ถูกรางวัลใหญ่ๆ เหล่านั้น ต้องถูกกรมสรรพากรจัดเก็บภาษีเงินได้ แทนบริษัทเอกชนเจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยหากเงินได้บุคคลธรรมดา เกิน 5 ล้านบาทต่อปี จะต้องถูกจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าที่ 35% ของเงินได้ ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่ถูกรางวัลต้องเสียเงินมากกว่านำสลากฯ มาขึ้นรางวัลกับสำนักงานสลากฯ ซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ที่เกิดขึ้นจากการถูกรางวัล
ยกตัวอย่าง นาย ก. เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มจำหน่ายสลากออนไลน์ และได้เปิดขายสลากให้ประชาชนทั่วไป และเมื่อมีผู้ถูกรางวัล จากแพลตฟอร์มของนาย ก. ในแต่ละงวดนาย ก. จะมีการไลฟ์สด โดยนำเงินส่วนตัวไปมอบให้แก่ผู้ถูกรางวัล เต็มจำนวน ทำให้ผู้ถูกรางวัลไม่ต้องถูกค่าอากรแสตมป์และค่าธรรมเนียม 1% จากการถูกรางวัล
ส่วนนาย ก. จะเป็นผู้ที่นำสลากที่ถูกรางวัล มาขึ้นเงินกับสำนักงานสลากฯ ซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้จากการถูกรางวัล แต่เมื่อมีการคำนวณจ่ายภาษีเงินได้สิ้นปี ผู้ถูกรางวัลต้องเป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายได้เพื่อชำระภาษี และมีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีในส่วนของเงินได้รับรางวัลซึ่งหากเงินที่ได้มาเกิน 5 ล้านบาท จะต้องเสียในอัตราก้าว 35% ซึ่งกรณี นาย ก. ไลฟ์สด พบมีผู้ถูกรางวัลสูงถึง 70 ล้านบาท เมื่อถูกนำมาหักภาษีในอัตรา 35% จะทำให้ประชาชนเจ้าของสลากฯนั้น ต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นจากการถูกรางวัลจากสำนักงานสลากโดยตรงอีกด้วย
นี่คือหลักการทั่วไป
แต่ถ้าแพลตฟอร์มใช้วิธีซิกแซกแบบทำหนังสือให้ความยินยอมจ่ายเงินรางวัลให้แก่นาย ก. จะสามารถทำได้หรือไม่?
ถ้าผู้ถูกรางวัลรอดภาษีเงินได้ แล้วนาย ก.จะรอดภาษีไปด้วยหรือไม่?
น่าสนใจมาก
3.ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวไทยพับลิก้า ได้รายงานว่า กรณีที่มีผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มสลากออนไลน์ของเอกชนบางรายจัดแคมเปญ นำเงินสดไปมอบให้กับลูกค้าที่ถูกรางวัลที่ 1 รางวัลละ 6 ล้านบาท จ่ายเต็ม 100% โดยไม่หักภาษี และค่าธรรมเนียมใดๆ พร้อมโอนเงินรางวัลเข้าบัญชีก่อนเที่ยงคืนของวันที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลออกรางวัล โดยนำภาพการนำมอบเงินสดให้ลูกค้าหรือจัดทำคลิปวีดีโอเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียหลายช่องทาง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและจูงใจให้ลูกค้าเข้ามาซื้อสลากกับแพลตฟอร์มออนไลน์รายดังกล่าวนี้
มีรายงานข่าวจากกรมสรรพากรว่า ในขณะนี้ นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สรรพากร เข้าไปตรวจสอบในเรื่องนี้แล้ว เพื่อกำหนดแนวทางการเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับลูกค้าที่รับเงินสดจากแพลตฟอร์มออนไลน์เต็ม 100% โดยไม่หักภาษี และค่าธรรมเนียมใดๆ ถูกกรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาย้อนหลังในอัตราสูงสุดถึง 35% ของเงินได้พึงประเมิน
“...ในประมวลรัษฎากรกำหนดให้ผู้ที่ถูกรางวัลสลากมีหน้าที่ต้องเสียภาษี 2 กรณี คือ
กรณีที่ 1 สลากกินแบ่งรัฐบาล ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 42 (11) แต่ต้องจ่ายค่าอากรแสตมป์กับเจ้าหน้าที่สำนักงานสลากฯ 0.5% ของเงินรางวัล ตามที่กำหนดในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ แต่ถ้าเป็นนิติบุคคลถูกรางวัล ก็เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดบทยกเว้นเอาไว้
กรณีที่ 2 สลากการกุศล ผู้ที่ถูกรางวัลไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ถูกรางวัลต้องยอมให้สำนักงานสลากฯ หักภาษี ณ ที่จ่าย 1%ของเงินรางวัลเพื่อนำส่งกรมสรรพากร โดยที่ไม่ขอเครดิตหรือขอคืนภาษีที่ถูกหักเอาไว้ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) 2500 มาตรา 5 จตุทศ แต่ค่าอากรแสตมป์ 0.5% ของเงินรางวัลไม่ต้องเสีย เนื่องจากกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ยกเว้น
นี่คือหลักการของกฎหมายภาษีอากรที่เกี่ยวข้องกับเงินรางวัล
รวมแล้วผู้ที่ถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลต้องเสียค่าอากรแสตมป์แค่ 0.5% ของเงินรางวัลเท่านั้น ส่วนผู้ที่ถูกรางวัลสลากการกุศล ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 1% ของเงินรางวัล
คราวนี้ มาดูแนวทางปฏิบัติในการขึ้นเงินรางวัลสลากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีอยู่ 3 วิธี คือ
วิธีที่ 1 ผู้ถูกรางวัลมาขึ้นเงินรางวัลด้วยตนเองที่สำนักงานสลากฯ สนามบินน้ำ
ส่วนใหญ่เป็นบุคคลธรรมดา เพราะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ถ้าเป็นนิติบุคคล ต้องเสียภาษีเงินได้ตามปกติ
โดยผู้ที่ถูกรางวัลต้องนำหลักฐานบัตรประชาชนหรือใบมอบอำนาจพร้อมบัตรประชาชนของผู้ถูกรางวัลมารับเงินแทน พร้อมทั้งสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวจริง นำมาขึ้นเงินรางวัลด้วยตนเองที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สนามบินน้ำ โดยเจ้าหน้าที่จะให้ผู้ที่ถูกรางวัลลงชื่อและนามสกุลด้านหลังสลาก และนำบัตรประชาชนเสียบเข้าเครื่อง บันทึกข้อมูลสลากและผู้ถูกรางวัลเก็บไว้ในฐานข้อมูลการจ่ายเงินรางวัลของสำนักงานสลากฯ หลังจากตรวจสอบสลากด้วยเครื่องแบล็กไลท์เสร็จ ก็จ่ายเงินรางวัลที่ถูกหักค่าภาษี และค่าอากรแสตมป์
ยกตัวอย่าง กรณีถูกรางวัลที่ 1 สลากกินแบ่งรัฐบาล รางวัลละ 6,000,000 ล้านบาท ก็จะถูกเจ้าพนักงานสลากฯ หักค่าอากรแสตมป์ 30,000 บาท ผู้ถูกรางวัลได้รับเงินจริง 5,970,000 บาท
แต่ถ้าเป็นกรณีถูกรางวัลที่ 1 สลากการกุศล ได้รับเงินรางวัลเท่ากัน แต่เจ้าพนักงานสลากฯหักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งกรมสรรพากร 1% หรือประมาณ 60,000 บาท ผู้ถูกรางวัลที่ 1 สลากการกุศล ได้รับเงินจริงแค่ 5,940,000 บาท
วิธีที่ 2 ขึ้นเงินรางวัลที่สาขาของธนาคารของรัฐ อันได้แก่ กรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากสำนักงานสลากฯ ให้เป็นตัวแทนในการจ่ายเงินรางวัล เสมือนไปขึ้นเงินรางวัลกับสำนักงานสลากฯ โดยตรง ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกรางวัลต้องนำหลักฐานบัตรประชาชนพร้อมสลากตัวจริงมาขึ้นเงินรางวัลด้วยตนเองได้ทุกรางวัล ยกเว้นรางวัลที่ 1 ต้องไปขึ้นเงินที่สำนักงานสลากฯ สนามบินน้ำ
กรณีนี้ธนาคารไม่รับมอบอำนาจให้มารับเงินแทน จากนั้นเจ้าหน้าที่ของธนาคารจะให้ผู้ที่มาขึ้นเงินรางวัลเขียนชื่อนามสกุลด้านหลังสลากเช่นเดียวกับที่ไปขึ้นเงินกับสำนักงานสลากฯ หลังจากเจ้าหน้าที่ธนาคารบันทึกข้อมูลเสร็จเรียบร้อย ก็ส่งไปเก็บไว้ในฐานข้อมูลการจ่ายเงินรางวัลของสำนักงานสลากฯ ก่อนจ่ายเงินรางวัลก็จะหักค่าธรรมเนียมของธนาคาร 1% ของเงินรางวัล ถ้าเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาลหักค่าอากรแสตมป์อีก 0.5% ของเงินรางวัล แต่ถ้าเป็นสลากการกุศล หักภาษี ณ ที่จ่าย 1% ของเงินรางวัลนำส่งกรมสรรพากร
สรุปขึ้นเงินผ่านธนาคารจะถูกหักเงิน 1.5-2% ของเงินรางวัล
วิธีที่ 3 ขึ้นเงินกับร้านรับซื้อรางวัล
มีให้เห็นอยู่ทั่วไปตามตลาด หรือร้านขายทองบางแห่ง วิธีนี้ไม่ต้องใช้บัตรประชาชนโดยผู้ถูกรางวัลจะนำสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือสลากการกุศลตัวจริงมาขายให้ร้านรับซื้อรางวัล เมื่อตรวจสอบความถูกต้องของสลากเสร็จเรียบร้อย ก่อนจ่ายเงินรางวัล ร้านรับซื้อรางวัลก็จะหักค่าธรรมเนียมในอัตรา 2-3% ของเงินรางวัล ซึ่งค่าธรรมเนียมดังกล่าวนี้ได้รวมค่าภาษีหรือค่าอากรแสตมป์ไปเรียบร้อยแล้ว จากนั้นร้านรับซื้อรางวัลจะรวบรวมสลากที่ผู้ถูกรางวัลนำมาขายให้ไปขึ้นเงินรางวัลกับสำนักงานสลากฯ สนามบินน้ำ ซึ่งมีหลักการเหมือนกับวิธีแรก
กล่าวคือ ร้านรับซื้อรางวัลนำบัตรประชาชนพร้อมสลากตัวจริงลงชื่อนามสกุลด้านหลังสลากมาขึ้นเงินด้วยตนเอง และหลังจากตรวจสอบความถูกต้องของสลากและบันทึกข้อมูลเข้าสู่ระบบเรียบร้อย เจ้าพนักงานสลากฯ ก็จะจ่ายเงินรางวัลให้กับร้านรับซื้อรางวัลเสมือนเป็นผู้ถูกรางวัล
ถ้าเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาล เจ้าพนักงานสลากฯ จะหักค่าอากรแสตมป์ 0.5% แต่ถ้าเป็นสลากการกุศล ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 1%
ส่วนผู้ที่ถูกรางวัลหรือเจ้าของสลากตัวจริงที่นำสลากมาขายให้กับร้านรับซื้อรางวัล ก็ไม่ต้องเสียภาษีหรือค่าอากรแสตมป์ใดๆ เพราะอยู่นอกฐานข้อมูลการจ่ายเงินรางวัลของสำนักงานสลากฯ กรมสรรพากรจึงไม่มีข้อมูลที่จะไปติดตามเรียกเก็บภาษีได้
คราวนี้มาถึงประเด็นที่เป็นปัญหา คือ กรณีแพลตฟอร์มขายสลากออนไลน์ ออกแคมเปญจ่ายเงินเต็ม 100% ให้กับผู้ที่ถูกรางวัล โดยไม่หักค่าภาษี ค่าอากรแสตมป์ และค่าธรรมเนียมใดๆ พร้อมประกาศรายชื่อของผู้ที่ถูกรางวัล และจำนวนเงินรางวัล ถ่ายคลิปวีดีโอนำเงินสดไปมอบให้กับลูกค้าที่ถูกรางวัลที่ 1 หลายราย คิดเป็นมูลค่าหลายสิบล้านบาทเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย กลายเป็นปมปัญหาให้กรมสรรพากรต้องเร่งศึกษาวินิจฉัย กรณีแพลตฟอร์มสลากออนไลน์นำเงินสดไปมอบให้ลูกค้าที่ถูกรางวัลที่ 1 ที่อยู่นอกฐานข้อมูลการจ่ายเงินรางวัลของสำนักงานสลากฯ แต่ไปรับเงินมาจากบริษัทแพลตฟอร์มสลากออนไลน์ ถือเป็นเงินได้ของลูกค้าหรือไม่?
หากดูเจตนารมณ์ของกฎหมาย และแนวปฏิบัติของวิธีการขึ้นเงินรางวัลตามที่กล่าวข้างต้น มีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ ผู้ถูกรางวัลนำบัตรประชาชนหรือหนังสือมอบอำนาจให้มาขึ้นเงินรางวัลแทน พร้อมกับสลากตัวจริงเขียนชื่อนามสกุลสลักด้านหลังสลากมาขึ้นเงินด้วยตนเองที่สำนักงานสลากฯ สนามบินน้ำ ข้อมูลทั้งหมดถูกบันทึกเข้าสู่ฐานข้อมูลการจ่ายเงินรางวัลของสำนักงานสลากฯ และชำระค่าภาษีหรือค่าอากรแสตมป์ในนามของผู้ที่นำสลากมาขึ้นเงิน หรือลงชื่อนามสกุลที่ด้านหลังสลาก ทั้งกรณีที่มาขึ้นเงินด้วยตนเอง กรณีขึ้นเงินผ่านธนาคาร และกรณีร้านรับซื้อรางวัลนำสลากมาขึ้นเงินรางวัล ผู้ที่มีชื่อในระบบการจ่ายเงินรางวัลของสำนักงานสลากฯ ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นหลักการที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ดังนั้น การที่แพลตฟอร์มสลากออนไลน์นำเงินสดหลายล้านบาทไปมอบให้ลูกค้าที่ถูกรางวัล ซึ่งไม่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลการจ่ายเงินรางวัลของสำนักงานสลากฯ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือถือเป็นเงินได้พึงประเมินของลูกค้า หากถือเป็นเงินได้พึงประเมินของลูกค้าที่รับเงินจากแพลตฟอร์มสลากออนไลน์ ก็ต้องนำมายื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในวันที่ 31 มีนาคม 2566
ยกตัวอย่าง ถูกรางวัลที่ 1 รับเงินจากบริษัท 6 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอัตราก้าวหน้าสูงสุดถึง 35% ของเงินได้พึงประเมิน ประมาณ 2.1 ล้านบาท แต่ถ้าถูก 2 ใบ ได้เงิน 12 ล้านบาท ก็ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรม 4.2 ล้านบาท เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการลงบันทึกรายการบัญชี กรณีแพลตฟอร์มขายสลากออนไลน์ไปรับเงินรางวัลจากสำนักงานสลากฯมา 5,970,000 บาท แต่นำจ่ายเงินให้ลูกค้าไป 6,000,000 บาท ขาดทุน 30,000 บาท รายการนี้จะลงบันทึกบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายอะไร
ทั้งหมดก็เป็นประเด็นที่กรมสรรพากรต้องเร่งเคลียร์ให้ชัดเจน ก่อนที่ผลกระทบจะลุกลามบานปลายไปมากกว่านี้
กลุ่มลูกค้าที่รับเงินรางวัลจากแพลตฟอร์มออนไลน์เต็มจำนวน โดยไม่ถูกหักค่าภาษีค่าอากรแสตมป์ หรือค่าธรรมเนียมใดๆ ลูกค้ากลุ่มนี้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ เป็นประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อไป...”-รายงานจากสำนักข่าวไทยพับลิก้า
สุดท้าย น่าสนใจว่า การที่แพลตฟอร์มสลากออนไลน์เอกชนใช้วิธีการข้างต้นนั้น ทำได้จริงหรือไม่?
ถ้าผู้ถูกรางวัลรอดภาษีเงินได้ แล้วนาย ก.จะรอดภาษีไปด้วยหรือไม่?
รอดทั้งสองคนเลยหรือ?
น่าสนใจมาก
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี