ไม่เพียงแต่พระมหากษัตริย์ไทย ที่ทรงก่อร่างสร้างเมืองและสร้างชาติ แต่ยังทรงปกป้องศัตรูผู้รุกรานมาโดยตลอดระยะเวลาเกือบ 800 ปี ที่มีการสร้างชาติไทยขึ้น ทำให้แผ่นดินผืนหนึ่งของดินแดนสุวรรณภูมิในส่วนที่เป็นชาติไทยยังคงดำรงอยู่ได้ เป็นแผ่นดินเกิดของคนไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ใครก็ตามที่เกิดบนแผ่นดินผืนนี้ คงจะต้องรำลึกนึกถึงและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์โดยตลอดไป
ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยเรานั้น หลายครั้งประชาชนในบริเวณถิ่นที่อาศัยได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อปกป้องแผ่นดินผืนนี้ ถึงแม้ว่าเขาเหล่านั้นจะไม่ได้เป็นทหารในกองทัพ ที่ได้ผ่านการฝึกการรบจนสามารถจะต่อสู้กับศัตรูได้อย่างเข้มแข็งก็ตาม แต่ด้วยจิตวิญญาณแห่งความรักชาติ ทำให้เขาเหล่านั้นยอมไม่ได้ที่จะให้ใครมารุกรานแผ่นดินที่เป็นแผ่นดินเกิดของเขา
ในปีพุทธศักราช 2307 ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากที่ชาติและชาวไทยได้อยู่อย่างสงบสุขมายาวนานพอสมควรนับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงปกครองแผ่นดิน ก็ไม่มีชาติใดมาเป็นศัตรูผู้รุกราน จนกระทั่งถึงช่วงเวลาดังที่กล่าวไว้ ซึ่งเป็นรัชสมัยของพระเจ้าเอกทัศ พระมหากษัตริย์องค์ที่ 33 ของอาณาจักรอยุธยา ชาติไทยต้องเข้าสู่สงครามเพื่อปกป้องการรุกรานของพม่าอีกครั้งหนึ่ง
ในครั้งนั้นพระเจ้ามังระ กษัตริย์พม่าได้สั่งให้ยกทัพใหญ่ซึ่งเชื่อกันว่ามีกำลังนับแสนคนเพื่อมาตีกรุงศรีอยุธยา หวังจะให้ชาติไทยต้องตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าให้จงได้ โดยแบ่งป็น 2 ทัพ ทัพหนึ่งยกมาทางภาคเหนือของประเทศ เข้าสู่ประเทศไทยทางด่านเมียวดี ผ่านจังหวัดตาก กำแพงเพชรและมุ่งสู่อยุธยา โดยมีแม่ทัพคือเนเมียวสีหบดี นำกำลังพลมาทั้งสิ้น 20,000 คน ส่วนอีกทัพหนึ่งเข้ามาทางทิศตะวันตก ผ่านเมืองทวาย กาญจนบุรี เข้าสู่จังหวัดเพชรบุรี และมุ่งสู่ อยุธยา เช่นเดียวกัน โดยมีแม่ทัพคือมังมหานรธา นำกำลังพลมาทั้งสิ้น 20,000 คนทั้งนี้ในระหว่างเคลื่อนทัพเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา ก็มีการเกณฑ์กำลังพล เป็นชายฉกรรจ์จากเมืองต่างๆ ที่ผ่านมาที่เอาชัยชนะได้เข้าร่วมกับกองทัพด้วย
การเดินทัพในสมัยโบราณซึ่งเป็นกองทัพใหญ่นั้น จำเป็นจะต้องรบรุกเอาชนะทุกเมืองที่ผ่านเข้ามา มีการตั้งค่ายเป็นระยะๆ เพื่อรวบรวมเสบียง ซึ่งนอกจากนำมากับกองทัพแล้ว ยังต้องสะสมเสบียงจากเมืองต่างๆ แม้แต่ต้องพักทัพเพื่อปลูกข้าวซึ่งถือว่าเป็นเสบียงที่สำคัญ จะเห็นว่าต้องใช้เวลานานนับปีในการเคลื่อนทัพที่มีขนาดใหญ่มากกว่าจะถึงเมืองที่เป็นจุดหมายคือกรุงศรีอยุธยา ที่พม่าต้องการจะะเข้าตีเอาชนะและยึดเป็นเมืองขึ้น โดยทัพที่เคลื่อนเข้ามานั้น จะส่งทัพหน้าซึ่งมีกำลังคนไม่มากนักนำขบวนทัพมาก่อนเสมอ ส่วนทัพหลวงที่มีแม่ทัพใหญ่เป็นผู้บัญชาการนั้น จะติดตามมาโดยทิ้งระยะห่างพอสมควร
ทัพของเนเมียวสีหบดี ซึ่งเคลื่อนลงมาจากทางเหนือตามลำน้ำเจ้าพระยานั้น ในส่วนของทัพหน้าได้ลงมาถึงสิงห์บุรี ซึ่งก็ถือว่าเป็นเมืองที่ใกล้กับกรุงศรีอยุธยามากแล้ว ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวทราบข่าวการยกมาของข้าศึก จึงได้รวบรวมกำลังกันจากหลายหมู่บ้านในบริเวณนั้น และมาปักหลักที่บ้านบางระจัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในจังหวัดสิงห์บุรี โดยรวมตัวกันได้ เพียงแค่ประมาณ 1,000 คน และได้พยายามต่อสู้ปกป้องบ้านเกิดของเขา มีการตั้งป้อมค่ายเพื่อป้องกันการถูกรุกราน โดยการแยกกำลังออก เข้าซุ่มตีกองกำลังของพม่าในรูปแบบกองโจรและสามารถทำลายกองกำลังของพม่าได้หลายครั้ง ทำให้พม่าต้องเพิ่มกำลังคนในส่วนของทัพหน้า และบุกเข้าตีตอบโต้ค่ายบางระจันอยู่ถึง 7 ครั้ง แต่ก็เอาชนะไม่ได้
ชาวบ้านบางระจันที่รวมตัวกันอยู่นั้นมีผู้นำจากหลายหมู่บ้าน รวมทั้งสิ้น 11 คน ซึ่งต่างก็แบ่งหน้าที่กันได้แก่ นายแท่น นายอิน นายโชติ นายเมือง จากบ้านศรีบัวทอง นายดอกไม้ ชาวบ้านตรับ นายทองแก้วนายทองแสงใหญ่ บ้านโพ้นทะเล พันเรือง นายทองเหม็น นายจัน หนวดเขี้ยว ขุนสรรค์ โดยมีพระอาจารย์ธรรมโชติที่มาบวชอยู่ที่วัดโพธิ์เก้าต้น มีความรู้เรื่องเครื่องรางของขลัง เป็นผู้ปลุกเสกวัตถุมงคลเพื่อให้ชาวบ้านใช้คุ้มครองตนเองเมื่อออกรบ
หลังจากการต่อสู้และป้องกันค่ายบางระจันไว้ได้ถึง 7 ครั้ง เนเมียวสีหบดีจึงแต่งตั้งให้สุกี้เป็นแม่ทัพ ซึ่งเป็นนายทหารที่มีความเก่งกล้าสามารถ ยกทัพเข้าตีค่ายบางระจัน ชาวบ้านทุกคนที่ออกรบก็ใช้อาวุธที่เป็นเพียงดาบ พร้า ขวาน เข้าต่อสู้เท่านั้น ถึงแม้จะเคยขอปืนใหญ่จากเมืองหลวงก็ไม่ได้รับ ต้องหล่อปืนเอง เมื่อนำมาใช้ยิงกระบอกก็แตก และด้วยกลศึกหลายอย่างในที่สุดค่ายบางระจันก็ถูกตีแตก และวีรชนชาวบางระจันที่เอ่ยชื่อทั้งหมดก็ต้องพลีชีพในการรบ
การเสียชีวิตของวีรชนทั้งหมดนั้น ถือเป็นการตายของชาวบ้านชาวบางระจัน ที่สมศักดิ์ศรีแห่งการที่ได้เกิดมาบนผืนแผ่นดินแม่ และถึงแม้จะเป็นเพียงชาวบ้าน ธรรมดาแต่ก็มีจิตใจที่กล้าหาญ ทำให้การยกทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยาของกองทัพพม่าต้องล่าช้าออกไปเป็นระยะเวลาประมาณ 5 เดือน การยกย่องในคุณงามความดีของวีรชนบางระจันจึงเป็นสิ่งที่ควรจะกระทำยิ่ง เพื่อเป็นการสรรเสริญถึงความดีงามทั้งหลายที่จะเลื่องลือไปทุกหนทุกแห่ง แม้แต่รุ่นลูกหลานที่ควรจะได้รับฟัง เรื่องราวของท่าน เพื่อนำมาซึ่งความปลาบปลื้มอิ่มอกอิ่มใจในเกียรติคุณของชาวบ้านเหล่านี้ ที่ต่อสู้และพลีชีพเพื่อชาติ
วันที่ 23 มิถุนายน ปีพุทธศักราช 2309 เป็นวันที่ค่ายบางระจันถูกตีแตก และหลังจากนั้นกองทัพใหญ่ของพม่านำโดยเนเมียวสีหบดีที่รุกมาจากทางเหนือ ก็เคลื่อนทัพต่อจนถึงชานกรุงศรีอยุธยา บรรจบกับทัพของมังมหานรธา ซึ่งเคลื่อนมาจากทางใต้ เข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ และในที่สุดกรุงศรีอยุธยาก็แตก ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าเป็นระยะเวลาประมาณ 7 เดือนเศษ ก่อนที่พระมหากษัตริย์ไทยผู้ยิ่งใหญ่อีกพระองค์หนึ่ง คือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จะทำการกู้ชาติคืนมาได้
ขอบอกฝากไปถึงนักการเมืองทั้งหลาย ซึ่งกำลังแก่งแย่งชิงตำแหน่งต่างๆ ว่า ขอให้ท่านทั้งหลายได้เข้ามาบริหารบ้านเมืองด้วยจิตบริสุทธิ์ ในการที่จะทำให้ชาติไทยของเรายังคงดำรงอยู่ได้ด้วยความรักสามัคคีของคนในชาติ ไม่ให้มีการแบ่งเป็นหมู่เป็นเหล่า เพียงแต่อ้างว่าต้องการให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย และขณะเดียวกันก็ต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อปกป้องแผ่นดินผืนนี้ไว้ อย่าคิดแบ่งแยกประเทศชาติ และอย่าให้ชาติใดที่มีอำนาจเหนือกว่าเข้ามาคุกคามแทรกแซงกิจการภายใน ซึ่งกระทบไปถึงอิสระของชาติไทย อันเป็นที่รักยิ่งของเราชาวไทยทุกคนเป็นอันขาด
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี