กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ของไทย ได้ก่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งๆ กลางๆ ดังที่ทราบกันอยู่ และเมื่อกลุ่มพรรคการเมือง 8 พรรค ได้รับเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็ร่วมกันประกาศว่า หากได้เข้ามาเป็นคณะรัฐบาลแบบผสมชุดใหม่ของไทย ก็จะมีการดำเนินการแก้ไขความไม่เป็นประชาธิปไตยของไทยด้วยการยกร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้น กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามรอดูกันต่อไป แต่อย่างน้อยในกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ก็จะต้องไม่มีสาระเนื้อหาที่ทำให้ประชาธิปไตยของไทยมีความกระท่อนกระแท่น (ดังปรากฏอยู่ในกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560) และควรมีสาระเนื้อหาที่ไปกับครรลองประชาธิปไตยแบบสากล อาทิ
1.การยกเลิกระบบเสนอรายชื่อผู้เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หันมาใช้วิธีการง่ายๆ และสะดวก เช่นการให้หัวหน้าพรรคที่ชนะการเลือกตั้งได้เสียงส่วนใหญ่ โดยเด็ดขาด (มีคะแนนเสียงมากที่สุด) และรวบรวมพรรคอื่นๆ เข้าร่วมเป็นรัฐบาลผสมได้เกินจำนวนครึ่งหนึ่งของสภา ให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องไปผ่านการลงคะแนนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกเป็นคำรบสอง โดยเฉพาะเมื่อประชาชนพลเมืองได้ให้ฉันทามติแล้ว
2.วุฒิสภา ไม่ว่าจะมากันอย่างไร ก็ไม่ควรไปมีสิทธิและหน้าที่ในการคัดเลือก หรือเห็นชอบกับตัวนายกรัฐมนตรี เพราะในหลักการโดยทั่วไปแล้วในระบบรัฐสภา วุฒิสภามีภาระหน้าที่แค่กำกับ ดูแล ท้วงติง และคัดค้านการดำเนินการ และมติของสภาผู้แทนราษฎรได้แค่ในระดับหนึ่ง
3.นโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้ในการรณรงค์หาเสียง และเมื่อทอนออกมาเป็นนโยบายเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้รับทราบ รับรอง หรือเห็นชอบ เป็นคำมั่นสัญญาและพันธกรณีที่ได้ให้ไว้แก่ประชาชนพลเมือง และฉะนั้นจะมีองค์กรอื่นใดมีอำนาจเหนือก็มิได้ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ ที่ระบุอยู่ในกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นี้เพราะองค์กรหรือคณะกรรมการนี้มิได้มาจากประชาชนพลเมืองแต่อย่างใด และเป็นอำนาจซ้อนอำนาจ และไม่ให้ความเคารพต่อสุ้มเสียงของประชาชนพลเมือง
4.การกระจายอำนาจเป็นเรื่องจำเป็น และสำคัญยิ่งในระบอบประชาธิปไตยของการมิให้เกิดการกระจุกตัวของอำนาจ ฉะนั้นก็จะต้องมีการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ รวมทั้งการแบ่งปันงบประมาณให้แน่ชัดระหว่างส่วนกลาง กับส่วนท้องถิ่น ซึ่งแบบอย่างที่น่าศึกษานำมาปรับปรุงปฏิบัติได้ก็คือ ประเทศ หรือราชอาณาจักรญี่ปุ่น อีกทั้งการกระจายอำนาจนั้นมิได้จำกัดอยู่ที่แค่การเมืองการปกครองแต่ต้องหมายถึงการโอนอำนาจหน้าที่จากฝ่ายราชการ ไปให้องค์กรวิชาชีพดูแลและปกครองตนเอง โดยหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้กำกับดูแล เพื่อให้เกิดความยุติธรรมระหว่างผู้ผลิต กับผู้บริโภค หรือระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ โดยประเด็นปัญหาต่างๆ เมื่อเกิดขึ้นก็ต้องไปยุติที่ศาลยุติธรรมเท่านั้น
ทั้งนี้ ณ วันนี้ ก็ยังมีความลักหลั่นและมีความไม่เสมอภาคระหว่างชาวกรุงเทพฯประมาณ 5 ล้านคน กับชาวต่างจังหวัดที่เหลืออีกประมาณ 63 ล้านคน ในแง่ที่ว่าชาวกรุงเทพฯ มีสิทธิที่จะเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพฯ ของตนเอง ในขณะที่ผู้คนอีก 76 จังหวัดกลับไม่มีสิทธิเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดของตนเอง โดยจะอ้างว่าคนต่างจังหวัดยังไม่พร้อมก็ดูกระไรอยู่ เพราะเมื่อคนกรุงเทพฯ มีการเริ่มเลือกผู้ว่าราชการฯก็ไม่เห็นว่าจะต้องมีการเตรียมความพร้อมกันอย่างไร เพราะคนไทยทุกคนก็พร้อมอยู่แล้ว เพียงแต่ฝ่ายอำนาจนิยมไม่พร้อมเท่านั้น
5.โดยที่โลกมีวิวัฒนาการทางด้านการสื่อสารด้วยระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งอำนวยให้มีการ ทั้งเผยแผ่ และเข้าถึงซึ่งข้อมูลข่าวสารได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว และฉะนั้นเรื่องสำคัญๆ ของชาติบ้านเมือง หรือในแต่ละจังหวัด ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพึ่งมติของเสียงข้างมากในสภาเพียงแต่อย่างเดียว แต่ควรเปิดโอกาสให้ชาวบ้านทั้งหลายได้มีส่วนร่วมด้วยการลงประชามติด้วย และผลออกมาเป็นอย่างไร ฝ่ายสภาจึงจะนำไปออกหรือแก้ไขกฎหมาย หรืออนุมัติงบประมาณ เพื่อฝ่ายบริหารทั้งในระดับส่วนกลางและท้องถิ่น จะได้นำไปปฏิบัติเพื่อตอบสนองความต้องการและความผาสุกของประชาชนพลเมือง
6.ประเทศไทยตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง มักจะมีปัญหาความขัดแย้งและความชะงักงันของการบริหารราชการ และการขัดแย้งระหว่างฝ่ายประชาชนบนท้องถนน แล้วก็มีการระงับประเด็นปัญหาต่างๆ เป็นครั้งคราวเฉพาะกรณี ด้วยการปฏิวัติรัฐประหารโดยฝ่ายกองทัพ ส่งผลให้ประเทศไทยก็ยังเวียนวน วกวน อยู่กับการมีบทบาททางการเมืองของทางฝ่ายกองทัพแบบไม่จบไม่สิ้น (ไม่เหมือนญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่กองทัพถอยฉากไปอย่างสิ้นเชิง) ฉะนั้นกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องระบุให้แน่ชัดว่าฝ่ายกองทัพไม่มีหน้าที่ในเรื่องการเมือง และการบริหารราชการ การติดขัดใดๆ ของบ้านเมืองนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องนำความขึ้นทูลเกล้าฯถวายองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งประชาชนพลเมืองได้ถวายพระราชอำนาจในการกำกับดูแล และวินิจฉัยเป็นที่สุด ตัวอย่างล่าสุดที่ชาวโลกได้ประจักษ์เมื่อไม่นานวันมานี้ก็คือที่ ราชอาณาจักรมาเลเซีย ที่สถานการณ์ทางการเมืองติดขัด ชะงักงันและองค์พระประมุขของมาเลเซียได้ทรงดำเนินการปรึกษาหารือกับฝ่ายต่างๆ และในที่สุดก็ได้ทรงแนะนำให้มีการจัดตั้งรัฐบาลผสมเป็นที่สำเร็จ การเมืองของมาเลเซียก็กลับเข้าสู่สภาวะปกติ และดำเนินการมาได้อย่างมีเสถียรภาพ จน ณ วันนี้
7.การเสริมสร้างความเป็นพลเมืองที่ให้รู้ซึ่งสิทธิและหน้าที่ และมีความรอบรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และความท้าทาย
ต่อประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบดำเนินการ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของความเป็นประชาชนพลเมืองผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เมื่อประชาชนเข้มแข็ง ก็จะไม่มีองค์กรใดๆ สามารถที่จะต่อกร กระด้างกระเดื่องได้ ซึ่งประชาชนพลเมืองของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวันแม้กระทั่งอินโดนีเซีย ก็ได้แสดงให้โลกเห็นเป็นที่ประจักษ์แน่ชัดว่า เขาต้องการให้ประเทศของเขาเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบและมิยอมให้องค์กรทหาร องค์กรศาสนา หรือกลุ่มผลประโยชน์ใดๆ ขึ้นมาครอบงำสังคม ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และบ่อนทำลายประชาธิปไตย
ประเทศเขาต่างก็ทำได้แล้ว ประเทศไทยเราก็ย่อมจะทำได้เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อเราได้มีโอกาสได้พูดจา และ
เห็นพ้องต้องกันในความเป็นประชาธิปไตยของราชอาณาจักรไทยเป็นพื้นฐาน
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี