ในช่วงปี ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) ประเทศกำลังพัฒนาชั้นนำได้มารวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มภายใต้ชื่อ BRICS โดยใช้อักษรภาษาอังกฤษตัวแรกของชื่อประเทศมารวมกัน อันได้แก่ B (บราซิล), R (รัสเซีย), I (อินเดีย), C (ไชน่า (จีน) และ S (แอฟริกาใต้) ด้วยจุดประสงค์ที่จะกระชับความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุนระหว่างกันเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและเสริมพลังของกลุ่มในเวทีระหว่างประเทศ ในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจโลกและแก้ไขอุปสรรค
ประเด็นปัญหาต่างๆ
แต่เหตุผลอันแท้จริงของการมารวมตัวกันของ 5 ประเทศนั้นก็เพราะว่าต่างเหนื่อยหน่ายเอือมระอาต่อการครอบงำของฝ่ายตะวันตก อันเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่รวมตัวกันเป็นกลุ่ม G7 (Group of Seven) อันประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี แคนาดา และญี่ปุ่น ซึ่งที่ผ่านมาก็มีบทบาทและอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงในเศรษฐกิจของโลกเป็นการทั่วไป โดยเฉพาะในเรื่องความเป็นไปที่ธนาคารโลก และสถาบันการเงินระหว่างประเทศ(International Monetary Fund - IMF) และระบบกฎเกณฑ์กติกาว่าด้วยการเงินระหว่างประเทศที่มีเงินสกุลดอลลาร์เป็นหลักและยิ่งใหญ่สำหรับการทำมาค้าขายระหว่างประเทศ
ฝ่ายกลุ่ม BRICS จึงมารวมตัวกันโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะปลดแอกกลุ่มของตนจากการครอบงำของฝ่ายกลุ่ม G7 ดังกล่าว และจัดหากลไกใหม่เพื่อพึ่งตนเองให้มากขึ้น และเป็นหนทางเลือกให้กับประเทศกำลังพัฒนา หรือกลุ่มประเทศโลกที่ 3 หรือกลุ่มประเทศทางตอนใต้ (The Global South) ด้วย
ผลการดำเนินการที่สำเร็จแล้วขั้นแรกก็คือ การจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาอันใหม่ ภายใต้ชื่อ New Development Bank ที่ปัจจุบันนี้มีอดีตประธานาธิบดีสตรีของบราซิลเป็นประธานบริหาร และได้มีมติเบื้องต้นที่จะใช้เงินสกุลของแต่ละประเทศสมาชิก เป็นเครื่องมือกลไกในการทำมาค้าขายระหว่างกัน เพื่อลดการพึ่งพาเงินสกุลดอลลาร์ของสหรัฐอเมริกา (de-dollarization) และมีความคิดอ่านที่จะมีการจัดทำเงินสกุลกลางของ BRICS ในอนาคต
ในภาพกว้างกลุ่ม BRICS นั้นดูน่าเกรงขามพอสมควร เพราะมีประชากรรวมกันประมาณ 47% ของประชากรโลกทั้งหมด และมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันประมาณ 37% ของเศรษฐกิจโลก อีกทั้ง รัสเซีย ยังเป็นแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติ โดยเฉพาะทางด้านพลังงานเชื้อเพลิงที่สำคัญและเป็นอู่ข้าวอู่น้ำให้กับประชากรโลกอีกด้วย ส่วนจีน และอินเดีย ต่างก็มีอุตสาหกรรมการผลิตและมีองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ซึ่งมารวมกับของรัสเซียแล้วก็จัดได้ว่าอยู่ในระดับชั้นนำของโลก ส่วนบราซิลก็เป็นแหล่งอาหารอันสำคัญของโลก ขณะที่แอฟริกาใต้ก็มีความโดดเด่นในแวดวงแอฟริกาเป็นสำคัญ รวมความแล้วกลุ่ม BRICS ถือว่ามีน้ำหนักทั้งทางการเมือง และทางเศรษฐกิจของโลก
ในการประชุมล่าสุดที่นครโยฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ ที่ประชุมก็ได้มีมติรับเอา อาร์เจนตินา อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และซาอุดีอาระเบีย เข้ามาร่วมเป็นสมาชิก รวมเป็น 11 ประเทศ ที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งโดยเฉพาะในเรื่องพลังงานเชื้อเพลิง ที่อิหร่าน ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ต่างก็เป็นแหล่งสำคัญของโลกอยู่แล้ว
ส่วนประเด็นที่ว่า กลุ่ม BRICS จะสามารถก้าวหน้าไปอย่างมั่นคงหรือไม่อย่างไรนั้น ก็ยังเป็นเรื่องที่ชาวโลกจะต้องติดตามกันต่อไป เพราะภายในกลุ่ม BRICS ก็มีปัญหาหลากหลาย เช่น รัสเซียติดอยู่กับสงครามกับยูเครน และเผชิญกับมาตรการการคว่ำบาตรจากฝ่ายตะวันตก จีนอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอยพร้อมกับปัญหาคนว่างงาน และการขยายตัวของสังคมผู้สูงอายุ เศรษฐกิจของอียิปต์และอาร์เจนตินาอยู่ในสภาพค่อนข้างแย่ ขณะที่จีนกับอินเดีย ก็ยังมีประเด็นปัญหาพิพาทในเรื่องเขตแดนในเทือกเขาหิมาลัย และความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ส่วนเอธิโอเปียก็ยังตกอยู่ในสภาพของการขัดแย้งภายใน ในทำนองสงครามกลางเมือง และทั้งอิหร่านกับซาอุดีอาระเบียจะก้าวข้ามการชิงดีชิงเด่นทั้งในเรื่องการเมืองภูมิภาค และการศาสนากันไปได้อย่างไร ซึ่งหากกลุ่ม BRICS จะโดดเด่นได้ ก็จะต้องกลายเป็นเวทีที่จะให้คู่อริต่างๆ ที่เป็นสมาชิกได้ออมชอมสมานฉันท์กันได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยเสริมพละกำลัง และอำนาจต่อรองกับกลุ่ม G7 และเป็นแกนนำในการส่งเสริมผลประโยชน์ให้กับบรรดาประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในการพัฒนาประเทศ และเจรจาต่อรองกับกลุ่มประเทศ G7 ในเรื่องการเปิดตลาดและการช่วยเหลือพัฒนา (Development assistance)
ทั้งนี้ยังมีประเทศกำลังพัฒนากว่าอีก 10 ประเทศ ได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ด้วยเหตุผลที่ว่าจะมีกรอบที่จะช่วยส่งเสริมผลประโยชน์และบรรเทาประเด็นปัญหาที่อาจจะถูกคว่ำบาตร เพราะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากกลุ่ม G7
สำหรับเรื่องการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS หรือไม่ของประเทศไทย เท่าที่สดับตรับฟังข่าวคราวอยู่ ก็ยังมิได้มีการพิจารณาแต่อย่างใดในช่วง 9 ปีของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้กระทั่งแวดวงวิชาการและสื่อ ก็ยังมิได้มีการยกเรื่องนี้ขึ้นปรึกษาหารือกันแต่อย่างใด
ทั้งนี้ประเทศไทยมีฐานะเป็นสมาชิกอาเซียน,BIMSTEC และ APEC ก็จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดกันว่า ไทยเองมีความจำเป็นที่จะเพิ่มสถานะการเป็นสมาชิกในองค์กรใหม่ๆ หรือไม่อย่างไร? และไทยมีความจำเป็นที่จะต้องไปร่วมต่อกรกับกลุ่ม G7 หรือไม่? ประเด็นเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่แวดวงไทยต่างๆ จะต้องมาพูดคุยกันต่อไป
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี