การที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เดินหน้าแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ว่าด้วยเรื่องหนี้สินของเกษตรกร การลดภาระค่าครองชีพ ด้วยการลดภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าค่าเชื้อเพลิงยานพาหนะ และค่าใช้จ่ายค่าโดยสารการเดินทางประจำวัน ก็เป็นเรื่องที่เหมาะสม และคงไม่มีใครที่จะไปคัดค้าน
แต่ทั้งหมดนี้ หากพิจารณาดีๆ ก็จะเห็นว่าเป็นเพียงมาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นครั้งคราว ซึ่งถ้าฝ่ายรัฐบาลตั้งใจจะแสดงฝีมือ และแสดงความห่วงใยต่อภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนพลเมืองอย่างแท้จริงแล้ว ก็จะต้องขะมักเขม้น และเอาจริงเอาจังในเรื่องการปรับโครงสร้างต่างๆ อย่างจริงจังด้วย
ฝ่ายรัฐบาลต้องกลับไปคิดวิเคราะห์ให้ได้ว่า ทำไมเกษตรกรของไทยเราถึงมีภาระหนี้สิน? ซึ่งก็ต้องไปศึกษา และทบทวนหาต้นเหตุที่แท้จริง แล้วแก้ที่ต้นเหตุ เพราะแม้ว่ารัฐบาลไทยจะมีงบประมาณ และกองทุนต่างๆ รวมทั้งสถาบันการเงินของรัฐในการให้การบริการต่อเกษตรกร แต่ก็ควรพิจารณาด้วยว่า ต้นทุน กับรายรับของเกษตรกรในวันนี้นั้นมีความสมดุลกันหรือไม่?
อย่างไร? และจะทำอย่างไรให้เกษตรกรมีรายได้ที่คุ้มทุน และมีเงินออมที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตและมีเงินเหลือที่จะปรับปรุงกิจการต่างๆ เพื่อจะได้หลุดพ้นจากสภาวะ “การหาเช้า กินค่ำ” และพัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นในระดับปานกลางหรือขึ้นมาสู่ระดับชนชั้นกลาง
ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าไฟฟ้า และค่าเชื้อเพลิงนั้น ฝ่ายรัฐบาลต้องมาพินิจพิจารณาว่า จะเพิ่มการผลิตไฟฟ้า และการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ซึ่งใช้เงินมากมายมหาศาลได้อย่างไร? เช่น อาจจะหันไปพึ่งการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และการใช้พืชเกษตรต่างๆ เพื่อเป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิง ทั้งนี้ก็ต้องไปพิจารณาภารกิจของการปิโตรเลียม ที่จะลดการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และภารกิจของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ที่ต้องซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาว และการลดการนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศ โดยทั้งการปิโตรเลียมและการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จะต้องเร่งการผลิตไฟฟ้าและเชื้อเพลิงในกรอบของการเร่งขยายพลังงานหมุนเวียนและทดแทน อีกทั้งต้องกลับมาทบทวนความเหมาะสมของพลังงานปรมาณูหรือนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นพลังงานที่สะอาดให้เหมาะสมและปลอดภัย ไปจนถึงการเตรียมบุคลากรให้เหมาะสมและเพียงพอ ทั้งในระดับวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักช่างฝีมือ ซึ่งก็จะยึดเกี่ยวโยงกับระบบการศึกษา ทั้งในระดับอุดมศึกษา และในระดับอาชีวศึกษา
ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยก็ได้ทำการประชาสัมพันธ์อย่างมากมายในเรื่องการปลูกป่า และแถมยังมีกิจการทางด้านร้านขายกาแฟ แต่มิได้มีข่าวคราวหรือภาพที่แน่ชัดเกี่ยวกับการลดการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอย่างแข็งขัน และมุ่งปรับกระบวนยุทธ์ เพื่อไปลงทุนจัดหาพลังงานหมุนเวียนและทดแทน ซึ่งประเด็นปัญหาหรือคำถามก็สามารถที่จะสอบถามการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้ว่า จะใช้เวลาอีกกี่ปีที่จะลดการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ หรือจะปรับสัดส่วนระหว่างน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติให้มุ่งไปที่ก๊าซธรรมชาติมากขึ้น เพราะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าน้ำมัน และจัดทำแผนการเพิ่มการผลิตพลังงานหมุนเวียนและทดแทนที่มีเป้าหมายและกำหนดเวลาแน่ชัด และในขณะเดียวกันฝ่ายการไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็ต้องมีแผนแน่ชัดในเรื่องการลดและการขจัดการใช้ถ่านหินไปในที่สุด และเพิ่มการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนและหมุนเวียน และในการนี้ฝ่ายรัฐบาลที่อ้างว่ามาจากประชาชนนั้น จะออกนโยบายเรื่องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของการผลิตไฟฟ้า และการจัดหาเชื้อเพลิงที่มาจากภูมิปัญญาและสิ่งที่เรามีอยู่ภายในประเทศได้อย่างไร เมื่อใด และในระยะเวลากี่ปี
ทั้งนี้การลดการใช้ถ่านหิน และน้ำมันธรรมชาติ ถือเป็นพันธกรณีของประเทศไทยที่มีต่อประชาคมโลก และต่อชาวไทย นอกจากนั้นฝ่ายรัฐบาลก็ต้องมีการทบทวนอย่างครบถ้วนว่า ก๊าซธรรมชาติที่มาจากอ่าวไทยและที่ซื้อมาจากประเทศพม่านั้น มีการจัดการใช้ประโยชน์อย่างจริงจังเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนพลเมืองอย่างไร มิใช่มุ่งไปที่แค่ภาคอุตสาหกรรม หรือส่วนหนึ่งมีการแปรรูปเพื่อการส่งออกไปทำไม และทั้งหมดนี้ก็ต้องมีการทบทวนอย่างจริงจังเกี่ยวกับบรรดาเอกชนผู้ค้าเชื้อเพลิงพลังงานว่า มุ่งแต่กำไรเป็นหลัก หรือต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย (Social responsibilities) มิใช่เพื่อการหากำไรและมีอิทธิพลต่อความคิดอ่านของฝ่ายรัฐบาล โดยไม่คำนึงถึง หรือไม่รับใช้ประชาชนพลเมืองเป็นหลัก
อีกทั้งฝ่ายรัฐบาลก็ไม่ควรมุ่งไปในทิศทางของการพูดสวย พูดงาม ด้วยวาทะ และการให้ความหวังต่อประชาชนพลเมืองแบบเลิศเลอ ผิวเผิน แต่ขาดความจริงจัง และความรับผิดชอบต่อประชาชนพลเมือง
ประเทศไทยเราโชคดีที่มีแสงอาทิตย์มากมาย และมีความอุดมสมบูรณ์ที่อำนวยให้มีความเป็นเลิศทางภาคเกษตร ซึ่งจะเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและทดแทน ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับภาคเกษตรนั้น ประเทศไทยเราก็ยังมีความอ่อนแอในเรื่องระบบการชลประทานที่ยังไม่ทั่วถึงครอบคลุมทั้งประเทศ ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งของภาคเกษตร ทั้งนี้ประเทศไทยก็ร่วมเป็นเจ้าของส่วนหนึ่งของแม่น้ำสาละวิน ร่วมกับประเทศพม่า แต่ก็ยังมิได้มีการคำนึงถึงและพูดจากับประเทศเพื่อนบ้านของเราในเรื่องการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสาละวิน
ในขณะเดียวกันฝ่ายรัฐบาลก็ต้องคำนึงถึงเรื่องการรณรงค์ให้มีการประหยัดการใช้พลังงาน ไปจนถึงการใช้วัสดุก่อสร้างต่างๆ ที่จะช่วยในการประหยัดพลังงานให้เหมาะสม
ในขณะเดียวกันทางพรรคฝ่ายค้านก็ต้องสนใจในเรื่องนี้ และช่วยกำกับให้ฝ่ายรัฐบาลทั้งในเรื่อง นโยบายและมาตรการส่งเสริมพลังงานทดแทนและหมุนเวียน และการประหยัดพลังงาน มีหลายประเทศเช่น อิสราเอล เกาหลีใต้ และเนเธอร์แลนด์ ที่ฝ่ายไทยเราน่าจะศึกษา และเปรียบเทียบและนำประสบการณ์ของเขาในเรื่องการจัดวางระบบชลประทาน และการใช้วัสดุต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศเพื่อลดและทดแทนการพึ่งพาต่างประเทศเป็นสำคัญ
ทั้งนี้การทำงานเพื่อบ้านเมืองแบบการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันหนึ่งๆ หรือการใฝ่หาหรือสร้างคะแนนนิยมแบบผิวเผินก็มิใช่เป็นการแสดงฝีไม้ลายมืออย่างจริงจัง และการคิดอ่านและจริงใจในเรื่องการให้ผลประโยชน์ของประชาชนพลเมืองเป็นที่ตั้ง
ทั้งนี้ก็ขอแถมด้วยว่า การจะใช้งบประมาณกว่าห้าแสนล้านบาท กับโครงการ Digital Wallet ก็มิได้เป็นการสร้างงานอย่างจริงจังแต่อย่างใด เงินจำนวนนั้นน่าจะถูกนำมาใช้กับการพัฒนาระบบชลประทาน และการสนับสนุนภาคเอกชนในเรื่องการเสริมสร้างสมรรถนะทางด้านกิจการอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภคต่างๆ ก็จะมีความคุ้มค่า คุ้มประโยชน์ต่อสังคม และประชาชนพลเมืองมากกว่า
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี