เมื่อเอ่ยชื่อของเจ้าพระยาโกษาปาน ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์อาจจะไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อนเลยก็ได้ และก็ไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าชาวไทยในรุ่นต่อๆไปจะได้รับรู้ประวัติความเป็นมาหรือประวัติศาสตร์ของชาติมากน้อยเพียงใด เพราะวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งในสมัยอดีตเคยมีการสอนอย่างชัดเจน ได้ถูกกระทำโดยนักการเมืองระดับรัฐมนตรีที่รับผิดชอบกระทรวงศึกษาธิการในบางยุคสมัย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้บริหารการศึกษาในยุคนั้นก็โอนอ่อนผ่อนตามและเห็นดีในเรื่องการลดการสอนวิชาประวัติศาสตร์ของไทยลง ซึ่งกลับกลายเป็นเรื่องเลวร้ายในที่สุด
สำหรับเจ้าพระยาโกษาปานนั้น ต้องถือว่าท่านเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติไทย และเป็นผู้ที่ถูกจารึกชื่อไว้ไม่ใช่เฉพาะในประวัติศาสตร์ชาติไทยเท่านั้น แม้แต่ประวัติศาสตร์ของชาติฝรั่งเศสด้วย หากท่านใดที่มีโอกาสไปเที่ยวประเทศฝรั่งเศส และผ่านไปบริเวณถนน Rue de Siam ก็จะมีโอกาสได้เห็นอนุสาวรีย์ลักษณะครึ่งท่อนบน หลอมจากทองแดง ของเจ้าพระยาโกษาปานที่แต่งตัวในชุดแบบไทยสวมหมวกทรงสูงคล้ายหมวกเทวดา อยู่ที่จุดหนึ่งของริมถนนดังกล่าว
ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถพระองค์หนึ่งของชาติไทย ทั้งในด้านการศึกสงคราม เรื่องของการสร้างสัมพันธไมตรีกับต่างชาติ ตลอดจนการค้าขายด้วย ต้องถือว่ากรุงศรีอยุธยาในยุคนั้นมีความรุ่งเรืองในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก มีชาติต่างๆ เข้ามาค้าขายกับประเทศไทยมากมาย ไม่ใช่เฉพาะประเทศที่อยู่ในย่านเอเชีย เช่น จีน อินเดีย หรือญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชาติที่ถือว่าเป็นมหาอำนาจทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ โปรตุเกส ฮอลันดา และฝรั่งเศส ที่ต่างก็เข้ามาค้าขายในประเทศไทย
ประเทศที่ต้องถือว่ามีอิทธิพลในกรุงศรีอยุธยาอย่างมากในช่วงนั้นน่าจะเป็นประเทศฝรั่งเศส ถึงขนาดที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงยอมให้ใช้เมืองบางกอก เป็นที่ตั้งของป้อมค่ายของทหารฝรั่งเศสได้ แต่ที่สำคัญที่สุดคือการที่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส ซึ่งในยุคนั้นต้องถือว่าเป็นกษัตริย์ที่ทรงอิทธิพล และทรงมีพระราชอำนาจอย่างมาก ได้ส่งคณะทูตเพื่อมาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในช่วงนั้นถือว่าเป็นเมืองท่าที่สำคัญที่สุดในการค้าขายระหว่างยุโรปและเอเชีย
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศสเริ่มต้นจากพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ได้สนับสนุนให้ส่งคณะผู้สอนศาสนาเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา เริ่มต้นจากสังฆราชเฮลิโอโปลิสและคณะฯได้นำพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ขึ้นถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อแสดงถึงพระราชไมตรีที่มีต่อกัน และยังมีการขอให้พระมหากษัตริย์ไทยเปลี่ยนความเชื่อทางศาสนามานับถือศาสนาคริสเตียนด้วย ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชไม่ได้ทรงตอบรับ แต่ได้ตอบกลับไปโดยไม่ให้เสียพระราชไมตรี และก็ได้ส่งราชทูตไปกับเรือรบของฝรั่งเศส โดยครั้งแรกเรือที่โดยสารไปนั้นอัปปางกลางมหาสมุทร ส่วนครั้งที่ ๒ ที่ส่งไปก็เป็นคณะทูตที่เป็นระดับขุนนางชั้นออกขุนเท่านั้น แต่ก็ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ ที่ ๑๔
การเจริญพระราชไมตรีครั้งสำคัญของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ คือการส่งราชทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาเมื่อปีพุทธศักราช ๒๒๒๘ นำโดยราชทูต เชอวาลิเอ เดอ โชมงต์ และคณะบาทหลวง โดยได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๒๒๘ ซึ่งเรื่องราวการเข้าเฝ้าดังกล่าวถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์อย่างชัดเจน และยังมีภาพวาดของการเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นที่พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท แม้ว่าภาพดังกล่าว อาจจะยังไม่แสดงให้เห็น ถึงความเคารพนบนอบของราชทูตฝรั่งเศสต่อพระมหากษัตริย์ไทย แต่ก็อาจจะเนื่องมาจากความไม่คุ้นเคยของชาวต่างชาติในการเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ของไทยก็เป็นได้ ถึงแม้ว่าเจ้าพระยาวิไชเยนทร์หรือนายคอนสแตนติน ฟอลคอน ชาวกรีกที่เข้ามารับราชการอยู่ในกรุงศรีอยุธยา และได้รับความไว้วางใจจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นอย่างมาก จะเป็นผู้ประสานการเข้าเฝ้าของราชทูตฝรั่งเศสก็ตาม เนื่องจากราชทูตฝรั่งเศสได้เข้าเฝ้าโดยการยืน และวางพระราชสาส์นอยู่บนพานซึ่งมีก้านถือโดยจับอยู่ที่โคนก้านเกือบชิดกับตัวพาน และไม่ได้ยกขึ้นเหนือศีรษะเพื่อทูลเกล้าฯถวาย อันเป็นสิ่งที่มิพึงกระทำ แต่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ทรงน้อมพระองค์ลงมาเล็กน้อย เพื่อรับพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ซึ่งหลังจากรับแล้วก็ได้ทรงยกขึ้นเหนือเศียร ซึ่งถือว่าเป็นการให้เกียรติแก่กษัตริย์ของฝรั่งเศสด้วย
ในปีเดียวกันนั้น สมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ได้ทรงแต่งตั้งราชทูตจากกรุงศรีอยุธยา เพื่อเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔และตอบแทนในไมตรีจิตที่มีต่อกัน โดยได้ให้ออกพระวิสุทธสุนทร ซึ่งต่อมาคือเจ้าพระยาโกษาปานปฏิบัติหน้าที่เป็นราชทูตตามรับสั่ง โดยเดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๒๒๘ ด้วยเรือรบของฝรั่งเศส ใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 8 เดือนไปถึงประเทศฝรั่งเศสที่เมืองท่าแบรสต์ และเดินทางต่อเข้าไปยังกรุงปารีสโดยขบวนรถม้าถึงกรุงปารีสในวันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๒๒๙ และเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ในวันที่ ๑ กันยายน เพื่อถวายพระราชสาส์น ณ พระราชวังแวร์ซาย
ในการเข้าเฝ้าเพื่อถวายพระราชสาส์นครั้งนี้ ประเทศฝรั่งเศสได้จัดให้ท่านดุ๊ค เดอ ลา เฟยยาร์ดผู้บัญชาการกองกำลังทหาร เป็นผู้นำคณะราชทูตขึ้นรถม้าที่นั่งเดินทางออกจากที่พัก ไปถึงพระราชวังแวร์ซายประมาณ ๑๐.๐๐ น. มีทหารฝรั่งเศสตั้งแถวรับตั้งแต่หน้าพระราชวัง เป็นแถวทหารติดอาวุธ พร้อมกองทหารดุริยางค์ อย่างสมเกียรติเป็นอย่างยิ่ง และการเข้าเฝ้าเพื่อถวายพระราชสาส์น ของเจ้าพระยาโกษาปานในครั้งนี้ เป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ และประทับใจชาวฝรั่งเศสเป็นอย่างยิ่ง เห็นได้จากเนื้อความพระราชสาส์นตอบของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๕ ที่ทรงมีถึงสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ความว่า
“...เรามาสังเกตดูลักษณะมารยาทแห่งราชทูตของพระองค์นี้ รู้สึกว่าเป็นคนรอบคอบ รู้จักปฏิบัติราชกิจของพระองค์ถ้วนถี่ดีมาก หากเราจะมิฉวยโอกาสนี้เพื่อเผยแพร่ความชอบแห่งราชทูตของพระองค์บ้าง ก็จะเป็นอยุติธรรมไป เพราะราชทูตได้ปฏิบัติล้วนแต่ที่ถูกใจเราทุกอย่าง โดยแต่น้ำคำที่พูดออกมาทีไรแต่ละคำๆ ก็น่าดูปลื้มใจและน่าเชื่อทุกคำ...”
ซึ่งเนื้อความในพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ นี้ น่าจะถือเป็นสิ่งที่ผู้เข้ามาบริหารบ้านเมือง ไม่ว่าจะในระดับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรืออาจจะเป็น ประธานสภา รองประธานสภา ที่จะต้องไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ โดยได้รับคำเชิญหรือแสดงความจำนงที่จะไปเอง ก็จะต้องมีการขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชาในระดับสูงที่มีอำนาจอนุมัติ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินที่ความจริงมาจากภาษีของประชาชน จึงควรจะนำข้อคิดจากประวัติศาสตร์ไปปฏิบัติและดำเนินการให้เหมาะสมที่สุด ให้สมกับตำแหน่งหน้าที่และเกียรติยศอันพึงมี โดยถือประโยชน์ของประเทศเป็นเรื่องสำคัญ ตัดสิ่งที่เป็นประโยชน์แห่งตนออกให้หมด และเมื่อเดินทางกลับมาแล้วก็ควรจะต้องรายงานผลของการปฏิบัติหน้าที่และประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับให้กับประชาชนชาวไทยทั้งหลาย ที่ขณะนี้อยู่ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้รับทราบอย่างถ้วนหน้า ตลอดไป
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี